ธ.กรุงเทพ ร่วมกิจกรรมรับประชุมเอเปค 2022 โชว์ฟอร์มแบงก์ไทย สู่‘ธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาค’

ธ.กรุงเทพ ร่วมกิจกรรมรับประชุมเอเปค 2022 โชว์ฟอร์มแบงก์ไทย สู่‘ธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาค’

ธ.กรุงเทพ ร่วมกิจกรรมรับประชุมเอเปค 2022

โชว์ฟอร์มแบงก์ไทย สู่‘ธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาค’

          ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะ ‘ธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาค’ พันธมิตรด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี 2565 (An Official Communication Partner of APEC 2022 Thailand) ร่วมออกบูธกิจกรรม ในการประชุม APEC 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ชูแนวคิด ‘สร้างสรรค์คุณค่าสู่อนาคตที่ยั่งยืน’ พร้อมโชว์ศักยภาพธุรกิจการเงินไทย พาลูกค้าสู่ประตูแห่งโอกาสด้านการค้าการลงทุน ผ่านเครือข่ายบริการที่ครอบคลุม เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินในระดับภูมิภาค สร้างการเติบโตที่สมดุล คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกคน เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในโอกาสที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ปี 2565 หรือ APEC 2022 ซึ่งจะจัดให้มีการประชุมผู้นำเอเปค ระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อเป็นเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือต่าง ๆ อันจะนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืน และความมั่งคั่งของประชาชนในภูมิภาค ธนาคารกรุงเทพ        ในฐานะ ‘ธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาค’ ได้ร่วมออกบูธกิจกรรมภายในงานดังกล่าว เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของการเป็นสถาบันการเงินชั้นนำของประเทศและภูมิภาค ซึ่งได้นำเสนอภายใต้แนวคิด ‘Creating Value for a Sustainable Future’ หรือ ‘สรรค์สร้างคุณค่าสู่อนาคตที่ยั่งยืน’ ตามเจตนารมณ์ของธนาคารที่ต้องการเป็น ‘เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน’ ด้วยการเป็นมากกว่าผู้ให้บริการทางการเงิน โดยให้คำปรึกษาและสนับสนุนผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับหัวข้อหลักของเอเปค 2565 ที่กำหนดไว้ว่า ‘Open. Connect. Balance’ หรือ ‘เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล’ ธนาคารจึงได้นำเสนอเนื้อหาต่าง ๆ ในบูธกิจกรรมที่สอดรับกับหัวข้อหลักดังกล่าว ประกอบด้วย

Open หรือ การเปิดกว้างสู่ทุกโอกาสด้านการค้าและการลงทุน ส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคผ่านมุมมองใหม่ที่ได้เรียนรู้จากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ทุกภาคส่วนในสังคม ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งมีความแข็งแกร่งด้านการสนับสนุนบริการทางการเงินครบวงจร ด้วยเครือข่ายสาขาในต่างประเทศที่กว้างขวาง มากกว่า 300 แห่ง ครอบคลุม 14 เขตเศรษฐกิจสำคัญของโลกโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน ที่ธนาคารมีสาขาครอบคลุมถึง 9 ประเทศ จากสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ จึงมีศักยภาพและความพร้อมที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าและธุรกิจต่าง ๆ ที่สนใจเปิดประตูแห่งโอกาสไปสู่ตลาดการลงทุนนอกประเทศ รวมถึงเปิดต้อนรับนักลงทุนจากต่างประเทศที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยและอาเซียนเช่นกัน

Connect หรือ เชื่อมโยงในทุกมิติเพื่อฟื้นฟูการเดินทางระหว่างกันที่สะดวกและปลอดภัย รวมทั้งเพิ่มความเชื่อมโยงทางดิจิทัล ซึ่งธนาคารกรุงเทพ สามารถต่อยอดธุรกิจหลักในด้านบริการทางการเงินมาสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านระบบชำระเงินข้ามประเทศในระดับภูมิภาค โดยได้ร่วมพัฒนา Cross-Border QR Payment บริการชำระเงินระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอีก 5 ประเทศ ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และกัมพูชา ให้สามารถชำระค่าสินค้าและบริการแบบข้ามประเทศด้วยสกุลเงินของประเทศตนเองได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ลดความยุ่งยากในการพกพาเงินสด และการแปลงสกุลเงิน ซึ่งโครงการนี้จะช่วยเติมเต็มโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินระหว่างประเทศให้เชื่อมโยงกันได้ทั้ง Ecosystem ภายใต้มาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งภูมิภาค โดยธนาคารกรุงเทพถือเป็นธนาคารรายแรกที่เริ่มต้นให้บริการดังกล่าว พร้อมกับทำหน้าที่เป็น Settlement Bank (ธนาคารที่รับผิดชอบการชำระดุลสำหรับธุรกรรมระหว่างประเทศ) สำหรับการชำระเงินระหว่างไทย-เวียดนาม และไทย-อินโดนีเซีย อีกด้วย

