ธุรกิจ Food Delivery ฝ่าวิบาก!
โควิดจาง–ตลาดหด–น้ำมันแพง
…………………………………………….
ทิศทางธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery) เผชิญความท้าทายหลังจากที่โควิดคลี่คลาย เมื่อผู้คนกลับใช้ชีวิตปกติ ความจำเป็นในการสั่งอาหารมาส่งยังที่พักลดลง ผู้บริโภคเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ และราคาน้ำมันและค่าครองชีพที่เร่งตัวขึ้น มีผลต่อปริมาณการสั่งอาหารไปยังที่พักมีแนวโน้มเติบโตชะลอลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2565 ธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก น่าจะขยายตัวร้อยละ 1.7 – 5.0 จากปี 2564 หรือมีมูลค่าประมาณ 7.7 – 8.0 หมื่นล้านบาท ซึ่งคงจะส่งผลต่อผู้ให้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พักหรือไรเดอร์มากขึ้น
จากผลสำรวจ พบว่า ไรเดอร์ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากปริมาณงานต่อวันเฉลี่ยที่ลดลง และราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้จำเป็นต้องหาวิธีการรับมือกับรายได้สุทธิที่ลดลง โดยกลุ่มตัวอย่างกว่า 70% ใช้เวลาทำงานรับออเดอร์ให้มากขึ้น เพื่อให้รายได้กลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนหน้า
………………………………………….
ธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery) ณ ปัจจุบัน เผชิญความท้าทายจากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไปหลังจากที่การระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง ผู้คนส่วนใหญ่กลับไปใช้ชีวิตเกือบปกติอีกครั้ง จากการที่บริษัทส่วนใหญ่ให้พนักงานกลับไปทำงานยังสถานที่ทำงาน และนักเรียนกลับไปเรียนที่โรงเรียนได้ในรอบ 2 ปี ขณะเดียวกันผู้บริโภคเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อปริมาณการสั่งอาหารไปยังที่พักมีแนวโน้มเติบโตชะลอลง ส่งผลกระทบต่อผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ของธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก ทั้งผู้ประกอบการร้านอาหาร ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์จัดส่งอาหารไปยังที่พัก และผู้ให้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (ไรเดอร์ หรือ Riders) ซึ่งได้รับผลกระทบจากทั้งแนวโน้มปริมาณการสั่งอาหารไปยังที่พักที่ลดลง และราคาน้ำมันที่ปรับตัวเร่งขึ้น
ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูง จำนวนผู้ขับขี่จัดส่งอาหารในระบบที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่กลับเข้าสู่ภาวะใกล้เคียงปกติ ส่งผลกระทบต่อรายได้ที่ลดลง
กลุ่มผู้ให้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พัก หรือ ไรเดอร์ เป็นหนึ่งในห่วงโซ่ที่สำคัญของธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เหตุการณ์การระบาดของโควิด ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน ทำให้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พักได้กลายเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมในภาวะที่การจ้างงานยังอ่อนแรง โดยมีผู้สมัครเป็นไรเดอร์ส่งอาหารไปยังที่พักจำนวนมาก จากเครื่องชี้วัดธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พักของ LINE MAN Wongnai พบว่า ณ เดือนพ.ค. 65 จำนวนผู้สมัครเป็นผู้ให้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พัก หรือไรเดอร์ในระบบเพิ่มสูงขึ้นกว่า 4.7 เท่า เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. 63 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด (การเพิ่มขึ้นของไรเดอร์ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์จัดส่งอาหารไปยังที่พัก ขยายตลาดและพื้นที่บริการครอบคลุมทั่วประเทศ จากเดิมที่มีการให้บริการเพียงไม่กี่จังหวัด) และจากการประเมินของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า รายได้จากค่าจัดส่งอาหารไปยังที่พักหมุนเวียนในระบบโดยเฉลี่ยประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาทต่อปี ในช่วงระหว่างปี 2563 -2565
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ให้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พักเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น จากแนวโน้มการสั่งอาหารไปยังที่พักที่ชะลอลง ปริมาณไรเดอร์ในระบบที่มีจำนวนสูง และราคาน้ำมันที่เร่งตัวขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของไรเดอร์ส่วนใหญ่ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจมุมมองและการปรับตัวของไรเดอร์ ท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน โดยมีมุมมองที่น่าสนใจ ดังนี้
• ผู้ให้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (ไรเดอร์) มองว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่ออาชีพไรเดอร์ในปัจจุบัน มากที่สุด ได้แก่ ราคาน้ำมันแพง และจำนวนไรเดอร์ที่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่สูงใกล้เคียงกัน รองลงมา คือ การกลับไปทำงานและการกลับไปเรียนตามปกติ การแข่งขันที่รุนแรงระหว่างแพลตฟอร์ม ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนไปใช้แพลตฟอร์มอื่น และการใช้โปรแกรมช่วยเหลือในการรับงาน
• จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่กลับเข้าสู่ภาวะใกล้เคียงปกติ ผู้ให้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พักกว่า 94% มองว่าตนเองได้รับผลกระทบ โดยปริมาณออเดอร์ต่อวันเฉลี่ยลดลง จากผลสำรวจ พบว่า ออเดอร์เฉลี่ยต่อวันของผู้ให้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พักส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 11 – 15 งานต่อคน (38%) รองลงมาอยู่ที่ประมาณ 5 – 10 งานต่อคน (32%)
• ขณะที่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้ค่าใช้จ่ายในการเติมน้ำมันเพื่อจัดส่งอาหารเฉลี่ยในแต่ละวันสูงขึ้น (ปัจจุบัน ราคาน้ำมันเบนซินที่ปรับตัวสูงขึ้นไปแล้วกว่า 54 % (เทียบกับราคาเฉลี่ยทั้งปี 2564)) ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งอาหารในแต่ละเที่ยว และรายได้สุทธิของให้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พักต่อวันลดลงตาม ขณะที่ค่าครองชีพปรับตัวสูงชึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อไรดอร์บางกลุ่มที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย โดยจากผลสำรวจ พบว่า กลุ่มตัวอย่างผู้ให้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พักส่วนใหญ่ถึง 42% มีค่าใช้จ่ายในการเติมน้ำมันเพิ่มขึ้น 50-70 บาทต่อวัน (ขึ้นอยู่กับจำนวนเที่ยวส่ง ระยะทาง และอัตราการกินน้ำมันของรถแต่ละรุ่น)
• จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้ให้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พักจำเป็นต้องหาวิธีการรับมือ โดยกลุ่มตัวอย่างกว่า 70% ใช้เวลาทำงานรับออเดอร์ให้มากขึ้น เพื่อให้รายได้กลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนหน้า รวมถึง การเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นแทน หรือหาอาชีพเสริม ขณะที่บางส่วนเลือกลงทะเบียนในแพลตฟอร์มอื่นเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้งาน
จากมุมมองปัญหาที่ผู้ให้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พักกำลังเผชิญอยู่ ณ ขณะนี้ เป็นโจทย์ท้าทายที่เกิดขึ้นในทุกธุรกิจ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเปราะบาง ขณะที่ราคาพลังงานเร่งสูงขึ้น ราคาสินค้าปรับตัวขึ้นตามต้นทุนที่เกิดขึ้น ซึ่งกระทบต่อยอดขายของธุรกิจที่ลดลง ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ก็พยายามดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่ๆ เช่น การจัดส่งพัสดุ การสั่งซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อเพิ่มโอกาสในการรับงานในกลุ่มผู้ให้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พัก การปรับระบบการกระจายงานมาใช้ระบบยิงงาน (Auto assign) ซึ่งเป็นระบบสากลที่ทำให้มีความเท่าเทียมในการกระจายงานให้กับไรเดอร์มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็อยู่ระหว่างจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. … เพื่อเข้ามาช่วยกำกับดูแลผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ของธุรกิจดังกล่าว
สำหรับการคิดผลตอบแทน เป็นประเด็นที่อ่อนไหวและมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านการแข่งขันทางธุรกิจ ขณะเดียวกันต้นทุนในการดำเนินธุรกิจปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ทางผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอาจมีความยืดหยุ่นในการคิดคำนวณค่าธรรมเนียม เช่น ในต่างประเทศผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์จัดส่งอาหารนำรูปแบบ Fuel Surcharge ตามระยะทางมาปรับใช้ในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูง และเมื่อราคาน้ำมันปรับลดลงก็อาจมีการยกเลิกวิธีการคิดดังกล่าว ซึ่งแน่นอนว่าวิธีนี้ก็จะเป็นการส่งภาระต่อมายังผู้บริโภค และอาจส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมถึงผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ของธุรกิจจัดส่งอาหารได้
นอกจากการแก้ไขปัญหาเชิงระบบแล้ว คงจะต้องมาพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการธุรกิจ เช่น การเพิ่มโอกาสในการรับงานมากขึ้นและลดปริมาณการยกเลิกออเดอร์ในช่วง Peak Hour การลดระยะเวลาในการรอรับอาหารที่ร้านอาหาร ซึ่งคงจะต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ของการจัดส่งอาหาร เช่น ผู้ประกอบการร้านอาหารอาจจะกดรับออเดอร์เมื่ออาหารใกล้เสร็จหรือพร้อมส่ง
ในระยะถัดไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การทำธุรกรรมที่พึ่งพาแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น จะส่งผลให้เกิดอาชีพใหม่ๆ นอกเหนือจากไรเดอร์ขึ้นมา ดังนั้น ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องคงจะต้องช่วยกันออกแบบ และสร้างระบบนิเวศของธุรกิจ ภายใต้กฎระบียบและกฎเกณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย เพื่อให้ผู้ประกอบอาชีพดังกล่าวสามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการต่างๆ อาทิ การเปิดรับลงทะเบียนไรเดอร์เข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อให้สามารถเข้าถึงการได้รับสิทธิต่างๆ จากภาครัฐ เป็นต้น
สำหรับมุมมองต่อธุรกิจจัดส่งอาหาร (Food Delivery) ในปี 2565 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ท่ามกลางโจทย์ธุรกิจที่มีความซับซ้อน การแข่งขันที่รุนแรง และต้นทุนธุรกิจทุกด้านปรับตัวเพิ่มขึ้น คาดว่าธุรกิจจัดส่งอาหารน่าจะขยายตัวร้อยละ 1.7 – 5.0 หรือมีมูลค่าประมาณ 7.7 – 8.0 หมื่นล้านบาท ชะลอลงจากที่เติบโตร้อยละ 46.4 ในปี 2564
Social Links