ปปช.แจง ผลงาน “ป้อง-ปราบ”โกง ปีงบ 65

ปปช.แจง ผลงาน “ป้อง-ปราบ”โกง ปีงบ 65

ปปช.แจงผลงาน “ป้อง-ปราบ”โกง ปีงบ 65

ป.ป.ช. แถลงผลงานการขับเคลื่อนงานด้านป้องกันการทุจริต ปีงบประมาณ 2565

                เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า การขับเคลื่อนงานด้านป้องกันการทุจริตของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามกฎหมาย ควบคู่ไปกับการตอบสนองเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 21 การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ดังนั้น ในการดำเนินงานการป้องกันการทุจริตจะเริ่มตั้งแต่การเฝ้าระวัง การปลูกฝัง การป้องกัน ตลอดจนการแก้ไข โดยมุ่งเน้นการปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริต การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ การเสริมสร้างคุณธรรม ความโปร่งใส และ หลักธรรมาภิบาลแก่หน่วยงานภาครัฐ การกำหนดมาตรการ ความเห็น ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต ตลอดจนการเฝ้าระวังสถานการณ์การทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565 มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้

1. การเสนอ มาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการ

            1. การเสนอ มาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี

                                   1.1) ข้อเสนอแนะในการยกระดับคุณธรรม ความโปร่งใส และธรรมาภิบาลของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อป้องกันการทุจริต

                เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และได้มอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

                                   – เร่งส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้และทักษะ การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ การป้องกันการทุจริต และการให้บริการสาธารณะ ทางเว็บไซต์ของหน่วยงานให้มีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐาน  ที่กำหนด

                                   – ส่งเสริมสนับสนุนและให้คำแนะนำในด้านกระบวนการบริหารจัดการภายในหน่วยงานแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ซึ่งระบุไว้ในกฎหมายจัดตั้ง อปท. แต่ละประเภท

                                   – ขับเคลื่อนการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….   ให้สอดคล้องกับหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อยกระดับการเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะ ในครอบครองของหน่วยงานภาครัฐให้เป็นหน้าที่หลักที่ต้องปฏิบัติ

                                   – ให้หน่วยงานที่กำกับดูแลการปฏิบัติราชการของหน่วยงานภาครัฐดำเนินการกำกับติดตามการประเมิน ITA และผลักดันให้หน่วยงานภายใต้กำกับดูแลดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางการประเมิน ITA

                                   – ให้หน่วยงานภาครัฐให้ความร่วมมือและเข้าร่วมการประเมิน ITA ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 – 2570 โดยการกำหนดกลุ่มเป้าหมายหน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมการประเมิน ITA แนวทางการประเมิน ITA และเครื่องมือการประเมิน ITA ให้เป็นไปตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนด

                1.2) ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 รับทราบและให้กระทรวงคมนาคม เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปพิจารณาดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วและให้รายงานผลการดำเนินการให้คณะรัฐมนตรีทราบ ภายใน 30 วันด้วย

                1.3) มาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบ  กรณีปัญหาการบุกรุกและการใช้ประโยชน์ในที่ดินป่าไม้

                คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหา 4 ด้านคือ ด้านการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ด้านการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐ ด้านการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกที่ดินของรัฐ และด้านการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินป่าไม้ และปัจจุบันอยู่ระหว่าง การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

                1.4) ข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินการอนุมัติการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน   (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

                คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) ดำเนินการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแนวทาง   ในการแก้ไขปัญหาการดำเนินการด้านการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิร่วมกันอย่างเป็นระบบ และให้คณะรัฐมนตรีตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 ที่มีมติให้ มีผู้ประกอบการคลังน้ำมันนอกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพียงรายเดียว และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 ที่มีมติให้ผู้ประกอบการคลังน้ำมันเอกชนรายอื่นสามารถสร้างคลังน้ำมันภายนอกเขตสนามบินสุวรรณภูมิ ได้หลายรายมากขึ้น นอกเหนือจากบริษัทเอกชนรายเดียวตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงประโยชน์จากการเปิดการแข่งขันด้านราคาและการให้บริการคลังน้ำมันอย่างเป็นธรรม กับความมั่นคงในระบบน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินในท่าอากาศยาน อันเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีมาตรฐานสากลเทียบเท่าท่าอากาศยานนานาประเทศ

                นอกจากนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการติดตามผลการดำเนินการตามมาตรการ และข้อเสนอแนะฯ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบมาตรการและข้อเสนอแนะฯ พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการ

                2. การส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐมีการดำเนินงานอย่างมีคุณธรรม ความโปร่งใส เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และเสริมสร้างการป้องกันการทุจริตในหน่วยงานภาครัฐ โดยการบูรณาการกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การส่งเสริมคุณธรรมและความโปร่งใส ตามหลักธรรมาภิบาลของหน่วยงานเป็นไปได้ อย่างมีประสิทธิภาพ ได้มีการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่

                2.1 ดำเนินการส่งเสริมและยกระดับธรรมาภิบาลให้กับกลุ่มเป้าหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีผลคะแนนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสยังไม่ผ่านเกณฑ์จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 4,139 หน่วยงาน โดยได้จัดโครงการส่งเสริมธรรมาภิบาลเพื่อยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565  เช่น การพัฒนาและสนับสนุน   องค์ความรู้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินการเพื่อยกระดับผลการประเมิน ITA การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมาภิบาลและให้คำแนะนำปรึกษาในการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การลงพื้นที่ให้คำปรึกษารายหน่วยงานให้กับกลุ่มเป้าหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ 4,139 หน่วยงาน การศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดีในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การสร้างแรงจูงใจและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญต่อการยกระดับผลการประเมิน ITA

               2.2 การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้จัดโครงการยกระดับค่าคะแนนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาและยกระดับค่าคะแนนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ และกิจกรรมลงพื้นที่ในหน่วยงานรัฐ 4 ครั้ง เพื่อดำเนินการให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่หน่วยงานภาครัฐที่ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน ITA ประจำปี 2564

                2.3 การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาคเอกชนและนิติบุคคลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้จัดโครงการพัฒนาและส่งเสริมบรรษัทภิบาลคู่สัญญาหน่วยงานของรัฐ กิจกรรมสัมมนาการยกระดับบรรษัทภิบาลคู่สัญญาหน่วยงานของรัฐในระดับภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อน ขยายผลและพัฒนากลไกขับเคลื่อนบรรษัทภิบาลภาคเอกชนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และเพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อ จัดจ้างภาครัฐที่มีเอกชนเป็นคู่สัญญา

                3. การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA)

                ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้ดำเนินการประเมิน ITA ให้กับหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ  เพื่อให้รับทราบถึงสถานะและปัญหาการดำเนินงานในด้านคุณธรรม ความโปร่งใส และการป้องกันการทุจริต   ซึ่งในแง่ของการมีส่วนร่วมต่อการประเมิน ITA จำแนกได้ใน 2 มิติ ดังนี้

                                1) มิติของหน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมการประเมินฯ มี 8,303 หน่วยงาน ทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานธุรการ ทั้งในฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

                                2) มิติของการมีส่วนร่วมในการประเมินฯ ที่มีประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินผ่านการตอบแบบวัดการรับรู้ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมามีถึง 1,331,588 คน

                ทั้งนี้ การประเมิน ITA ถูกกำหนดเป็นค่าเป้าหมายและตัวชี้วัดของแผนแม่บท ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมถึงแผนการปฏิรูปประเทศฯ อีกด้วย โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐ ต้องมีผลการประเมิน ITA ผ่านเกณฑ์ 85 คะแนนขึ้นไป เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด (6,642 หน่วยงาน)

