ตลาดอีคอมเมิร์ชไทยแผ่วเหลือ 3.78 ล้านล้าน
คาดปีนี้ทะลุ 4 ล้านล้าน หลังฟื้นโควิด
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic Transactions Development Agency (ETDA) (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เผยผลสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ปี 2564 หรือ Value of e-Commerce Survey in Thailand 2021 พบว่า ในปี 2563 ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรืออีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีมูลค่าเท่ากับ 3.78 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนของมูลค่าอีคอมเมิร์ซในรูปแบบ B2C มากที่สุด คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.17 ล้านล้านบาท B2B มีมูลค่ากว่า 0.84 ล้านล้านบาท และ B2G มีมูลค่า 0.77 ล้านล้านบาท โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยในปี 2564 เติบโตอยู่ที่ 4.01 ล้านล้านบาท
ในปี 2564 นี้ นับเป็นปีที่ 7 ที่ ETDA ยังคงเดินหน้าสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซเพื่อให้ประเทศไทยมีข้อมูลที่สะท้อนสถานภาพ และทิศทางในการส่งเสริมการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซของประเทศ ซึ่งข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐและผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่ที่สามารถนำข้อมูลสำคัญนี้ไปใช้วางแผนธุรกิจ กำหนดกลยุทธ์ทางการตลาด รวมถึงจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญของประเทศ อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้ทัดเทียมระดับสากล
ETDA เผยผลการสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ปี 2563 เท่ากับ 3.78 ล้านล้านบาท ซึ่งลดลงจาก ปี 2562 ที่มีมูลค่า 4.05 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6.68 เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้มีมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศและภายในประเทศ รวมถึงมาตรการ Work from Home ซึ่งสร้างผลกระทบทางลบต่ออุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก อุตสาหกรรมการขนส่ง และอุตสาหกรรมการผลิตเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่งยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไทยที่นิยมซื้อสินค้าและบริการออนไลน์เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ มูลค่าอีคอมเมิร์ซในปี 2564 คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องภายหลังจากการฟื้นตัวจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เป็น 4.01 ล้านล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 6.11 จากปี 256 โดยคาดการณ์อัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมปี 2560 ถึง 2564 อยู่ที่ร้อยละ 9.79
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า จากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มาตรการในการดูแลประชาชนของรัฐบาล ด้วยรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้การบริโภคของคนไทยเปลี่ยนไปด้วย ซึ่งต้องขอบคุณ ETDA ด้วยที่มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศมั่นคงปลอดภัย น่าเชื่อถือ และเกิดการใช้ธุรกรรมต่าง ๆ ทางออนไลน์ได้อย่างทั่วถึงด้วยระบบนิเวศที่เอื้อต่อการใช้งาน ทั้งด้านกฎหมาย มาตรฐาน แนวปฏิบัติ การตรวจประเมินรับรองระบบต่าง ๆ และการสร้างสนามทดสอบนวัตกรรม ETDA Sandbox สำหรับบริการดิจิทัล ก่อนเปิดให้บริการจริง
นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA เปิดเผยว่า “สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการดำเนินชีวิตในรูปแบบใหม่หรือ New Normal ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ทำให้ผู้คนในสังคมใช้ชีวิตเปลี่ยนไป มีการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างมาก และจำนวนผู้ประกอบการในช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด มีการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้นมากมาย เช่น การดูคอนเทนต์ออนไลน์ การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting) จึงส่งผลกระทบในเชิงบวกกับมูลค่าอีคอมเมิร์ซในบางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง อุตสาหกรรมข้อมูลและข่าวสาร ในขณะเดียวกันด้วยมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศและภายในประเทศกลับส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวอันเป็นธุรกิจที่สร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของประเทศ
ซึ่งธุรกิจนี้อยู่ภายใต้อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก ส่งผลให้อัตราการเติบโตของมูลค่าอีคอมเมิร์ซในภาพรวม ปี 2563 ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า การประกอบธุรกิจอีคอมเมิร์ซไม่ใช่ทางเลือกแต่ถือเป็นทางรอดสำหรับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน โดยเราเชื่อมั่นว่าผลการสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ อย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยรวมของไทยเป็นอย่างมาก”
ETDA ได้ดำเนินการสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซจากกลุ่มตัวอย่างของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 900,626 ราย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) และสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย โดยเป็นการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ จัดแบ่งผู้ประกอบการออกเป็น 2 กลุ่ม และใช้เกณฑ์ผลประกอบการ ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการที่มีผลประกอบการมูลค่าอีคอมเมิร์ซน้อยกว่า 50 ล้านบาทต่อปี (SMEs) ใช้การสำรวจผ่านแบบสอบถามออนไลน์ และกลุ่มผู้ประกอบการที่มีผลประกอบการมูลค่าอีคอมเมิร์ซมากกว่าหรือเท่ากับ 50 ล้านบาทต่อปี (Enterprises) ใช้การสัมภาษณ์ ผลสำรวจครอบคลุมธุรกิจอีคอมเมิร์ซทั้งหมด 8 อุตสาหกรรมในประเทศไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง อุตสาหกรรมการขนส่ง อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก อุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร อุตสาหกรรมการประกันภัย อุตสาหกรรมศิลปะ ความบันเทิงและ นันทนาการ และอุตสาหกรรมการบริการด้านอื่น ๆ โดยเริ่มจัดเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนเมษายน–มิถุนายน 2564
ทั้งนี้ ในปี 2562 ไทยยังคงครองแชมป์มูลค่า B2C สูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียนติดต่อกัน 6 ปีซ้อน โดยมีมูลค่า 55.92 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาเป็นมาเลเซีย 46.19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อินโดนีเซีย 17.52 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เวียดนาม 10.08 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ 2.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสิงคโปร์ 2.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
มูลค่าอีคอมเมิร์ซแบบ B2C ปี 2563 ยังคงมีมูลค่าสูงที่สุดติดต่อกันเป็นปีที่ 2 โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 2.17 ล้านล้านบาท (57.39%) ในขณะที่ B2B มีมูลค่าการขายออนไลน์เท่ากับ 0.84 ล้านล้านบาท (22.14%) และ B2G มีมูลค่า 0.77 ล้านล้านบาท (20.47%) สาเหตุที่ยอดขายออนไลน์ของผู้ประกอบการกลุ่ม B2B ลดลงเป็นอย่างมากในปีนี้ เกิดจากการที่ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีการปรับตัวโดยขายสินค้าและบริการกับผู้บริโภคโดยตรง (Direct to Customer)
ทั้งนี้ มูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ปี 2563 รายอุตสาหกรรม 3 อันดับแรก ได้แก่
อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง มีมูลค่า 1,434,663.54 ล้านบาท (47.70%)
อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก มีมูลค่า 463,784.88 ล้านบาท (15.42%)
อุตสาหกรรมการผลิต มีมูลค่า 460,220.36 ล้านบาท (15.30%)
คาดการณ์มูลค่าอีคอมเมิร์ซแบบ B2C ปี 2564 ยังคงมีมูลค่าสูงที่สุดติดต่อกันเป็นปีที่ 3 โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 2.03 ล้านล้านบาท (50.59%) ในขณะที่ B2B มีมูลค่าการขายออนไลน์เท่ากับ 1.09 ล้านล้านบาท (27.24%) และ B2G มีมูลค่า 0.89 ล้านล้านบาท (22.17%)
ทั้งนี้ คาดการณ์มูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ปี 2564 รายอุตสาหกรรม 3 อันดับแรก ได้แก่
อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง มีมูลค่า 1,628,488.05 ล้านบาท (52.14%)
อุตสาหกรรมข้อมูล ข่าวสาร และการสื่อสาร มีมูลค่า 477,293.12 ล้านบาท (15.28%)
อุตสาหกรรมการผลิต มีมูลค่า 476,328.08 ล้านบาท (15.25%)
นอกจากนี้ จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เกิดแนวโน้มที่สำคัญอันสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของตลาด อีคอมเมิร์ซอย่างมีนัยสำคัญใน 5 ประเด็น ได้แก่ (1) พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ชีวิตติดกับดิจิทัลมากขึ้น ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซโตตามไปด้วย (2) การเติบโตของแพลตฟอร์ม Ride-Hailing โดยเฉพาะการส่งอาหารและการสินค้าอุปโภคบริโภค (3) การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซเพิ่มมากขึ้น (4) กลยุทธ์การส่งเสริมการขายสินค้าและบริการของแพลตฟอร์ม e-Marketplace ทั้งแคมเปญโปรโมชัน ส่วนลด จัดส่งฟรี รวมทั้งการใช้ข้อมูลลูกค้าบนแพลตฟอร์มให้เป็นประโยชน์ (5) การขยายบริการใหม่ ๆ ของธุรกิจขนส่งสินค้า (Logistics) แบบครบวงจร รวมถึงบริการเกี่ยวกับคลังสินค้าและการจัดส่ง (Fulfilment)
Social Links