ธุรกิจขายวัสดุก่อสร้าง SMEs ฝ่าเกมแข่งเดือด
กำลังซื้อจำกัดแถมรายใหญ่โหมหนัก
………………………………………………
การแข่งขันของธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในปี 2566 เข้มข้นขึ้น เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดที่ยังเติบโตได้จำกัด โดยเฉพาะกำลังซื้อของเศรษฐกิจฐานรากในภาคเกษตรกรรมซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญต่อเนื่องจนถึงปีหน้า ประกอบกับการขยายสาขาของผู้เล่น Modern Trade รายใหญ่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่รองรับการเติบโตของเมือง จะส่งผลให้ผู้ประกอบการ SMEs ต้องเผชิญการแข่งขันด้านราคาและมีศักยภาพในการปรับตัวน้อยกว่า อาจมีความสามารถในการทำกำไรลดลงและสูญเสียความสามารถการแข่งขันในระยะยาว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ยอดขายรวมของธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้างปี 2566 จะอยู่ที่ประมาณ 1.07 ล้านล้านบาท เติบโตที่ 1.8% (YoY) ชะลอลงจากปีก่อน จากราคาสินค้าหลักอย่างเหล็กมีแนวโน้มลดลง และความต้องการใช้ที่อาจไม่เติบโตมากนัก สอดคล้องกับมูลค่าการลงทุนก่อสร้างที่เติบโตต่ำ แต่ยังต้องติดตามทิศทางการจัดตั้งรัฐบาลและแนวนโยบายที่จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนโดยรวม ขณะที่ในระยะข้างหน้าธุรกิจยังมีความท้าทาย ทั้งการจัดการต้นทุนที่ยังยืนตัวสูง และการปรับตัวตามเทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี
………………………………………………………………………..
ธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ปี’ 66 คาดเติบโตได้จำกัด…มีการแข่งขันเข้มข้นเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาด ซึ่ง SMEs อาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน จากการขยายสาขาของกลุ่ม Modern Trade
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในปี 2566 อาจเติบโตได้จำกัด สอดคล้องไปกับทิศทางมูลค่าการลงทุนก่อสร้างโดยรวมที่เติบโตต่ำ ทั้งจากโครงการก่อสร้างภาครัฐบางส่วนที่อาจเลื่อนออกไป เนื่องจากต้องรอการพิจารณาของรัฐบาลชุดใหม่ และความล่าช้าของงบประมาณประจำปี 2567 ส่วนโครงการก่อสร้างภาคเอกชนอาจยังมีการก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ แต่โครงการที่พักอาศัยอาจยังให้ภาพที่ระมัดระวัง ท่ามกลางสภาพตลาดที่ยังมีความกังวลด้านกำลังซื้อและหนี้ครัวเรือน
ท่ามกลางปัจจัยความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและสถานการณ์กำลังซื้อที่ยังเปราะบางทำให้ตลาดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างน่าจะมีการแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้นเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาด เนื่องจากภาพรวมของธุรกิจมีจำนวนผู้ประกอบการมากราย ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) และกลุ่มผู้ประกอบการทั่วไป (Traditional Trade) ซึ่งธุรกิจมีการกระจายตัวตามพื้นที่เนื่องจากข้อจำกัดด้านการขนส่ง ไม่มีผู้เล่นรายใดรายหนึ่งครองส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ ส่งผลให้ตลาดมีการแข่งขันกันสูง โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคา เพราะสินค้าไม่มีความแตกต่าง/ใกล้เคียงกัน
ดังนั้นธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้างก็มีการปรับกลยุทธ์มาอย่างต่อเนื่องเพื่อเข้าถึงลูกค้าให้ได้มากขึ้น อาทิ การขยายสาขาในทำเลศักยภาพตามการขยายตัวของเมืองที่มีการก่อสร้างโครงการที่พักอาศัยและโครงการเชิงพาณิชย์ต่างๆ การจัดหาสินค้าและบริการเกี่ยวกับบ้านแบบครบวงจรในหลากหลายช่วงราคา การขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ หรือ Click and Collect สำหรับสินค้าบางประเภท เพื่อตอบโจทย์กำลังซื้อและพฤติกรรมของลูกค้าแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน
- ทั้งนี้ ผู้ประกอบการแต่ละรายอาจมีศักยภาพและความยืดหยุ่นในการปรับตัวได้แตกต่างกัน โดยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กรายย่อย (SMEs) ที่มีสายป่านสั้นกว่าผู้ประกอบการ Modern Trade และผู้ประกอบการทั่วไปรายใหญ่ ทำให้ SMEs อาจมีข้อจำกัดในการจัดหาสินค้า มีสต็อกสินค้าไม่มาก และมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการต้นทุนได้น้อยกว่า นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ยังเผชิญความท้าทายจากการพึ่งพิงฐานลูกค้ารายย่อยและการรุกตลาดจากผู้เล่นรายใหญ่ด้วย ดังนี้
1) กำลังซื้อของเศรษฐกิจฐานรากในภาคเกษตรกรรมที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยร้อนแล้งรุนแรงเนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงปีนี้ถึงต้นปีหน้า โดยเฉพาะพื้นที่ใต้เขื่อนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมหลักและมีปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างเก็บน้ำในเกณฑ์น้ำน้อยถึงน้ำน้อยวิกฤต ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรและรายได้ของเกษตรกรลดลง ทำให้ลูกค้าบางส่วนอาจเลื่อนแผนการใช้จ่ายก่อสร้างปรับปรุงที่อยู่อาศัย หรือโรงเรือนทางการเกษตรออกไปก่อน ดังนั้นร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะในพื้นที่นอกตัวเมืองในจังหวัดต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจรายย่อยอาจมียอดขายสินค้าลดลงได้