                ในช่วงปีที่ผ่านมา การประเมิน ITA ได้ถูกกล่าวถึงทั้งในเวทีการประชุมระดับนานาชาติ อาทิ การประชุมขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD ในงาน 2021 OECD Global Anti-Corruption & Integrity Forum จึงกล่าวได้ว่าการประเมิน ITA เป็นเครื่องมือและมาตรการเสริมสร้างความโปร่งใสและการป้องกันการทุจริตที่ได้รับการยอมรับแล้วในระดับสากล

                ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และเพิ่มทักษะในการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ และได้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านคุณธรรม ความโปร่งใส และการป้องกันการทุจริตดีขึ้นเป็นลำดับ ดังจะเห็นได้จากผลการประเมินที่มีทิศทางที่ดีขึ้น ดังนี้

…………………………………………………………………………………………………………….

ปีงบประมาณ พ.ศ.                จำนวนหน่วยงานภาครัฐ      ผลการประเมิน ITA (เฉลี่ย)

   2561                                               8,277                                    68.78

   2562                                               8,058                                    66.74

   2563                                               8,303                                    67.90

   2564                                               8,300                                    81.25

………………………………………………………………………………………………………………..               

                ผลของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและการให้ความยอมรับ ทั้งจากภายในประเทศและจากองค์การระหว่างประเทศ ส่งผลหน่วยงานภาครัฐได้มีการริเริ่มจัดทำโครงการ และขยายผลต่อยอดการประเมิน ITA ลงไปในระดับส่วนงานย่อยต่าง ๆ ภายในองค์กรของตนเอง

                สำหรับการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้มีการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเริ่มกระบวนการประเมิน ITA ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา และในปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการจัดเก็บข้อมูลตามเครื่องมือที่กำหนด โดยแบ่งเป็น 3 เครื่องมือ ดังนี้

                1) แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (แบบวัด IIT) : บุคลากรของหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานทั่วประเทศที่ปฏิบัติงานมาไม่น้อยกว่า 1 ปี สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตอบแบบวัด IIT    ได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 โดยแต่ละหน่วยงานได้มีการประชาสัมพันธ์ช่องทางการตอบแบบวัด IIT ให้แก่บุคลากรภายในเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยปัจจุบัน (11 เม.ย. 65) มีเจ้าหน้าที่ของรัฐทั่วประเทศ เข้ามามีส่วนร่วมในการตอบแบบวัด IIT แล้วเป็นจำนวน 368,529 ราย

                2) แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (แบบวัด EIT) : ประชาชนหรือผู้ที่ เคยติดต่อ/รับบริการจากหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศในปี 2565 นี้ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินหน่วยงานภาครัฐที่ท่านเคยติดต่อหรือรับบริการ 2 ช่องทาง ดังนี้

                ช่องทางที่ 1 สามารถเข้าประเมินหน่วยงานด้วยตนเองได้ที่เว็บไซต์ itas.nacc.go.th หรือ Application ITAS โดยพิมพ์ค้นหาชื่อหน่วยงานที่ท่านเคยติดต่อหรือรับบริการแล้วประเมินได้เลย

                ช่องทางที่ 2 สำนักงาน ป.ป.ช. จะดำเนินการสัมภาษณ์ประชาชนที่เคยติดต่อหรือรับบริการ จากหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ ผ่านทางโทรศัพท์และการลงพื้นที่ภาคสนาม

                สำหรับจำนวนของประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ ในปัจจุบัน (11 เม.ย. 65) มีจำนวนผู้ตอบแบบวัด EIT แล้วเป็นจำนวนถึง 471,654 ราย

                3) แบบวัดการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน (แบบวัด OIT) : หน่วยงานภาครัฐ 8,303 แห่ง โดยปัจจุบัน (11 เม.ย. 65) มีหน่วยงานภาครัฐที่ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลแล้วเสร็จ จำนวน 96 หน่วยงาน ส่วนอีก 8,207 หน่วยงาน อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการจัดทำข้อมูลให้ครบถ้วนสมบูรณ์ และต้องส่งให้ผู้บริหารของตนเองพิจารณารับรองและให้ความเห็นชอบก่อนเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ ทั้งนี้ ต้องเสร็จตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ภายในวันที่ 30 เมษายน 2565 นี้

