ปี 68 จีนที่ยวไทย 7.5 ล้านคน
จับตานักท่องเที่ยวจีนเปลี่ยนไป
เกมเจาะตลาดไม่ง่ายอย่างที่ผ่านมา
-
ปี 2568 คาดนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยยังเติบโต และไทยจะยังเป็น 1 ในจุดหมายปลายทางท่องเที่ยว 5 อันดับแรกที่คนจีนเดินทางท่องเที่ยวมากที่สุด แต่การเร่งขึ้นของคนจีนเที่ยวไทยไม่ง่าย จาก 4 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ประเด็นเรื่องความปลอดภัย เศรษฐกิจจีนและค่าเงินหยวนผันผวน การแข่งขันดึงนักท่องเที่ยวจีน เทรนด์นักท่องเที่ยวจีนเปลี่ยนไป
-
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าทั้งปี 2568 นักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยจะมีจำนวน 7.5 ล้านคน เติบโต 11.4% จากปี 2567 หรือกลับมา 68% ของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยในปี 2562 (11.1 ล้านคน)
ปี 2568 นักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยเติบโตดีขึ้น จากมาตรการวีซ่าฟรี และแรงหนุนจากการที่ไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ค่าใช้จ่ายไม่สูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศ (รูปที่ 1) จากข้อมูลเบื้องต้นของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในช่วงวันที่ 1-19 มกราคม 2568 ชาวจีนเดินทางมาท่องเที่ยวมีจำนวนกว่า 3.5 แสนคน เติบโตประมาณ 14.2% (YoY)
รูปที่ 1 ราคาแพ็คเกจทัวร์และตั๋วโดยสารเครื่องบินจากจีนมาไทยไม่สูงเทียบกับหลายประเทศ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปี 2568 นักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยจะอยู่ที่ประมาณ 7.5 ล้านคน เติบโต 11.4% จากปี 2567 หรือกลับมา 68% ของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยทั้งหมดในปี 2562 (รูปที่ 2)
รูปที่ 2 นักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยในปี 2568 มีแนวโน้มเติบโต
การเติบโตของนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยในปี 2568 ยังมีความท้าทาย จาก 4 ปัจจัย ดังนี้
– ภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย เป็นประเด็นที่ทางการไทยควรเร่งฟื้นความเชื่อมั่นในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบระยะยาว แม้ประเทศไทยยังคงเป็น 1 ใน 5 จุดหมายปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวจีน แต่จากผลสำรวจพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนโดย Oliver Wyman มองว่าประเทศไทยซึ่งเป็นที่นิยมมายาวนาน กลับได้รับความนิยมลดลง เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนมีความกังวลด้านความปลอดภัยที่เพิ่มสูงขึ้น สะท้อนได้จากกรณีที่เกิดขึ้นกับดาราจีนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้คนจีนมีการยกเลิกการเดินทางมาเที่ยวในไทย หรือมองหาจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวใหม่
– เศรษฐกิจจีนมีความเสี่ยงจากสงครามการค้า กำลังซื้อชาวจีนบางกลุ่มยังไม่ฟื้นตัว และค่าเงินหยวนที่ผันผวนในทิศทางอ่อนค่า ทำให้ในปี 2568 ทิศทางการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของคนจีนอาจยังไม่กลับสู่ระดับก่อนโควิดปี 2562 (จำนวน 155 ล้านทริป) และคนจีนจะมีการเปรียบเทียบจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับงบประมาณ ซึ่งก็อาจมีผลต่อการเดินทางมาท่องเที่ยวที่ไทย โดยในช่วงที่ผ่านมา ประเทศที่มีค่าเงินที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินหยวนมีอัตราการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนดีกว่าไทยที่มีค่าเงินแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินหยวน (รูปที่ 3 และ 4)
รูปที่ 3 ทิศทางค่าเงินหยวนเทียบกับสกุลเงินในประเทศที่นักท่องเที่ยวจีนเดินทางไป
ที่มา: https://www.investing.com/
– การแข่งขันด้านการท่องเที่ยวที่สูง สะท้อนได้จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนในหลายประเทศดีกว่าไทย และในปี 2567 ประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนสูงกว่าไทยแล้ว (รูปที่ 4) ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศใช้นโยบายวีซ่าฟรีเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจีน ข้อมูลจาก VisaIndex พบว่า มี 44 ประเทศที่คนจีนสามารถเดินทางไปเที่ยวโดยไม่ต้องขอวีซ่า และ 36 ประเทศที่สามารถขอวีซ่าได้ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ทำให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางสะดวกและมีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้น
รูปที่ 4 ในปี 2567 นักท่องเที่ยวจีนเที่ยวญี่ปุ่นมีจำนวนมากกว่าไทย และหลายประเทศมีการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนดีกว่าไทย
– การเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนเปลี่ยนไป ความต้องการที่หลากหลาย ประกอบกับสื่อสังคมออนไลน์มีผลต่อการเลือกจุดหมายปลายทางท่องเที่ยว ทำให้การเจาะตลาดนักท่องเที่ยวจีนไม่ใช่เรื่องง่าย การเดินทางท่องเที่ยวของคนจีนมีการปรับเปลี่ยนไปมากหลังโควิด เทรนด์สำคัญ อาทิ การเดินทางท่องเที่ยวเอง หรือกรุ๊ปทัวร์ขนาดเล็ก ซึ่งมีความคล่องตัวในการท่องเที่ยว ระยะเวลาการตัดสินใจวางแผนเดินทางท่องเที่ยวประมาณ 1 เดือน (ผลจากมาตรการวีซ่าฟรี) มองหาจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ระหว่างท่องเที่ยวอย่างแหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม สะท้อนได้จาก การเติบโตของนักท่องเที่ยวจีนในจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวรองๆ อย่างจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวกาตาร์เติบโตกว่าปี 2562 หรือสายการบินระหว่างจีนกับประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวรองๆ เพิ่มขึ้น (รูปที่ 5) และจากข้อมูลของ Dragon Trial พบว่า การจองทริป หรือการค้นหาข้อมูลของนักท่องเที่ยวจีนมีความหลากหลายและแนวโน้มไปยังตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือจะเพิ่มมากขึ้น
รูปที่ 5 จำนวนเที่ยวบินระหว่างจีนและประเทศต่างๆ มีแนวโน้มเติบโตดี ตามแนวโน้มการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีน
Social Links