ธุรกิจดังหลายแห่งเคยโดนลงโทษจากกฎหมาย FCPA
แต่วันนี้อเมริกายอมให้ติดสินบนในต่างประเทศได้แล้ว
สุทธิชัย ทักษนนต์
กฎหมาย Foreign Corrupt Practices Act หรือ FCPA ออกในปี 1977 ภายใต้การผลักดันของประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ เพื่อตอบสนองต่อกรณีอื้อฉาว เช่น บริษัท Lockheed จ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ในญี่ปุ่น, เนเธอร์แลนด์, อิตาลี และประเทศอื่นๆ
FCPA เป็นกฎหมายฉบับแรกของโลกที่ห้ามการติดสินบนเจ้าหน้าที่ต่างชาติ และมีอิทธิพลต่อการพัฒนากฎหมายต่อต้านการทุจริตในหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร, แคนาดา, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, อิตาลี, ออสเตรเลีย, สวิตเซอร์แลนด์, สิงคโปร์, ฯลฯ
FCPA ครอบคลุมบริษัทอเมริกัน, บริษัทที่มีหุ้นจดทะเบียนในสหรัฐฯ, การทำธุรกรรมผ่านระบบการเงินสหรัฐฯ, การใช้ตัวแทนในสหรัฐฯ รวมถึงบุคคลหรือบริษัทต่างชาติที่กระทำการทุจริตขณะอยู่ในสหรัฐฯ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าที่ส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯ
ตัวอย่างคดีดังที่เคยโดนลงโทษจาก FCPA เช่น
-Daimler AG (Mercedes-Benz) และบริษัทในเครือถูกสอบสวนช่วงปี 1998 – 2008 เรื่องการจ่ายสินบนมูลค่าประมาณ 56 ล้านดอลลาร์ในอย่างน้อย 22 ประเทศ เช่น จีน, รัสเซีย, ไนจีเรีย, อียิปต์, กรีซ, ฮังการี, อินโดนีเซีย, อิรัก, ไอวอรี่โคสต์, ลัตเวีย, เซอร์เบียและมอนเตเนโกร, ไทย, ตุรกี, เติร์กเมนิสถาน, อุซเบกิสถาน, เวียดนาม โดยยอมจ่ายค่าปรับ 185 ล้านดอลลาร์ในปี 2010
-Siemens AG ในปี 2008 มีการจ่ายสินบนใน อาร์เจนตินา, เวเนซุเอลา, บังกลาเทศ, จีน, ไนจีเรีย และประเทศอื่นๆ ทำให้ต้องจ่ายค่าปรับ 800 ล้านดอลลาร์
-Pfizer H.C.P. ในปี 2012 จ่ายสินบนให้บุคลากรสาธารณสุขในบัลแกเรีย, โครเอเชีย, คาซัคสถาน, และรัสเซีย โดยตกลงจ่ายค่าปรับรวม 60 ล้านดอลลาร์ เพื่อยุติการสอบสวนเกี่ยวกับการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศต่างๆ
-Walmart ในปี 2019 จ่ายเงินให้ตัวกลางในบราซิล, จีน, อินเดีย, และเม็กซิโก ซึ่งถูกกล่าวหาว่าติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ โดยจ่ายค่าปรับ 282 ล้านดอลลาร์ ฐานขาดระบบควบคุมภายใน
-Ericsson ในปี 2019 จ่ายสินบนในจีน, เวียดนาม, อินโดนีเซีย, คูเวต, และจิบูตี โดยจ่ายค่าปรับ 1,060 ล้านดอลลาร์ และในปี 2023 จ่ายเพิ่ม 206 ล้านดอลลาร์ฐานละเมิดข้อตกลง
การละเมิดกฎหมาย FCPA ในประเทศไทยที่เป็นข่าวดังที่สุดคือกรณีของโตโยต้าในประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นและจดทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก
ในเดือนเมษายน 2020 โตโยต้าได้รายงานต่อ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (SEC) และ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ (DOJ) เกี่ยวกับ “ความเป็นไปได้ในการละเมิดกฎหมายต่อต้านการติดสินบน” (possible anti-bribery violations) ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทย่อยในประเทศไทย ตามที่ระบุในเอกสารยื่นต่อ SEC (แบบ 424B5) เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2021
บริบทของคดี เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทด้านภาษีนำเข้ารถยนต์ไฮบริดรุ่น Prius ในประเทศไทย ระหว่างปี 2010-2012 ซึ่งกรมศุลกากรไทยกล่าวหาว่า TMT หลีกเลี่ยงภาษีนำเข้ามูลค่าประมาณ 11,600 ล้านบาท (ราว 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยนำเข้ารถยนต์ที่ประกอบสำเร็จรูป (pre-assembled cars) แทนการใช้สายการประกอบในไทย ซึ่งควรได้รับอัตราภาษีที่สูงถึง 80%
มีการสอบสวนโตโยต้าในประเทศไทยว่า อาจมีการจ่ายเงินสินบนผ่านสำนักงานกฎหมายเอกชนในไทย เพื่อพยายามโน้มน้าวผู้พิพากษาศาลฎีกาไทยให้ตัดสินในคดีภาษีนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อโตโยต้า
ผู้พิพากษาศาลฎีกาไทยที่ถูกกล่าวถึง ปฏิเสธข้อกล่าวหาการรับสินบน และการสอบสวนโดยศาลยุติธรรมไทยในปี 2021 ยังไม่พบหลักฐานเพิ่มเติม
ในที่สุดคดีภาษีนี้ ศาลฎีกาไทยตัดสินเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2022 ให้โตโยต้าในประเทศไทยต้องชำระภาษีที่ค้างอยู่
อย่างไรก็ตาม วันที่ 10-02-2025 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามคำสั่งบริหารเพื่อสั่งให้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ระงับการบังคับใช้กฎหมาย Foreign Corrupt Practices Act หรือ FCPA เป็นการชั่วคราว โดยระยะเวลาการระงับนี้ระบุไว้อย่างน้อย 180 วัน
เหตุผลที่ทรัมป์ให้ไว้คือ FCPA ขัดขวางการทำธุรกิจของบริษัทสหรัฐฯ และทำให้เสียเปรียบคู่แข่งจากประเทศอื่นที่ไม่มีข้อจำกัดในลักษณะเดียวกัน โดยทรัมป์ระบุว่า “มันฟังดูดี แต่มันทำร้ายประเทศ” และการระงับนี้มีเป้าหมายเพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติ
สรุปแล้วในช่วง 180 วันนี้ คนอเมริกัน บริษัทที่จดทะเบียนในอเมริกา หากถูกกล่าวหาว่าให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศต่างๆทั่วโลกก็ไม่ต้องกลัวว่าจะละเมิดกฎหมาย FCPA
“Make America Great Again” โดยไม่ต้องสนใจว่าจะมีเรื่องแย่ๆเกิดขึ้นที่ไหนในโลก….
Social Links