                ทั้งนี้ ขอเชิญชวนให้ประชาชนชาวไทย รวมถึงข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณธรรม คุณภาพ และความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานทั่วประเทศ   ผ่านการประเมิน ITA โดยสามารถร่วมประเมินได้ที่เว็บไซต์ itas.nacc.go.th หรือทาง Application ITAS ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐได้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของท่านไปใช้ในการปรับปรุงการปฏิบัติงานให้มีความโปร่งใสและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนต่อไป

2. มาตรา 33 : การสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมและให้ความร่วมมือในการป้องกัน

                1) การส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้มีพฤติกรรมที่ยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริตโดยผ่านการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา 5 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน หลักสูตรอุดมศึกษา  หลักสูตรกลุ่มทหารและตำรวจ หลักสูตรวิทยากร ป.ป.ช./บุคลากรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ และหลักสูตรโค้ช มีการดำเนินงาน ดังนี้

                                (1) การลงพื้นที่เพื่อกำกับ ติดตาม การนำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปใช้ในสถานศึกษา และรับทราบปัญหาอุปสรรค ข้อเสนอแนะ ทั้งในกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่น ๆ

                                (2) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการการบูรณาการความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยมีการตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา

                                (3) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โครงการเยาวชนไทย "ไม่ลอกการบ้าน ไม่ลอกข้อสอบ" เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การดำเนินการจัดกิจกรรม STRONG CAMP เยาวชนไทย "ไม่ลอกการบ้าน ไม่ลอกข้อสอบ" และเพื่อสร้างเครือข่ายเยาวชน STRONG IDOL ทั่วประเทศ

                                (4) การเพิ่มประสิทธิภาพและเสริมสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ต้านทุจริตศึกษา(Anti-Corruption Education Platform) โดยจัดให้มีระบบแพลตฟอร์มต้านทุจริตศึกษา (Anti-Corruption Education Platform) ในรูปแบบ Web Application ในลักษณะที่เป็น E – Learning ซึ่งสามารถเข้ามาเรียนรู้เนื้อหาหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาตลอดเวลา และนำองค์ความรู้ไปขยายผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            2) การส่งเสริมให้ประชาชนมีวัฒนธรรม ค่านิยมสุจริต มีทัศนคติและพฤติกรรมในการต่อต้านการทุจริต ดังนี้

                                (1) การส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อต่อต้านการทุจริต ผ่านกิจกรรมของชมรม STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริต ซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 80,000 คน ในปี 2565 โดยสนับสนุนให้เครือข่ายชมรม STRONG ร่วมแจ้งเบาะแสการทุจริต และมีการตอบสนองผ่านการดำเนินการของ ศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ (Corruption Deterrence Center – CDC) ที่ประสานส่งเรื่องต่อให้ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด เกิดเป็นกระบวนการป้องปรามการทุจริตที่ชัดเจนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้

                ของชมรม STRONG ขึ้นใน 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตในทุกด้าน รวมทั้งให้ความสำคัญกับสมาชิกเยาวชนในชมรม STRONG ให้ยกระดับเป็นชมรมเยาวชน STRONG ประจำจังหวัด เพื่อมีเวทีแสดงศักยภาพ ผสานพลังร่วมกับชมรม STRONG ภาคประชาชนได้อย่างเข้มแข็ง และเป็นกำลังสำคัญในการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตต่อไป

