ดัชนีภาวะเศรษฐกิจฯดิ่งต่ำสุด โควิดจาง แต่เงินเฟ้อเพิ่ม ราคาสินค้าพุ่ง

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจฯดิ่งต่ำสุด โควิดจาง แต่เงินเฟ้อเพิ่ม ราคาสินค้าพุ่ง

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจฯดิ่งต่ำสุด

โควิดจาง แต่เงินเฟ้อเพิ่ม ราคาสินค้าพุ่ง

                                                                 ……………………………………………………..

                ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในเดือนมิ.ย.65 ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยดัชนี KR-ECI ปัจจุบันและ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 30.8 และ 32.9 จาก 31.2 และ 34.0 ในเดือนพ.ค.65 แม้ว่าครัวเรือนจะมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อภาวะรายได้และการจ้างงาน หลังภาครัฐมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 เพิ่มเติม ทั้งในส่วนของการเริ่มเปิดสถานบันเทิงในจังหวัดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวและพื้นที่เฝ้าระวัง รวมถึงลดเงื่อนไข Thailand Pass เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับระดับราคาสินค้าที่สูงขึ้นสะท้อนจากระดับเงินเฟ้อในเดือนมิ.ย.65 ที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 14 ปี ยังคงกดดันดัชนีให้ลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

                ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นเรื่องระดับรายได้และการจ้างงานพบว่ามีครัวเรือนกว่า 41% ที่รายได้และการจ้างงานเริ่มกลับมาสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว ขณะที่อีกกว่า 35% มีรายได้ลดลงจากเดิมเนื่องจากยังมีชั่วโมงการทำงานที่ลดลง นอกจากนี้ได้มีการสอบถามเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายว่าท่ามกลางระดับราคาสินค้าและพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายในหมวดใดที่ปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด ซึ่งผลสำรวจระบุว่าครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายในหมวด พลังงาน สาธารณูปโภค และบริการพื้นฐานในชีวิตประจำวันปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด (73%) บ่งชี้ว่าในภาพรวมกำลังซื้อของภาคครัวเรือนยังไม่สามารถกลับมาได้เต็มที่ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายจำเป็นมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น

                ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าภาวะการครองชีพของครัวเรือนยังมีแนวโน้มเปราะบาง แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานจะเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น หลังมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดในหลายด้าน แต่ระดับราคาสินค้าจำเป็นและบริการพื้นฐานที่ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น เช่น ราคาแก๊สหุงต้มที่ทยอยปรับขึ้นราคาหรือการปรับขึ้นค่าโดยสารรถสาธารณะต่าง ๆ จะยังส่งผลให้ครัวเรือนมีความกังวลต่อค่าครองชีพและกดดันกำลังซื้อต่อเนื่อง 

                                                                 ……………………………………………………

             แม้มุมมองเกี่ยวกับการจ้างงานปรับดีขึ้น แต่ระดับราคาสินค้าที่ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นกดดันดัชนีให้ปรับลดลงต่อเนื่องและลดลงสู่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์

                ในเดือนมิ.ย. 65 ความเชื่อมั่นของครัวเรือนในส่วนของมุมมองเกี่ยวกับรายได้และการจ้างงานให้ปรับดีขึ้นโดยในเดือนมิ.ย. 65 อยู่ที่ 43.0 จาก 42.4 ในเดือนพ.ค. 65 โดยประเทศไทยยังคงอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน COVID-19 สู่โรคประจำถิ่น ซึ่งภาครัฐได้มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในหลายส่วนตั้งแต่ 1 มิ.ย. 65 ที่ผ่านมาได้มีการอนุญาตให้เปิดสถานบันเทิงในจังหวัดพื้นที่นำร่องและพื้นที่เฝ้าระวัง รวมถึงลดเงื่อนไข Thailand Pass เช่น ในส่วนของผลตรวจ การปรับเปลี่ยนระบบการลงทะเบียนให้ง่ายขึ้น (ใช้เฉพาะข้อมูลที่จำเป็น) เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยได้ง่ายขึ้น ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวมีทิศทางปรับดีขึ้นต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนพ.ค.65 อยู่ที่ 5 แสนกว่าคน ปรับเพิ่มขึ้นจาก 2 แสนกว่าคนในเดือนเม.ย. 65 ปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าวส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติมากขึ้นสะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคบริการ (Service Production Index) ในเดือนพ.ค.65 ที่ปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในส่วนของที่พักแรมและการบริการด้านอาหาร  ซึ่งส่งผลดีต่อเนื่องถึงการจ้างงานโดยตลาดแรงงานมีแนวโน้มปรับดีขึ้นจำนวนผู้ประกันตนภาคบังคับ (มาตรา 33) ปรับเพิ่มขึ้นจาก 11,133,526 คน ในช่วงต้นปี (ม.ค.65) มาอยู่ที่ 11,250,428 เดือนพ.ค. 65 อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธุรกิจการขายส่งและขายปลีกเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากความกังวลในเรื่องของราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งสอดคล้องไปกับอัตราเงินเฟ้อในเดือนมิ.ย.65 ที่ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ 7.66% สูงขึ้นจากเดือนพ.ค.65 ที่ 7.10% ส่งผลให้ครัวเรือนยังมีความกังวลอย่างมากต่อสถานการณ์ราคาสินค้าที่สูงขึ้นโดยเฉพาะสินค้าเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงราคาพลังงานสาธารณูปโภค และบริการพื้นฐานในชีวิตประจำวัน จึงกดดันให้ในภาพรวมดัชนี KR-ECI ปัจจุบันและสามเดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 30.8 และ 32.9 ในเดือนมิ.ย. 65

                ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับมุมมองเรื่องระดับรายได้และการจ้างงานของครัวเรือน พบว่า ครัวเรือน 41.7% กลับมามีรายได้และการจ้างงานในระดับก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว ขณะที่อีก 35.3% รายได้ปรับลดลง เนื่องจากชั่วโมงการทำงานลดลง ในขณะที่ ด้านค่าใช้จ่ายได้มีการสอบถามถึง ค่าใช้จ่ายในหมวดใดของครัวเรือนที่ปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงที่ราคาสินค้าต่าง ๆ ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 73 ของครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายในหมวดราคาพลังงาน สาธารณูปโภค และบริการพื้นฐานในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซ ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปาเพิ่มขึ้นมากที่สุด  ขณะที่อีกร้อยละ 25 มีค่าใช้จ่ายในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยภาพรวม ผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า รายได้ของครัวเรือนยังไม่สามารถกลับมาได้เต็มที่ ขณะที่ค่าใช้จ่ายจำเป็นต่าง ๆ กลับเพิ่มขึ้นในระดับที่สูง ความไม่สอดคล้องกันระหว่างรายได้ที่เท่าเดิม/ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจะยังส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคของภาคครัวเรือนในระยะต่อไป

                ในระยะข้างหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจมีทิศทางกลับมาเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มการปรับเปลี่ยนโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น รวมถึงการผ่อนปรนเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น การขยายเวลาการเปิดสถานบันเทิง การยกเลิก Thailand Pass และไม่ต้องมีประกันสุขภาพสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งจะทำให้มีโอกาสที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้ามาในไทยเยอะขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับเพิ่มคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2565 อยู่ที่ 7.2 ล้านคน จาก 4 ล้านคนในช่วงต้นปี ปัจจัยดังกล่าวจะช่วยหนุนภาคการจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนให้กลับมาเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามความเสี่ยงจากการระบาดของของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ (โอมิครอน BA.4/BA.5)  ที่ปัจจุบันข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุว่ากลายเป็นสายพันธุ์หลักในไทย (51.7%) แล้ว นอกจากนี้ราคาสินค้าต่าง ๆ ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง เช่น แก๊สหุงต้มครัวเรือนที่จะยังปรับขึ้นเป็นขั้นบันได หรือ ราคารถโดยสารต่าง ๆ ที่คณะกรรมการขนส่งมีอนุมัติให้ปรับเพิ่มขึ้น  จะยังคงเป็นปัจจัยกดดันภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพครัวเรือนในระยะข้างหน้า มาตรการช่วยเหลือ/บรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาครัฐมีความจำเป็นที่จะเข้ามาประคับประคองภาคครัวเรือนในช่วงที่ภาวะรายได้ยังไม่สามารถกลับมาได้เต็มที่ โดยอาจเป็นมาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มครัวเรือน หรือกลุ่มสินค้าที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน

                โดยสรุปแล้ว ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในระดับปัจจุบัน (มิ.ย.65) ขยับลงต่อเนื่องอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 30.8 และ 32.9 แม้การจ้างงานและรายได้มีทิศทางที่ดีขึ้น แต่สถานการณ์ราคาสินค้าที่สูงขึ้นยังคงกดดันให้ดัชนีปรับลดลงต่อเนื่อง 

 

 

 

You may also like

มาสเตอร์การ์ดเปิดตัว Pay Local เพิ่มช่องทางผู้ให้บริการกระเป๋าเงินดิจิทัลในเอเชีย รับชำระเงินจากผู้ถือบัตรมาสเตอร์การ์ดกว่า 2 พันล้านราย

มาสเตอร์