บาททำสถิติอ่อนสุดในรอบกว่า 1 เดือน หุ้นไทยร่วงหลุดแนว 1,400 จุด ติดตามตัวเลขส่งออกไทยเดือน ธค.66

บาททำสถิติอ่อนสุดในรอบกว่า 1 เดือน หุ้นไทยร่วงหลุดแนว 1,400 จุด ติดตามตัวเลขส่งออกไทยเดือน ธค.66

บาททำสถิติอ่อนสุดในรอบกว่า 1 เดือน

หุ้นไทยร่วงหลุดแนว 1,400 จุด

ติดตามตัวเลขส่งออกไทยเดือน ธค.66

………………………………

  • เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 1 เดือน ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้น หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ลดทอนโอกาสการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดในเดือนมี.ค.
  • SET Index ปรับตัวลงหลุดแนว 1,400 จุด ตามแรงขายของกลุ่มนักลงทุนตางชาติ ท่ามกลางปัจจัยลบทั้งในและต่างประเทศ

…………………………………………

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทยังคงอ่อนค่า โดยทำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 1 เดือนที่ 35.71 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในระหว่างสัปดาห์ เงินบาทแข็งค่าขึ้นช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก ประกอบกับยังไม่มีสัญญาณปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินจากธปท. อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับไปอ่อนค่าลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ หลังมีสัญญาณว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอาจมีความล่าช้า ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ทยอยแข็งค่าขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ของสหรัฐฯ สอดคล้องกับการที่ตลาดทยอยปรับลดโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเห็นเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน มี.ค. ลงมา          นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับแรงขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงอ่อนค่าและดีดตัวกลับมาบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ตามทิศทางของสกุลเงินเอเชียในภาพรวม

ในวันศุกร์ที่ 19 ม.ค. 2567 (ก่อนช่วงตลาดนิวยอร์ก) เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.52 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 35.06 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (12 ม.ค. 2567)  สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 15-19 ม.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 10,938 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 8,761 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 8,331 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 430 ล้านบาท)

สัปดาห์นี้(22-26 ม.ค. 67) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 35.00-35.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือน ธ.ค. ของไทย สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ผลการประชุม BOJ และ ECB รวมถึงการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของธนาคารกลางจีน ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ ยอดขายบ้านที่รอปิดการขาย รายได้/การใช้จ่ายส่วนบุคคล และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไปและพื้นฐาน (PCE/Core PCE Price Indices) เดือนธ.ค. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/66 (ครั้งที่ 1) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนม.ค. ของญี่ปุ่น ยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนท่ามกลางแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้หุ้นไทยทยอยปรับตัวลงตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ เนื่องจากยังคงไร้ปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุน ประกอบกับมีความกังวลว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศอาจมีความล่าช้า นอกจากนี้ ความกังวลว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยในระดับสูงเป็นเวลานาน (หลังเจ้าหน้าที่เฟดบางรายแสดงความคิดเห็นว่าไม่จำเป็นต้องรีบลดดอกเบี้ย) รวมถึงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีน หลังจีดีพีไตรมาส 4/66 ออกมาต่ำกว่าตลาดคาด ก็เป็นปัจจัยลบที่กดดันหุ้นไทยด้วยเช่นกัน ส่งผลให้เกิดแรงขายหุ้นในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี หุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์

ในวันศุกร์ที่ 19 ม.ค. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,382.51 จุด ลดลง 2.19% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 45,832.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.20% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 1.92% มาปิดที่ระดับ 412.50 จุด

สำหรับสัปดาห์นี้(22-26 ม.ค. 67) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,385 และ 1,370 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,425 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนธ.ค. ของไทย  ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และผลประกอบการงวดไตรมาส 4/66 ของบจ. ไทย ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล และดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนธ.ค. ดัชนี PMI เดือนม.ค. (เบื้องต้น) ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/66 รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม BOJ และ ECB  ดัชนี PMI เดือนม.ค. (เบื้องต้น) ของญี่ปุ่น ยูโรโซน อังกฤษ รวมถึงการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR เดือนม.ค. ของจีน

 

You may also like

คปภ.เดินหน้า! เปิดเวทีสัมมนาวิชาการด้านประกันภัย ประจำปี 2567 “Thailand Insurance Symposium 2024”

 นายชูฉั