                                (2) ข้อมูลการแจ้งเบาะแสของชมรม STRONG ที่เรียกว่า “การปักหมุด” ได้นำมาต่อยอดพัฒนาเป็น “แผนที่พื้นที่เสี่ยงการทุจริต (Corruption Risk Mapping)” ที่แสดงแนวโน้มสถานการณ์การทุจริตของประเทศไทย ระบุถึงประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตและพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเกิดการทุจริตสูง โดยข้อมูลจากการปักหมุดได้นำมาใช้ร่วมกับฐานข้อมูลอื่นของสำนักงาน ป.ป.ช. อาทิ สถิติคดี และผลการประเมิน ITA ของหน่วยงานภาครัฐ ทำให้สามารถวางแผนการดำเนินโครงการด้านป้องกันและป้องปรามได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                                (3) โครงการต้านและลดทุจริต เฉพาะกรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต หรือ โครงการ TaC Team ซึ่งเป็นการพัฒนางานป้องกันเชิงรุกที่ให้ยกระดับงานป้องกัน “ป้องนำปราบ” โดยรวมพลังศักยภาพทั้งภายในสำนักงาน ป.ป.ช. และหน่วยงานภายนอกขับเคลื่อนการป้องกันเชิงรุกจากประเด็นความเสี่ยงที่ระบุได้ เข้าระงับยับยั้ง ให้คำแนะนำ เพื่อปรับปรุงแก้ไขก่อนเกิดเป็นคดีทุจริต อาทิ ความเสี่ยงต่อการทุจริตในการบริหารจัดการ  โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม กาฬสินธุ์ และสกลนคร การบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้และชายทะเลที่อุทยานแห่งชาติ   เกาะช้าง จังหวัดตราด การประกอบกิจการดูดทรายในลำน้ำปิงและการล่วงล้ำลำน้ำแม่สาที่จังหวัดเชียงใหม่ และประเด็นความเสี่ยงการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี และกรุงเทพมหานคร

                                (4) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคองค์กร ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้แนวคิด “STRONG – องค์กรพอเพียงต้านทุจริต” ให้เกิดการรวมตัวกันของบุคลากรเพื่อเฝ้าระวังการทุจริตจากภายใน ปัจจุบันมี 46 หน่วยงานร่วมเป็น STRONG – องค์กร คือ ภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ 9 แห่ง ภาคเอกชน 3 แห่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 21 แห่ง และสถาบันอุดมศึกษา 13 แห่ง

                                (5) การขับเคลื่อนกลไกทางศาสนาร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  โดยมหาเถรสมาคมได้เมตตามีมติ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 เห็นชอบให้พระสังฆาธิการทุกระดับ ตั้งแต่ ระดับภาค จังหวัด อำเภอ ตำบล และระดับเจ้าอาวาส ร่วมเผยแผ่เนื้อหาหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาที่ได้ประยุกต์เข้ากับหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาแก่ประชาชน

                3) การขับเคลื่อนแผนงานด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ภายใต้แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 21 การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ เป้าหมายและตัวชี้วัดที่ 1 ได้กำหนดเป้าหมาย คือ ประชาชนมีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะเก็บข้อมูลระหว่างเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2565 คือ

                                การสำรวจพฤติกรรมที่ยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริตของเด็กและเยาวชนไทยที่มีอายุระหว่าง 12 – 24 ปี ทั่วประเทศ จำนวน 46,800 กลุ่มตัวอย่าง สำรวจการกระทำและการพูด 4 ประเด็น คือ 1) พูดความจริง ไม่ลักขโมย ไม่เอาเปรียบ ไม่ฉวยโอกาส (สัตย์จริง โปร่งใส) 2) การแยกแยะประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม 3) การปฏิบัติต่อผู้อื่นที่ไม่แตกต่างกัน (เสมอภาค ยุติธรรม) 4) ความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น การทำตามระเบียบวินัย (ความรับผิดชอบต่อหน้าที่)

