ธปท.สรุปการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจ ตามมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ

ธปท.สรุปการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจ ตามมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ

ธปท.สรุปการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจ

ตามมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ

   นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท. ได้ออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู (รวมสินเชื่อเพื่อการปรับตัว) และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เป็นระยะเวลา 2 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 และได้ขยายระยะเวลาเฉพาะส่วนของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู (โดยเพิ่มส่วนของสินเชื่อเพื่อการปรับตัวเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ในการปรับปรุง พัฒนา และเสริมศักยภาพธุรกิจ) ออกไปอีก 1 ปี ซึ่งครบกำหนดแล้วในวันที่ 9 เมษายน 2567

ภายใต้มาตรการดังกล่าว ธปท. ได้อนุมัติวงเงินสินเชื่อสำหรับโครงการสินเชื่อฟื้นฟู (รวมสินเชื่อเพื่อการปรับตัว) และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ให้กับลูกหนี้รวมทั้งสิ้น 67,725 ราย เป็นวงเงินสินเชื่อ 347,739 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.4 ของวงเงินรวมที่ตั้งไว้ที่ 350,000 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดการอนุมัติสินเชื่อแต่ละประเภท ดังนี้

  1. สินเชื่อฟื้นฟู (รวมสินเชื่อเพื่อการปรับตัว) ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจจำนวน 67,225 ราย รวมทั้งสิ้น 273,625 ล้านบาท โดยมีวงเงินอนุมัติเฉลี่ยต่อราย 4 ล้านบาท ซึ่งการให้สินเชื่อกระจายตัวดีทั้งในมิติของขนาด ประเภทธุรกิจ และภูมิภาค โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72 เป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลาง  และขนาดเล็กที่มีวงเงินสินเชื่อเดิมกับสถาบันการเงินต่ำกว่า 50 ล้านบาท และร้อยละ 69 อยู่ในภูมิภาคต่างๆ นอกกรุงเทพและปริมณฑล ในจำนวนนี้เป็นการให้สินเชื่อเพื่อการปรับตัว 11,162 ล้านบาท แก่ผู้ประกอบธุรกิจ 693 ราย วงเงินอนุมัติเฉลี่ยต่อราย 16 ล้านบาท โดยวงเงินส่วนใหญ่ร้อยละ 65 เป็นสินเชื่อเพื่อการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม (Green) เช่น การลงทุนระบบประหยัดพลังงาน รองลงมาร้อยละ 18 เป็นด้านนวัตกรรม (Innovation) และร้อยละ 17 เป็นด้านดิจิทัลเทคโนโลยี (Digital technology)
  2. สินเชื่อโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ 500 ราย วงเงินรวม 74,114 ล้านบาท จากวงเงินที่ตั้งไว้ 100,000 ล้านบาท โดยวงเงินส่วนที่เหลือได้โอนไปเป็นวงเงินเพิ่มให้สินเชื่อฟื้นฟูตามข้อ 1 ข้างต้น

ธปท. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟู สินเชื่อเพื่อการปรับตัว รวมถึงสินเชื่อโครงการพักทรัพย์พักหนี้ตามข้างต้น จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบและสามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่องในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ ภายใต้เศรษฐกิจปัจจุบันที่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง ธปท. จะยังมีมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะต่อไป

 

 

You may also like

คปภ.เดินหน้า! เปิดเวทีสัมมนาวิชาการด้านประกันภัย ประจำปี 2567 “Thailand Insurance Symposium 2024”

 นายชูฉั