Balance หรือ ส่งเสริมการเจริญเติบโตที่เน้นสร้างสมดุลในทุกด้านมากกว่าสร้างกำไร ผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การสร้างความมั่นคงทางอาหารและการเกษตรเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน สอดคล้องเจตนารมณ์ของธนาคารกรุงเทพที่มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ครอบคลุมทั้งมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และ  ธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance – ESG) ที่ผ่านมาธนาคารกรุงเทพนับเป็นสถาบันการเงินที่ให้บริการด้านจัดหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อม (Green Finance) ทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ผ่านการเป็นผู้นำการจัดจำหน่ายตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน โดยในปี 2564 ธนาคารได้สนับสนุนองค์กรธุรกิจในประเทศไทยระดมทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนผ่านการจัดจำหน่ายหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (ESG Debentures) ทั้งการออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หุ้นกู้เพื่อพัฒนาสังคม และหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน เป็นมูลค่าประมาณ 37,200 ล้านบาท หรือราว 2 ใน 3 ของมูลค่าการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ดังกล่าวของตลาดทุนไทยรวมที่ 56,700 ล้านบาท ตลอดจนการเป็นผู้นำด้านสินเชื่อเพื่อสนับสนุนโครงการพลังงานหมุนเวียนทั้งในประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ลาว จีน และประเทศอื่น ๆ โดยปัจจุบัน สินเชื่อเพื่อพลังงานหมุนเวียนมีสัดส่วนกำลังการผลิตคิดเป็นร้อยละ 27 ของกำลังการผลิตจากสินเชื่อด้านพลังงานโดยรวม และคาดว่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ธนาคารยังสนับสนุนโครงการพลังงานเพื่อความยั่งยืนสำคัญ ๆ อีกหลายโครงการ เช่น   การพัฒนาพลังงานสะอาดทั่วเอเชีย รวมทั้งธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า และระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน โดยลูกค้าบางรายอยู่ระหว่างการริเริ่มพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) อีกด้วย เช่นเดียวกับในมิติด้านสังคม ซึ่งถือเป็นการตอบแทนกลับสู่สังคมด้วยสำนึกในการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ผ่านโครงการเพื่อสังคมต่าง ๆ เช่น โครงการบัวหลวงร่วมชุมชนแก้ภัยแล้ง การอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมไทย การพัฒนาเยาวชน และการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา ผ่านโครงการจัดประกวด “จิตรกรรมบัวหลวง” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 43 รวมถึงมิติด้านการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม ด้วยการจัดทำนโยบายสินเชื่อย่างมีความรับผิดชอบ และคำนึงถึงความเสี่ยงด้าน ESG ในกระบวนการพิจารณาสินเชื่อที่ครอบคลุมทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อบุคคล

นอกจากบูธกิจกรรมเพื่อให้ข้อมูลความรู้และส่งเสริมภาพลักษณ์ของธนาคารดังกล่าวแล้ว ธนาคารกรุงเทพ    ยังได้มีบทบาทด้านการสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพ ด้วยการทำหน้าที่ในฐานะพันธมิตรด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี 2565 และเป็นผู้สนับสนุนงานประชุม APEC Business Advisory Council 2022 หรือ ABAC 2022 และ APEC CEO Summit 2022 ขณะเดียวกัน ยังได้แสดงออกในฐานะตัวแทนคนไทย เพื่อให้การต้อนรับมิตรเขตเศรษฐกิจด้วยรอยยิ้ม โดยการสนับสนุนป้ายต้อนรับขนาด 18 x 200 เมตร บริเวณเส้นทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ อันเป็นเสมือน “ประตู” (Gateway) เข้าสู่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมผู้นำเอเปค

“นับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทยที่ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี 2565 และถือเป็นโอกาสที่ดีของธนาคารกรุงเทพที่เป็นหนึ่งในตัวแทนของธุรกิจไทย ที่ได้เป็นตัวแทนต้อนรับผู้แทนจากประเทศสมาชิก และที่สำคัญยังเป็นเวทีแสดงออกถึงศักยภาพด้านธุรกิจสถาบันการเงินของคนไทยที่มีความแข็งแกร่งและสามารถยืนหยัดในฐานะ “ธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาค” ได้อย่างน่าภาคภูมิใจ ควบคู่ไปกับเจตนารมณ์ของการเป็น “เพื่อนคู่คิด” เคียงข้างลูกค้าและสังคมไทยเสมอมา และจะยังคงเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืนในอนาคต” กอบศักดิ์ กล่าว

You may also like

“เฉลิมชัย-ประชาธิปัตย์“ห่วงปัญหาเหลื่อมล้ำ จัดเวทีนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเดโมแครต ฟอรั่ม” ขจัดการผูกขาด: ลดเหลื่อมล้ำแก้จน”

“เ