                                การสำรวจวัฒนธรรม ค่านิยมสุจริต มีทัศนคติและพฤติกรรมในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบของประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป สำรวจ 2 ประเด็นคือ 1) วัฒนธรรม ค่านิยมสุจริต วิถีการดำเนินชีวิตของคนในสังคมที่ให้คุณค่าต่อความซื่อสัตย์สุจริต ความโปร่งใส การแยกแยะประโยชน์ส่วนบุคคล กับประโยชน์ส่วนรวม ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ 2) ทัศนคติและพฤติกรรมในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ความรู้สึกนึกคิด การแสดงออก และการมีบทบาทจับตามองและแจ้งเบาะแสเมื่อพบเห็นหรือล่วงรู้ว่า จะมีการทุจริต รวมทั้งการไม่กระทำหรือร่วมกระทำการทุจริตทุกรูปแบบ

3. การดำเนินการกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการดำเนินการอย่างใดในหน่วยงานของรัฐ อันอาจนำไปสู่การทุจริต

การศึกษากรณีที่เห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยฯ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ 12 เรื่อง ดังนี้

         1. การเฝ้าระวังกรณีกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง"

         2. การเฝ้าระวังการกำกับดูแลและตรวจสอบโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมของกรมโรงงานอุตสาหกรรม

         3. การศึกษาเพื่อเฝ้าระวังการทุจริต กรณีการจัดซื้อจัดจ้างตามบัญชีนวัตกรรมไทย

         4. การเฝ้าระวังการทุจริตโครงการจัดหาระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ (Water Purifying Unit) รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น กรณีเหตุอันควรสงสัย ว่า มีการดำเนินการที่อาจจะนำไปสู่การทุจริตหรือส่อว่าอาจมีการทุจริตของสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 4

         5. การศึกษาโครงการทางพิเศษสายกะทู้ – ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)

         6. การป้องกันการทุจริตในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

         7. การเฝ้าระวัง กรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปาส่วนภูมิภาค คัดค้านการแก้ไขสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปา กับบริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด

         8. การตรวจสอบข้อมูลกรณีถนนกำแพงเพชร 6 เขตดอนเมือง เสียหาย

         9. การติดตามและวิเคราะห์ข่าวกรณีบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ร้องขอความเป็นธรรมประมูลท่อส่งน้ำ

         10. รายงานผลการตรวจสอบโครงการทัวร์เที่ยวไทย

         11. การศึกษาการดำเนินงานเบิกจ่ายและการบริหารงาน “กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการ”

         12. การศึกษาความผิดปกติในการดำเนิน โครงการถนนกลางทุ่งนาของกรมชลประทาน ซึ่งเกิดขึ้น ในจังหวัดยโสธร

4. การดำเนินการเพื่อการยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ของประเทศไทย

            ป.ป.ช. ได้เห็นความสำคัญของการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตและได้ผลักดันยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 – 2564)ที่มีเป้าประสงค์ให้ได้คะแนน CPI ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีข้อเสนอแนะ เพื่อยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อมีมติมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาเสนอข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ในระยะที่ 1 (พ.ศ. 2560) ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2561) และระยะที่ 3 (พ.ศ. 2563) ต่อคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

                โดยข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต ระยะที่ 3 ประกอบด้วย ข้อเสนอแนะขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ จำนวน 7 ข้อ และข้อเสนอแนะจากการวิเคราะห์  9 แหล่งข้อมูล 5 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการทุจริต ประเด็นสินบน ประเด็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ประเด็นการลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐ และประเด็นความโปร่งใสในระบบงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

ผลการขับเคลื่อน ศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ (Corruption Deterrence Center – CDC) เดือนมกราคม – เมษายน 2565

                มีเรื่องเข้ามาที่ศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ (CDC) จำนวน 102 เรื่อง โดยแบ่งเป็น 5 เขตพื้นที่ แบ่งออกเป็นเรื่องร้องเรียนในพื้นที่ดังนี้

                1. ภาคกลาง จำนวน 23 เรื่อง โดยอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1 ภาค 7 และกรุงเทพมหานคร

                2. ภาคเหนือ จำนวน 16 เรื่อง โดยอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 5 และ ภาค 6 

