ป.ป.ช.แจง การเป็นเจ้าภาพจัดประชุม APEC
“นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยี่เพื่อต่อต้านการทุจริต”
ในปี 2565 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ปัจจุบันเอเปคมีสมาชิกเขตเศรษฐกิจรวมทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ โดยสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการประชุมคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการทุจริตและความโปร่งใสในกรอบเอเปค (APEC Anti-Corruption and Transparency Experts Working Group: APEC ACTWG) จัดขึ้นปีละสองครั้ง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และเดือนสิงหาคม
เมื่อวันที่ 14 – 15 กุมภาพันธ์ 2565 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการภายใต้กรอบเอเปค หัวข้อ “นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีเพื่อการต่อต้านการทุจริต” ในรูปแบบผสมผสาน (Hybrid Event) ณ สำนักงาน ป.ป.ช. (สนามบินน้ำ) มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศในการดำเนินการต่อต้านการทุจริต และยกระดับศักยภาพเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานด้านการต่อต้านการทุจริต เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน เท่าทันต่อยุคเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสาร โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ เป็นโครงการที่ประเทศไทยโดยสำนักงาน ป.ป.ช. เสนอเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นภายใต้กรอบคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการทุจริตและความโปร่งใสของเอเปคเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม และได้ผ่านการรับรองจากทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค รวมทั้งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากเอเปค มีผู้เข้าร่วมการประชุมในรูปแบบออนไลน์ จากหน่วยงานภาครัฐของไทย และหน่วยงานต่อต้านการทุจริตของสมาชิกเขตเศรษฐกิจ 17 เขตเศรษฐกิจ ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ และผู้แทนจากหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกว่า 150 คน
ในช่วงอภิปรายทั้ง 2 วัน สำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเกียรติจาก ผู้แทนสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย เข้าร่วมอภิปราย นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้มีการนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีและข้อเสนอแนะในทางปฏิบัติ รวมทั้งกรณีศึกษาเพื่อรับมือความท้าทายและข้อจำกัดในเขตเศรษฐกิจของตน จากผู้แทนเขตเศรษฐกิจสมาชิก
ต่อมาในวันที่ 17 และ 18 กุมภาพันธ์ 2565 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการทุจริตและความโปร่งใสในกรอบเอเปคครั้งที่ 34 (APEC ACTWG) และการประชุมเครือข่ายหน่วยงานต่อต้านการทุจริตและบังคับใช้กฎหมายภายใต้กรอบเอเปคครั้งที่ 9 (ACT-NET) โดยมีประธานกรรมการ ป.ป.ช. ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ซึ่งทั้ง 2 การประชุมดังกล่าวเป็นเวทีสำหรับสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวโน้มหรือสถานการณ์การทุจริตที่กำลังเป็นประเด็นหรืออยู่ในความสนใจ รวมถึงแบ่งปันประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการดำเนินการต่อต้านการทุจริตและเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาค โดยผลลัพธ์ของการประชุมจะเป็นประโยชน์ในการให้แต่ละเขตเศรษฐกิจนำไปพัฒนาต่อยอดหรือปรับปรุงมาตรการต่อต้านการทุจริตภายในเขตเศรษฐกิจของตน
สำหรับการประชุม ACTWG ครั้งที่ 34 คณะทำงานได้รับรองแผนงานและกิจกรรมที่จะดำเนินการในปี 2565 รวมถึงการหารือระหว่างสมาชิกเกี่ยวกับร่างแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวตั้งแต่ปี 2566 ถึง 2569 ที่จัดทำโดยประเทศไทย เพื่อกำหนดกรอบทิศทางความร่วมมือระหว่างกันของคณะทำงาน ACTWG ในอีก 4 ปีข้างหน้า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับข้อมูลและความคิดเห็นจากสมาชิกและจะรับรองร่างสุดท้ายในการประชุม ACTWG ครั้งต่อไปในเดือนสิงหาคม นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้สมาชิกได้รายงานความคืบหน้าในการต่อต้านการทุจริต รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ โดยผู้แทนของ ป.ป.ช. ยังได้รายงานความก้าวหน้าของประเทศไทยเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (UNCAC) และมาตรฐานสากล
ในการประชุม ACT-NET ครั้งที่ 9 สมาชิกได้แบ่งปันและหารือเกี่ยวกับประสบการณ์เกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับคดีทุจริต โดยไทยได้รายงานถึงการดำเนินการตามคำร้องขอความช่วยเหลือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา รวมถึงการให้ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่อต้านการทุจริต ในการติดตามทรัพย์สินคืน การปฏิเสธการให้ที่พักพิงแก่เจ้าหน้าที่รัฐผู้ทุจริตและทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด
สำนักงาน ป.ป.ช. คาดหวังว่า การประชุม APEC ครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยในการสร้างความโปร่งใสและมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ส่วนในเดือนสิงหาคม สำนักงาน ป.ป.ช. จะเป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการทุจริตและความโปร่งใส (APEC ACTWG) ครั้งที่ 2 ซึ่งหากสถานการณ์ดีขึ้น จะจัดการประชุมขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และนอกจากนี้ จะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อ “การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสื่อในการต่อต้านการทุจริต” ซึ่งขณะนี้ได้รับการรับรองจากเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคแล้วและอยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาการให้งบประมาณสนับสนุนจากเอเปค
Social Links