ดัชนี KR-ECI มิย.66 ยังคงทรงตัว ครัวเรือนไทยลดกังวลราคาสินค้า-ค่าใช้จ่าย แต่ยังห่วงรายได้และการออม

ดัชนี KR-ECI มิย.66 ยังคงทรงตัว ครัวเรือนไทยลดกังวลราคาสินค้า-ค่าใช้จ่าย แต่ยังห่วงรายได้และการออม

ดัชนี KR-ECI มิย.66 ยังคงทรงตัว

ครัวเรือนไทยลดกังวลราคาสินค้า-ค่าใช้จ่าย

แต่ยังห่วงรายได้และการออม

………………………………………………….

    ในเดือนมิ.ย.66 ดัชนี KR-ECI และดัชนีฯ 3 เดือนข้างหน้ายังคงทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 35.0 และ 38.6 โดยการชะลอตัวของราคาสินค้าโดยเฉพาะหมวดหมู่พลังงานได้บรรเทาความกังวลของครัวเรือนไทยเกี่ยวกับราคาสินค้าและค่าใช้จ่ายให้ลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ในขณะเดียวกันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีลักษณะไม่ทั่วถึง ประกอบกับสภาพอากาศที่แปรปรวนก็ได้ส่งผลให้ครัวเรือนมีความกังวลที่เพิ่มขึ้นในด้านรายได้และเงินออม

     ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้มีการสอบถามครัวเรือนเพิ่มเติมถึงระดับความกังวลของครัวเรือนในขณะนี้ที่มีต่อปรากฎการณ์เอลนีโญที่คาดว่าจะยกระดับรุนแรงขึ้นในปีนี้และต่อเนื่องไปจนถึงปี 2567 ซึ่งพบว่าครัวเรือนส่วนมาก (47.6%) มีระดับความกังวลมากว่าจะมีผลกระทบต่อตนเอง โดยประเด็นที่ครัวเรือนมีความกังวลมากที่สุดคือค่าไฟที่อาจสูงขึ้นตามปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น (26.5%)

     สำหรับในช่วงครึ่งปีหลังดัชนี KR-ECI มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวดังกล่าวอาจเป็นไปได้อย่างเปราะบางท่ามกลางปัจจัยท้าทายต่าง ๆ ที่เข้ามากดดัน เช่น การส่งผ่านราคาของผู้ผลิต ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ยังอยู่ในระดับสูง การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สภาพอากาศที่แปรปรวน เป็นต้น ขณะที่การจัดตั้งรัฐบาลยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง

………………………………………………………

ดัชนี KR-ECI เดือนมิ.ย.66 ยังทรงตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยสภาพอากาศที่แปรปรวนจากปรากฎการณ์เอลนีโญสร้างความกังวลให้ครัวเรือนไทย

ในเดือนมิ.ย.66 ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) และดัชนีฯ 3 เดือนข้างหน้ามีระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนที่ 35.0 และ 38.6 จาก 34.8 และ 38.6 ในเดือนพ.ค.66 โดยครัวเรือนไทยมีระดับความกังวลลดลงอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับราคาสินค้าและค่าใช้จ่าย สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อไทยในเดือนเดียวกันยังคงชะลอลงที่ 0.23%YoY เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 22 เดือน เนื่องจากราคาพลังงานที่อ่อนตัวตามราคาในตลาดโลกเป็นสำคัญ โดยค่าเชื้อเพลิงส่วนใหญ่ยังคงถูกตรึงราคาอยู่ ได้แก่ ราคาก๊าซหุงต้มอยู่ที่ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 32 บาทต่อลิตร รวมถึงค่าไฟฟ้า (งวดเดือนพ.ค.-ส.ค.66) อยู่ที่ 4.7 บาทต่อหน่วย ในขณะเดียวกันครัวเรือนไทยก็มีระดับความกังวลเกี่ยวกับรายได้และการออมมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งระบุว่ามีรายได้จากการขายสินค้าลดลงหรือมีผลประกอบการที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัวโดยมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับมาอย่างแข็งแกร่ง โดยเดือนมิ.ย.66 มีจำนวนสะสมที่ 12.4 ล้านคน ซึ่งได้ช่วยหนุนรายได้และการจ้างงานในประเทศ อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีลักษณะไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวเนื่องกับภาคการส่งออกยังถูกกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความไม่แน่นอนที่มีมากขึ้น นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว แต่ขณะเดียวกันก็เผชิญกับปรากฎการณ์เอลนีโญ (สภาพอากาศที่ร้อนและแล้งกว่าปกติ) จึงส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปี 2566 ปริมาณน้ำฝนทั่วประเทศอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าปกติ 25% ตามข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา อีกทั้ง ในระยะข้างหน้าก็มีแนวโน้มว่าเอลนีโญจะยกระดับความรุนแรงขึ้นและส่งผลต่อเนื่องไปจนถึงปี 2567 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยจากปริมาณน้ำที่อาจถูกจำกัดการใช้มากขึ้นในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะภาคการเกษตรในกลุ่มพืชที่ต้องใช้น้ำในปริมาณมากอย่างข้าว