                3. ภาคใต้ จำนวน 26 เรื่อง โดยอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 8 และ ภาค 9

                4. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 30 เรื่อง โดยอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 3 และ ภาค 4

                5. ภาคตะวันออก จำนวน 7 เรื่อง โดยอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 2

                โดยมีแหล่งที่มา 3 ส่วน ได้แก่

                                1. ข่าวประชาสัมพันธ์ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด     จำนวน      5  เรื่อง

                                2. ชมรม STRONG ต้านทุจริต                                    จำนวน    36  เรื่อง

                                3. สื่อมวลชน / สื่อสังคมออนไลน์                               จำนวน    61  เรื่อง

                ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ได้เข้าไปดำเนินการป้องกัน ป้องปรามการทุจริต ในพื้นที่ต่าง ๆ แล้ว  จำนวน 23 เรื่อง โดยมีตัวอย่าง ดังนี้

                1. กรณีประชาชนตั้งข้อสงสัย โครงการทางลาดลำเลียงผู้โดยสารทุพพลภาพขึ้น – ลง อากาศยาน ณ สนามบินน่านนคร จังหวัดน่าน โดยระบุว่ามีการซื้อแล้วแต่ไม่ได้นำมาใช้งาน ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดน่าน ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า ทางลาดลำเลียงผู้โดยสารฯ ดังกล่าว อยู่ในความรับผิดชอบดูแล ของท่าอากาศยานและมีการนำมาใช้งานตามปกติ ซึ่งขั้นตอนการใช้งานนั้นสายการบินจะต้องประสานมายังท่าอากาศยานเพื่อแจ้งความประสงค์ขอใช้งาน และจากการทดสอบการใช้งานทางลาดลำเลียงผู้โดยสารฯ ดังกล่าว พบว่า สามารถใช้งานได้ตามปกติ

                2. โครงการจ้างก่อสร้างถนนลาดยางผิวทางพาราแอสฟัลท์ติกคอนกรีต สาย พจ.ถ.18-025 DK2 บ้านแหลมสน อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ระยะเวลาผ่านมาเพียง 1 เดือน พบผิวถนนแตกเป็นแนวยาว ซึ่งจากการลงพื้นที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพิจิตร พบว่า ถนนสายดังกล่าว   ยังอยู่ในระยะประกันสัญญา โดยผู้รับจ้างจะต้องรับผิดชอบดำเนินการแก้ไขให้ถนนอยู่ในสภาพที่ไม่ชำรุดเสียหาย เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางสัญจรได้อย่างปลอดภัย ซึ่งผู้รับจ้างจะเข้าดำเนินการซ่อมแซมโดยจะมีผู้เชี่ยวชาญจากแขวงทางหลวงพิจิตรร่วมให้ข้อเสนอแนะเพื่อกำหนดแนวทางในการซ่อมแซมถนนให้เป็นไปตามหลักมาตรฐาน สามารถใช้งานได้โดยไม่เกิดการชำรุดเสียหายอีก ทั้งนี้ หากมีการตรวจพบว่าโครงการดังกล่าวมีการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพิจิตร จะดำเนินการนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการของภารกิจด้านการปราบปรามการทุจริตต่อไป

                3. เครือข่ายเฝ้าระวังการทุจริตภาคประชาชน Facebook เพจ คิด ทำ ทิ้ง เผยแพร่   ข้อมูลโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครศรีธรรมราช กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2562 – 17 กันยายน 2563 แต่ดูจากความคืบหน้าในการก่อสร้างแล้ว เกรงว่าปีนี้จะยังไม่ได้ใช้งาน ซึ่ง สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการก่อสร้างสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครศรีธรรมราช งบประมาณ จำนวน 17,970,000 บาท อยู่ในความรับผิดชอบของ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งนี้ เนื่องจากประสบปัญหาเรื่องแนวเขตที่ดินที่ไม่ชัดเจน และมีสิ่งปลูกสร้างอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ทำการก่อสร้าง จึงทำให้ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้าง เริ่มงานก่อสร้างได้ อีกทั้ง ระหว่างการก่อสร้างผู้รับจ้างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19 ทำให้การดำเนินการก่อสร้างล่าช้าและมีการขอขยายระยะเวลาในสัญญาจ้าง ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แนะนำให้ผู้รับผิดชอบโครงการออกประกาศชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนทราบ และเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จให้เร็วที่สุด

