ธพว.ชิงรุก!ช่วยเอสเอ็มอีประสบภัย ‘พายุโนรู’ พักหนี้เงินต้น 6 เดือน-“เติมทุนเพื่อฟื้นฟูกิจการ”งดจ่ายต้น 24 เดือน

ธพว.ชิงรุก!ช่วยเอสเอ็มอีประสบภัย ‘พายุโนรู’ พักหนี้เงินต้น 6 เดือน-“เติมทุนเพื่อฟื้นฟูกิจการ”งดจ่ายต้น 24 เดือน

ธพว.ชิงรุก!ช่วยเอสเอ็มอีประสบภัย ‘พายุโนรู’

พักหนี้เงินต้น 6 เดือน-“เติมทุนเพื่อฟื้นฟูกิจการ”งดจ่ายต้น 24 เดือน

            SME D Bank ออกมาตรการเร่งด่วน ช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจาก “พายุโนรู” มอบสิทธิ์พักชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 6 เดือน ควบคู่เติมทุนเพื่อฟื้นฟูกิจการ วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาท ผ่อนชำระนานสูงสุด 12 ปี พร้อมปลอดชำระคืนเงินต้น สูงสุด 24 เดือน ช่วยกลับมาเดินหน้าธุรกิจได้ปกติอีกครั้ง

                นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า จากอิทธิพลพายุโซนร้อน  “โนรู (NORU)” ทำให้มีฝนตกหนัก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัย กระทบต่อการประกอบอาชีพของประชาชนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น SME D Bank ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย เร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน คลายความกังวลใจ และสามารถกลับมาเดินหน้าธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว  โดยออก “มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ” ได้แก่

                 1.มาตรการพักชำระหนี้ สำหรับเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา ให้สิทธิ์พักชำระเงินต้น สูงสุด 6 เดือน  สัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน ต่ออายุโดยไม่ต้องชำระเงินต้น  โดยพิจารณาแนวทางช่วยเหลือตามผลกระทบของผู้ประกอบการแต่ละราย สามารถติดต่อขอรับบริการตั้งแต่บัดนี้ จนถึง 30 ธ.ค.65

                2.มาตรการเติมทุนเพื่อฟื้นฟูกิจการ ผ่านโครงการ “สินเชื่อ SMEs Re-Start” เปิดกว้างให้เอสเอ็มอีทุกประเภทธุรกิจ นำไปใช้ได้ทั้งเสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ หรือสำรองเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 5.5% ต่อปี หรือ MLR-1.25% ผ่อนชำระนานสูงสุด 12 ปี พร้อมปลอดชำระคืนเงินต้น (Grace Period) สูงสุด 24 เดือนแรก

                ทั้งนี้ เบื้องต้นธนาคารกำหนดพื้นที่ช่วยเหลือผ่านมาตรการพักชำระหนี้ฯ สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ใน 49 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ ลำปาง ลำพูน พะเยา น่าน สุโขทัย ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สมุทรปราการ สุพรรณบุรี อุทัยธานี สิงห์บุรี ปทุมธานี นนทบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี  ตราด ตรัง สุรินทร์ ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา ปราจีนบุรี กรุงเทพมหานคร มุกดาหาร กำแพงเพชร สระบุรี อุบลราชธานี ชัยนาท พิจิตร อุตรดิตถ์ และพังงา  ส่วนมาตรการเติมทุนฯ  ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

                “ทั้ง 2 มาตรการดังกล่าวเป็นการประเมินเบื้องต้นในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน  โดย SME D Bank จะติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด รวมถึงสำรวจความต้องการจากผู้ประกอบการ และหากมีความเสียหายเพิ่มขึ้น ธนาคารก็พร้อมที่จะออกมาตรการเพิ่มเติมต่อไป” นางสาวนารถนารี กล่าว

                นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 65 ที่ผ่านมา ผู้บริหารและพนักงาน SME D Bank ได้ลงพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ เพื่อให้กำลังใจลูกค้าธนาคารที่ประสบอุทกภัย รวมถึง มอบถุงยังชีพและสิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวัน  ให้แก่ประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมใน 3 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น อุบลราชธานี และชัยภูมิ   รวมถึง ยังจัดเตรียมโปรแกรมยกระดับธุรกิจ เพิ่มศักยภาพธุรกิจหลังภัยพิบัติผ่านไปแล้ว   ผ่านโครงการ “SME D Coach” ซึ่งเป็นบริการที่ปรึกษาธุรกิจครบวงจร โดยโค้ชมืออาชีพ ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถใช้บริการได้ฟรี

            ติดต่อขอรับบริการได้ที่สาขา SME D Bank ทั่วประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1357 

Flood 65

 

You may also like

มาสเตอร์การ์ดเปิดตัว Pay Local เพิ่มช่องทางผู้ให้บริการกระเป๋าเงินดิจิทัลในเอเชีย รับชำระเงินจากผู้ถือบัตรมาสเตอร์การ์ดกว่า 2 พันล้านราย

มาสเตอร์