2) การรุกตลาดของผู้ประกอบการ Modern Trade รายใหญ่ที่มีแผนขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง รวมกันไม่ต่ำกว่า 30 สาขาในปีนี้ ซึ่งจะเน้นกระจายสาขาไปในภูมิภาคและพื้นที่นอกรอบเขตเมืองในจังหวัดต่างๆ เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและโครงการก่อสร้างในอนาคต เช่น พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจในแต่ละภาค ซึ่งจะมีทั้งการก่อสร้างของภาคธุรกิจและโครงการที่พักอาศัยสำหรับบุคลากร เป็นต้น
แม้ว่าการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (Same Store Sales Growth: SSSG) ในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ของผู้เล่น Modern Trade หลายรายหดตัวจากปีก่อน แต่รายได้รวมทั้งสาขาเดิมและสาขาใหม่ของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังเติบโตได้จากปีก่อน ซึ่งสะท้อนได้ว่า การขยายจำนวนสาขาใหม่จะเป็นผลหลักในการสร้างรายได้ของธุรกิจ ดังนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่า รายได้รวมทั้งปีของกลุ่ม Modern trade น่าจะยังเติบโตได้ แต่ชะลอลงจากปีก่อนตามแนวโน้มกำลังซื้อที่ยังเปราะบาง ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้น่าจะมีส่วนแบ่งตลาดตามยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า ผู้ประกอบการ SMEs อาจมีความสามารถในการทำกำไรลดลงและอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว ที่น่าจะได้รับผลกระทบจากการแข่งขันด้านราคาและฐานลูกค้าที่อาจเปลี่ยนไปซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการ Modern Trade ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการทั่วไปที่อาจยังประคองตัวให้ยอดขายยังเติบโตต่อได้ น่าจะเป็นกลุ่มตัวแทนจำหน่าย หรือ Authorized Dealer ของผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีทั้งการขายส่งและขายปลีกด้วย มีเงินทุนในการสต็อกสินค้า และมีการสั่งซื้อจากทั้งผู้รับเหมาและโครงการก่อสร้างในพื้นที่
เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ประกอบการทั้งค้าส่งและค้าปลีกวัสดุก่อสร้างที่ดำเนินกิจการอยู่ในแต่ละปี โดยเฉลี่ยในช่วงปี 2560 – 2655 ให้ภาพทรงตัวถึงหดตัว ดังนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมีมุมมองอย่างระมัดระวังว่า จำนวนผู้ประกอบการทั่วไปอาจไม่สามารถขยายตัวได้มากนักในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ ก็ยังต้องติดตามนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งอาจมีการพิจารณามาตรการช่วยลดภาระต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs เพิ่มเติม
ยอดขายธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ปี’ 66 เติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากปีก่อน…ท่ามกลางความท้าทายด้านต้นทุนของธุรกิจที่สูงขึ้น การปรับตัวตามเทรนด์สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีในระยะยาว
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ยอดขายรวมของธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง2 ในปี 2566 จะอยู่ที่ประมาณ 1.07 ล้านล้านบาท ขยายตัวที่ 1.8% (YoY) ชะลอลงจากปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างหลัก อย่างสินค้าเหล็กที่มีสัดส่วนกว่า 30% ในตะกร้าดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากปีก่อน แม้ว่าดัชนีราคาสินค้ารายการอื่นๆ อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ความต้องการใช้งานในภาพรวมอาจจะเติบโตได้ไม่มากนัก เนื่องจากสถานการณ์กำลังซื้อที่อาจยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง รวมถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่ทำให้การลงทุนก่อสร้างบางส่วนชะลอลงในปีนี้
มองไปข้างหน้า ธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้างยังมีโจทย์ท้าทายเฉพาะหน้าเรื่องต้นทุนสินค้าที่คาดว่าจะปรับฐานสูงขึ้นตามต้นทุนในการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อความยั่งยืน รวมไปถึงต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าขนส่งที่จะผันผวนตามราคาเชื้อเพลิง แนวโน้มค่าแรงขั้นต่ำที่อาจปรับสูงขึ้น ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของผู้ประกอบการ และยังมีประเด็นอัตราค่าไฟฟ้าภาคธุรกิจที่ยังยืนสูงด้วย
นอกจากนี้ ธุรกิจยังมีความท้าทายในระยะยาวซึ่งจะนำไปสู่ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้น ตามเทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อมและด้านเทคโนโลยี ได้แก่ การขยายไลน์สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามการปรับตัวของผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง ซึ่งอาจมีราคาสูงกว่าสินค้าดั้งเดิมในระยะแรก ทำให้ผู้ขายมีความท้าทายในการช่วยสร้างการรับรู้ของผู้ใช้งาน ส่วนการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในงานก่อสร้าง เช่น การพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) เพื่อสร้างชิ้นงานหรือส่วนประกอบอาคารพร้อมประกอบ อาจทำให้มีการปรับเปลี่ยนการใช้งานวัสดุก่อสร้างบางประเภท และธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้างบางส่วนต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคตได้
Social Links