ผลสำรวจพบ”ผู้บริโภคมากกว่าครึ่ง”หวังซื้อบ้านใน 1 ปีข้างหน้า เป็นสัญญาณฟื้นตัวของอสังหาฯ จริงหรือ?

ผลสำรวจพบ”ผู้บริโภคมากกว่าครึ่ง”หวังซื้อบ้านใน 1 ปีข้างหน้า เป็นสัญญาณฟื้นตัวของอสังหาฯ จริงหรือ?

ผลสำรวจพบ”ผู้บริโภคมากกว่าครึ่ง”หวังซื้อบ้านใน 1 ปีข้างหน้า

เป็นสัญญาณฟื้นตัวของอสังหาฯ จริงหรือ?

            เศรษฐกิจไทยในเวลานี้อยู่ในภาวะเปราะบาง อันเนื่องจากปัจจัยท้าทายที่ยืดเยื้อจากการแพร่ระบาดฯ ผนวกกับภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ล้วนฉุดให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ และเมื่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงแผนการเงินของผู้บริโภค และกลายเป็นความท้าทายระลอกใหม่ของผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในเวลานี้ ซึ่งต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและตัดสินใจอย่างถี่ถ้วนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ของภาครัฐ พร้อมทั้งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยบวกที่ดึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาอีกครั้ง ข้อมูลจากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) เดือนสิงหาคม 2565 ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 43.7 จากระดับ 42.4 ในเดือนก่อนหน้า ถือเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน

                ขณะที่ตลาดอสังหาฯ แม้ไม่ได้มีการเติบโตหวือหวา แต่เห็นสัญญาณบวกจากการที่ผู้พัฒนาโครงการอสังหาฯ กลับมาเปิดตัวโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง และพัฒนาโครงการให้ตอบโจทย์คนหาบ้านในยุคนี้มากขึ้น ข้อมูลจากแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัย DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นด้านอสังหาริมทรัพย์ของผู้บริโภคชาวไทยปรับเพิ่มมาอยู่ที่ 51% จากเดิมที่มีเพียง 45% ในรอบก่อน สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการเติบโตที่ดีขึ้นในตลาดอสังหาฯ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการต่ออายุมาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาฯ รวมทั้งการที่ผู้ประกอบการยังเลือกตรึงราคาที่อยู่อาศัยให้เหมาะกับกำลังซื้อในช่วงนี้ จึงทำให้กลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง (Real Demand) ที่มีความพร้อม สามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้ในราคาที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังพบว่าความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้นเป็น 67% จากเดิม 62% ในรอบก่อน ส่งสัญญาณการกลับมาฟื้นตัวของดีมานด์ฝั่งคนหาบ้านที่เริ่มเชื่อมั่นในการใช้จ่ายอีกครั้ง

ไขคำตอบ คนไทยพร้อมเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยหรือยัง?

                ข้อมูลจากแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัย DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด พบว่า ผู้บริโภคมากกว่าครึ่ง (57%) วางแผนจะซื้อที่อยู่อาศัยภายใน 1 ปีข้างหน้านี้ ขณะที่อีก 7% ยังคงเลือกเช่าที่อยู่อาศัยต่อไป ส่วน 35% ยังไม่มีการวางแผนซื้อหรือเช่าที่อยู่อาศัยในช่วงนี้

                ส่วนเหตุผลสำคัญอันดับต้น ๆ ของกลุ่มผู้ที่ตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่ต้องการเพิ่มพื้นที่ใช้สอยเพื่อรองรับการอยู่อาศัยเป็นหลัก โดย 43% ต้องการพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น รองลงมาคือต้องการเพิ่มพื้นที่รองรับบุตรหลาน/พ่อแม่ และซื้อไว้เพื่อลงทุนในสัดส่วนที่ไล่เลี่ยกัน (30% และ 29% ตามลำดับ)

             อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาความพร้อมในการวางแผนการเงินก่อนเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย พบว่ามีผู้บริโภคเพียง 1 ใน 4 (25%) เท่านั้นที่มีเงินเก็บเพียงพอในการซื้อบ้าน/คอนโดฯ ขณะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ (47%) ยังเก็บเงินได้เพียงครึ่งทางเท่านั้น ส่วนอีก 22% ยังไม่ได้เริ่มวางแผนออมเงินใด ๆ สะท้อนให้เห็นว่าแม้ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะมีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในอนาคตอันใกล้นี้ แต่หากขาดการวางแผนทางการเงินที่รอบคอบก็ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลเมื่อต้องเป็นหนี้ก้อนใหญ่ในอนาคต

                นอกจากนี้ พบว่าสภาพคล่องทางการเงินถือเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคจำเป็นต้องเช่าที่อยู่อาศัยต่อไป โดยเกือบครึ่ง (48%) ของผู้ที่เลือกเช่าที่อยู่อาศัยใน 1 ปีข้างหน้า เผยว่าไม่มีเงินเก็บเพียงพอในการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ส่วนเกือบ 2 ใน 5 (39%) เลือกที่จะเช่าเพราะมีความยืดหยุ่นมากกว่า ขณะที่ 1 ใน 4 ยังมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องซื้อบ้าน/คอนโดฯ ในเวลานี้ (27%) และมองว่าที่อยู่อาศัยมีราคาแพงไป จึงเลือกเก็บออมเงินไว้มากกว่าที่จะซื้อที่อยู่อาศัยตอนนี้ (25%)

เจาะลึกความท้าทายของคนหาบ้าน สั่นคลอนแผนซื้อที่อยู่อาศัยมากน้อยแค่ไหน

                ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย เผยข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัย DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด สะท้อนทัศนคติและมุมมองคนหาบ้านชาวไทยที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัยปัจจุบัน ท่ามกลางความท้าทายที่ถาโถมรอบด้าน ซึ่งล้วนสร้างความกังวลและสั่นคลอนแผนการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย

•             “การเงิน” ความท้าทายหลักเมื่อคิดซื้อบ้าน การซื้อที่อยู่อาศัยแม้จะมีราคาสูงและระยะเวลาผ่อนชำระยาวนาน แต่ถือเป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญ ท่ามกลางความท้าทายรอบด้านที่ส่งผลโดยตรงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและกระทบมาสู่ผู้บริโภคอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทำให้เกิดการขาดสภาพคล่องทางการเงินตามไปด้วย ข้อมูลจากผลสำรวจ CHAMBER BUSINESS POLL: “สถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2565” ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ปีนี้คนไทยมีหนี้สินถึง 99.6% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์นับจากที่มีการสำรวจมาตั้งแต่ปี 2550 และพบว่าเป็นหนี้จากที่อยู่อาศัย 35.7% ซึ่งสอดคล้องกับแบบสอบถามฯ DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study ที่เผยว่า ผู้บริโภคถึง 4 ใน 5 (80%) ยังคงต้องเผชิญความท้าทายจากปัญหาการเงินเมื่ออยากมีบ้าน โดยความท้าทายอันดับต้น ๆ มาจากการหาแหล่งเงินกู้ในการซื้อที่อยู่อาศัย (54%) และยื่นขอกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยได้ยากขึ้น (44%) ดังนั้น คนซื้อบ้านในยุคนี้จึงจำเป็นต้องวางแผนการเงินอย่างรอบคอบ พร้อมทั้งประเมินภาระค่าใช้จ่ายให้รอบด้านก่อนตัดสินใจ

