บาทแข็ง หุ้นขยับ จับตาศึกภาษีตอบโต้สหรัฐฯ

บาทแข็ง หุ้นขยับ จับตาศึกภาษีตอบโต้สหรัฐฯ

บาทแข็ง หุ้นขยับ

จับตาศึกภาษีตอบโต้สหรัฐฯ

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

  • เงินบาทแกว่งตัวผันผวน พลิกแข็งค่าหลุดแนว 34.00 แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 6 สัปดาห์ที่ 33.54 บาทต่อดอลลาร์ฯ ตามราคาทองคำตลาดโลกที่พุ่งขึ้น

เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 4 เดือนครึ่งที่ 34.98 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางอ่อนค่าของสกุลเงินอื่น ๆ ในเอเชีย นำโดย เงินหยวน หลังภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐฯ เริ่มมีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ดี เงินบาทฟื้นตัวกลับมาอย่างแข็งแกร่ง โดยได้รับอานิสงส์จากราคาทองคำในตลาดโลกที่กลับขึ้นไปทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศชะลอการเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ หรือ Reciprocal Tariffs ให้กับหลายประเทศ ยกเว้นจีน เป็นเวลา 90 วัน (แต่ยังเก็บอัตราภาษีพื้นฐาน 10% อยู่)

เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องในช่วงท้ายสัปดาห์ โดยแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 6 สัปดาห์ที่ 33.54 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังเงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าที่คาด และความกังวลต่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยกระดับความตึงเครียดขึ้นตามอัตราภาษี Reciprocal Tarriff ที่ปรับขึ้นเพื่อตอบโต้กัน

ในวันศุกร์ที่ 11 เม.ย. 2568 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (4 เม.ย.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 8-11 เม.ย. 2568 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 2,248 ล้านบาท แต่มีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 5,529 ล้านบาท (แบ่งเป็น ซื้อสุทธิพันธบัตร 6,069 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 540 ล้านบาท)

สัปดาห์ระหว่างวันที่ 16-18 เม.ย. 2568 ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.50-34.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทิศทางค่าเงินหยวนและราคาทองคำในตลาดโลก สัญญาณฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงผลการประชุม ECB และธนาคารกลางเกาหลีใต้

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภค ดัชนีราคานำเข้า/ส่งออก ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านเดือนมี.ค. ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนเม.ย. และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลจีดีพีไตรมาส 1/2568 และตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมี.ค. ของจีน รวมถึงตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค. ของอังกฤษ ยูโรโซนและญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • ดัชนีหุ้นไทยยังคงเคลื่อนไหวผันผวนต่อเนื่องตามประเด็นภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐฯ

ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงแรงช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ โดยร่วงลงกว่า 50 จุดและแตะจุดต่ำสุดในรอบ 5 ปีครั้งใหม่ที่ 1,056.41 จุด สอดคล้องกับภาพรวมตลาดหุ้นต่างประเทศที่ปรับตัวลงแรงเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ตลท. มีการประกาศปรับเกณฑ์ Ceiling & Floor, Dynamic Price Band และห้ามขายชอร์ตเป็นการชั่วคราว (8-11 เม.ย.) เพื่อลดความผันผวนของตลาด

อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นไทยทยอยฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ โดยมีแรงซื้อคืนหุ้นบิ๊กแคปหลายตัว โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ พลังงาน และค้าปลีกที่ราคาปรับตัวลงไปค่อนข้างมากช่วงก่อนหน้านี้ ดัชนีหุ้นไทยดีดตัวขึ้นแรงในเวลาต่อมาตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศระงับใช้มาตรการภาษีตอบโต้เป็นเวลา 90 วัน (ยกเว้นจีน) แต่กรอบการปรับขึ้นของดัชนีหุ้นไทยเริ่มจำกัดในช่วงปลายสัปดาห์ท่ามกลางสัญญาณระมัดระวังของนักลงทุนก่อนวันหยุดยาวของตลาดในประเทศ ประกอบกับยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

ในวันศุกร์ที่ 11 เม.ย. 2568 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,128.66 จุด เพิ่มขึ้น 0.31% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 50,675.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.90% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 2.48% มาปิดที่ระดับ 232.35 จุด

สัปดาห์นี้(16-18 เม.ย. 68) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,100 และ 1,085 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,145 และ 1,155 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลประกอบการไตรมาส 1/2568 ของบจ.ไทย โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ ประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนมี.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ การประชุม ECB ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมี.ค.ของยูโรโซน อังกฤษและญี่ปุ่น ตลอดจนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2568 และตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมี.ค. ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร

You may also like

“ซีพี แอ็กซ์ตร้า” ผนึก “กรมทางหลวง” เปิด 50 จุดบริการน้ำดื่ม-ผ้าเย็น เติมความสดชื่น บนเส้นทางหลักทั่วไทย

“ซีพี แอ