                4. กรณีที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ว่า มีการตัดยอดภูเขาสูงชันทั้งลูก ออกโฉนด ทำทางขึ้นเป็นที่ส่วนบุคคล ติดป้ายห้ามเข้า และให้นายหน้าประกาศขายที่ดินทาง Facebook โดยเหตุเกิดในพื้นที่เทศบาลตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงราย ทราบและลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า พื้นที่เกิดเหตุตั้งอยู่ หมู่ที่ 1 บ้านสบรวก ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย พื้นที่มีลักษณะเป็นภูเขาสูงชัน มีการไถที่ดินเป็นทางรถยนต์เพื่อขึ้นไปบนยอดเขา และบนยอดเขามีการขุดดินและปรับเกลี่ยดินเป็นบริเวณกว้าง โดยที่ดินดังกล่าวเป็นที่มีเอกสารหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) จำนวนเนื้อที่ 24 ไร่ 85 ตารางวา

                จากการตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศโดยเจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) พบว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าน้ำมะและป่าสบรวก” แต่กลับมีหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ซึ่งออกจากแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) และเจ้าของที่ดินเคยขอรังวัด เพื่อออกโฉนดที่ดินแล้ว แต่ไม่สามารถออกได้เนื่องจากที่ตั้งของที่ดินไม่ตรงกับเอกสารสิทธิที่ถือครองอยู่ โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงราย ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ดังกล่าว อาจดำเนินการโดยมิชอบ

                สำหรับกรณีการขุดดินและปรับเกลี่ยดิน พบว่า มีการดำเนินการหลายครั้ง โดยครั้งสุดท้ายเทศบาลตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ได้ออกใบรับแจ้งการขุดดินหรือถมดิน (แบบ ขถด.20) ขุดดินมีความลึกเฉลี่ย 17.70 เมตร พื้นที่ 12,928 ตารางเมตร กำหนดแล้วเสร็จภายใน 365 วัน โดยจะเริ่มขุดดิน ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2557 ซึ่งจากการตรวจสอบสภาพพื้นที่จริงเป็นที่น่าสงสัยว่า เพิ่งมีการขุดดินและปรับเกลี่ยดินได้ไม่นานเนื่องจากร่องรอยยังใหม่ อีกทั้งจากการคำนวณขนาดพื้นที่ขุดดินของเจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) ผ่านระบบภาพถ่ายดาวเทียม ในปี 2564 กลับพบว่ามีปริมาณพื้นที่ขุดดินประมาณ 34,348 ตารางเมตร ซึ่งมากกว่าที่เคยได้รับใบแจ้งจากเทศบาลตำบลเวียง กรณีนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงราย ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ควบคุม กำกับ และตรวจสอบให้ดำเนินการขุดดินเป็นไปตามใบรับแจ้งตามพระราชบัญญัติการขุดดินและการถมดิน พ.ศ. 2543 โดยประเด็นดังกล่าวรวมถึงกรณีการประกาศขายที่ดินทางสื่อสังคมออนไลน์นั้น สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงราย อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ติดตามประสานข้อมูลเอกสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมและจะรวบรวมเสนอให้สำนักไต่สวนคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงาน ป.ป.ช. พิจารณาดำเนินการต่อไป

                                                 

 

.

You may also like

คปภ.ระดมสมอง แก้ไขแนวปฏิบัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ลูกค้าธุรกิจประกันวินาศภัย/ชีวิต

คปภ.ระดม