•             อย่าผลีผลามเมื่อเจอที่อยู่อาศัยในทำเลที่ถูกใจ ระวังเหตุไม่คาดฝัน การเลือกทำเลที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตเป็นความท้าทาย โดยผู้บริโภคมากกว่าครึ่ง (53%) มองว่าการหาทำเลที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมถือเป็นเรื่องท้าทายและใช้เวลาค้นหาไม่น้อย ซึ่งนอกจากจะต้องเดินทางสะดวก อยู่ในทำเลที่มีความเจริญ รายล้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครันเพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับอสังหาฯ ได้ในอนาคตแล้ว นอกจากนี้ อีกข้อสำคัญควรพิจารณาคือข้อมูลและข่าวสารว่าทำเลนั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุไม่คาดฝันที่ไม่เป็นผลดีมากน้อยเพียงใด เช่น พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก/อุทกภัย พื้นที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีเมื่อมีเหตุโรงงานไฟไหม้หรือระเบิด ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้มีผลต่อทั้งผู้อยู่อาศัยและโครงการอสังหาฯ เอง นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงผังเมือง หรือแผนการเวนคืนอสังหาฯ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งก็เป็นอีกประเด็นที่ควรศึกษาเช่นกัน เพื่อให้สามารถคัดเลือกที่อยู่อาศัยในทำเลที่ถูกใจและอยู่ได้ในระยะยาว

•             “เงินเฟ้อพุ่ง ดอกเบี้ยสูง” ฉุดคนชะลอซื้อบ้านหลังที่สอง นอกเหนือจากผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาต่อเนื่องแล้ว ในปีนี้ยังมีความท้าทายจากสถานการณ์เงินเฟ้อและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเข้ามาสร้างความกังวลให้ผู้บริโภคอีกระลอก ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของเดือนสิงหาคม 2565 อยู่ที่ 7.86% ถือเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 14 ปี ซึ่งส่งผลให้ค่าครองชีพของผู้บริโภคปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเมื่อ กนง. มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จึงยิ่งสร้างความกังวลใจและกระทบกลุ่มผู้ซื้อที่อยู่อาศัยไม่น้อยเมื่อต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยอยู่แล้วและวางแผนซื้อบ้านหลังที่สองเพิ่มในอีก 1 ปีข้างหน้า มากกว่าครึ่ง (59%) เผยว่าจะชะลอการซื้อที่อยู่อาศัยออกไปหากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เช่นเดียวกับอีก 58% ที่เลือกชะลอแผนการซื้อไปก่อนเช่นกันหากเงินเฟ้อยังไม่กลับสู่ระดับปกติ เพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินปัจจุบันและรอประเมินสถานการณ์ในอนาคต

•             หวังภาครัฐช่วยลดดอกเบี้ย จูงใจซื้อบ้านยุคเงินเฟ้อ แม้ปีนี้คนหาบ้านจะได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อตั้งแต่ต้นปี แต่เมื่อพิจารณาภาพรวมจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ แล้ว พบว่าช่วงเวลานี้ยังคงเป็นโอกาสที่ดีในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย โดยข้อมูลจากแบบสอบถามฯ เผยว่าผู้บริโภคมากกว่า 4 ใน 5 คาดว่าอัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อ และราคาที่อยู่อาศัยจะมีการปรับเพิ่มขึ้นภายใน 1 ปีข้างหน้า ดังนั้น การมีมาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาฯ จากภาครัฐจึงเปรียบเสมือนประตูที่เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น เมื่อเจาะลึกถึงมาตรการช่วยเหลือและสนับสนุนที่คนหาบ้านคาดหวังจากภาครัฐท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อสูงในตอนนี้ พบว่า กว่า 3 ใน 5 (62%) ต้องการให้ภาครัฐออกมาตรการลดดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านเพิ่มเติมอีก ขณะที่มากกว่าครึ่ง (58%) ต้องการให้มีมาตรการลดดอกเบี้ยทั้งสินเชื่อบ้านที่กู้ใหม่และที่มีอยู่ ตามมาด้วยคาดหวังว่าจะมีมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรก (44%) เพื่อส่งเสริมการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในกลุ่มวัยเริ่มต้นทำงานและเริ่มสร้างครอบครัว ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในกลุ่มผู้บริโภคอายุระหว่าง 22-29 ปี

 

You may also like

มาสเตอร์การ์ดเปิดตัว Pay Local เพิ่มช่องทางผู้ให้บริการกระเป๋าเงินดิจิทัลในเอเชีย รับชำระเงินจากผู้ถือบัตรมาสเตอร์การ์ดกว่า 2 พันล้านราย

มาสเตอร์