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สอบถามครัวเรือนเพิ่มเติมถึงระดับความกังวลที่มีต่อปรากฎการณ์เอลนีโญในขณะนี้ โดยพบว่าครัวเรือนส่วนมาก (47.6%) มีความกังวลมาก และครัวเรือนอีกส่วนหนึ่ง (35.9%) ยังไม่ค่อยมีความกังวล แต่ก็ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ครัวเรือนส่วนน้อย (16.5%) ระบุว่า ยังไม่มีความกังวลโดยมองว่าสถานการณ์ดังกล่าวอาจไม่รุนแรงมากนัก นอกจากนี้ เมื่อสอบถามถึงประเด็นความกังวลของครัวเรือนต่อปรากฎการณ์เอลนีโญเพิ่มเติมก็พบว่า 26.5% ครัวเรือนมีความกังวลว่าค่าไฟจะเพิ่มขึ้นตามปริมาณการใช้ไฟฟ้า รองลงมา 20.6% กังวลว่าผลผลิตทางการเกษตรอาจได้รับความเสียหาย และ 17.8% กังวลว่าอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย นอกจากนี้ ครัวเรือนมีความกังวลในประเด็นอื่น ๆ ได้แก่ ผลกระทบต่อรายได้ให้ลดลง (12.1%) ราคาสินค้าเกษตรอาจแพงขึ้น (9.7%) ความไม่แน่นอนของการเมืองอาจมีผลต่อประสิทธิภาพในการรับมือของทางการ 7.3% และกังวลต่อภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย 6.0% ซึ่งประเด็นความกังวลต่อสภาพอากาศที่แปรปรวนดังกล่าวของครัวเรือนอาจเป็นปัจจัยเชิงลบต่อภาวะการครองชีพของครัวเรือนในระยะข้างหน้า

สำหรับดัชนี KR-ECI ในช่วงครึ่งปีหลัง มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและภาคการท่องเที่ยวซึ่งจะยังคงหนุนรายได้และการจ้างงานในประเทศ โดยจะเป็นปัจจัยหนุนดัชนีฯ ที่สำคัญ อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของดัชนีฯ อาจเป็นไปอย่างเปราะบางท่ามกลางปัจจัยท้าทายต่างๆ ที่เข้ามากดดัน เช่น การส่งผ่านราคาของผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ยังอยู่ในระดับสูง สภาพอากาศที่อาจไม่เอื้ออำนวย การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความไม่แน่นอนที่มีมากขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ แม้หลังจากประเทศไทยมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพ.ค.66 ดูเหมือนว่าจะมีความคืบหน้าของการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งอาจช่วยบรรเทาความกังวลเกี่ยวกับภาระการครองชีพของครัวเรือนได้บ้าง แต่ความไม่แน่นอนยังมีอยู่ค่อนข้างสูง โดยภาวะสุญญากาศทางการเมืองในขณะนี้ก็อาจเป็นข้อจำกัดในการกำหนดนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ดังนั้น การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่จึงเป็นประเด็นที่ยังต้องมีการติดตาม

โดยสรุปแล้ว ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ปัจจุบัน (เดือนมิ.ย.66) และดัชนี 3 เดือนข้างหน้าทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 35.0 และ 38.6 จาก 34.8 และ 38.6 ในเดือนพ.ค.66 โดยครัวเรือนกังวลลดลงเกี่ยวกับราคาและค่าใช้จ่าย สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อในเดือนมิ.ย.66 ที่ยังชะลอตัว อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งปีหลังดัชนีฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวได้แต่มีความเปราะบางท่ามกลางปัจจัยท้าทายต่างๆ อาทิ การส่งผ่านราคาของผู้ผลิต สภาพอากาศที่แปรปรวน รวมถึงการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม

You may also like

มาสเตอร์การ์ดเปิดตัว Pay Local เพิ่มช่องทางผู้ให้บริการกระเป๋าเงินดิจิทัลในเอเชีย รับชำระเงินจากผู้ถือบัตรมาสเตอร์การ์ดกว่า 2 พันล้านราย

มาสเตอร์