พีพีทีวี เปิดเวทีเสวนาระดมสมอง
ชูแนวคิด“ข้อมูลสาธารณะ”
เป็นอาวุธพิฆาตคอร์รัปชันยุคดิจิทัล
ภาพข่าวการปราบปรามคอร์รัปชันในประเทศที่ปรากฏเป็นข่าวอื้อฉาวหลายกรณีสะท้อนให้เห็นปัญหาการทุจริตที่ยังซุกซ่อนอยู่ มิหนำซ้ำยังมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น ขณะที่ผลการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบเมื่อปี 2565 อยู่ในขั้นวิกฤตในการบรรลุเป้าหมาย นี่เป็นโจทย์ใหญ่และความท้าทายที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อหยุดยั้ง และกอบกู้ภาพลักษณ์ เรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา
กองทุน ป.ป.ช. ได้จัดเวทีเสวนาระดมผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการมากประสบการณ์ และองค์ความรู้ มาผนึกกำลังกันเพื่อสะท้อนปัญหา ระดมความคิดเห็น และข้อเสนอแนะในการแก้ไข ป้องกัน และปราบปรามการคอร์รัปชันเพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ในหัวข้อ ลงทุนไทยไร้สินบน : ปลดล็อกข้อมูลรัฐ จุดเปลี่ยนปราบโกง (Open Government : Game Changer in Fight against Corruption)
โดยได้รับเกียรติจาก นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ อาวุธปราบโกงยุคดิจิทัล” “การมีคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารนั้นจะช่วยให้ การเข้าถึง การพยายามทำให้การเข้าถึงข้อมูลเป็นเรื่องง่าย ประชาชนได้รับความเป็นธรรมในการรับบริการต่าง ๆ จากทางรัฐ มีการใช้ตัวชี้วัดจากหน่วยงานรัฐ Open data ในเรื่องของความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การประกวดราคา เป็นสิทธิที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ ส่งผลให้วาระซ่อนเร้นลดน้อยลง ทำให้การเพิกเฉยต่อการคอร์รัปชั่นลดลง จากการที่ทุกคนสามารถที่จะตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐได้”
ชัชชาติย้ำ Open data ช่วยสร้างความเชื่อใจและสร้างศรัทธา
จากนั้นเป็นการเปิดวงเสวนา ในหัวข้อ “ปลดล็อกข้อมูลรัฐ จุดเปลี่ยนปราบโกง” โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ให้ความสำคัญในเรื่องของ Open Bangkok คือ Open data การเปิดเผยข้อมูล เป็นสิ่งสำคัญต้องมีการเปิดเผย มิใช่การเผยแพร่ ข้อมูลเปรียบเสมือนไฟฉายที่ทำให้เราเห็นช้างที่อยู่ในมุมมืด และต้องวัดได้ เทคโนโลยีในส่วนของการเก็บข้อมูลด้วย Format เดียวกัน การอ่านข้อมูล การประมวลข้อมูล การทำ Dashboard จะช่วยให้ทุกอย่างง่ายยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินธุรกิจอีกด้วย เช่น ข้อมูลความเสี่ยงในพื้นที่ต่าง ๆ สัญญาจัดซื้อจัดจ้าง อำนาจต่อรองต่าง ๆ AI สามารถวิเคราะห์ได้เลย จากการเปิดเผยข้อมูลทำให้เรามีแนวร่วมจากพลังมหาชนที่มีมหาศาลเข้ามาช่วยวิเคราะห์หาความผิดสังเกตุจากฝ่ายบริหารที่มันตัวแปรซ่อนอยู่ในเชิงนโยบาย ถ้าเราสามารถสร้างความไว้วางใจกับประชาชนได้สุดท้ายเราจะได้แนวร่วมมหาศาล การที่เรา Open data มันคือการสร้างความเชื่อใจ สร้างศรัทธา ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดที่จะทำให้เกิดรัฐที่โปร่งใส รัฐที่ประชาชนมีส่วนร่วม ทำให้หน่วยงานไม่กล้าทุจริต ไม่กล้ากระทำผิด และการแจ้งเรื่องทุจริตผ่านทาง Traffy Fondue เป็นโปรแกรมง่าย ๆ เรื่องที่ประชาชนร้องเรียนมาในเรื่องต่างๆ จะไม่ถูกหมกอยู่ใต้พรมอีกต่อไป ลดความล่าช้าในการปฏิบัติงานอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นการแสดงความโปร่งใสในการให้บริการอีกทาง”
“เราต้องมีการร่วมมือร่วมใจจากทุกส่วน 4 เกลียวที่ร่วมใจกัน ภาครัฐ ประชาชน เอกชน และภาควิชาการ ทำให้เกิดความแข็งแรงขึ้นในสังคมต่อการต่อต้านคอร์รัปชั่นและความโปร่งใส”
ดร.ต่อตระกูลเสนอให้เปิดเผยข้อมูลนักการเมืองอย่างต่อเนื่อง
รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค กรรมการมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล ที่จะมาสัมมนาในเรื่องของ “การเปิดเผยข้อมูลมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จของการต่อต้าน ปราบปรามคอร์รัปชันของประเทศต่าง ๆ ที่ทำได้สำเร็จทุกประเทศคือต้องมีรัฐบาลที่เข้ามาโดยสุจริต ไม่ต้องลงทุนใช้จ่ายเงินสนับสนุนหรือต้องได้รับเงินสนับสนุนจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ทีต้องชดใช้บุญคุณเมื่อได้มีอำนาจอยู่ในมือ”
“ข้อมูลที่สำคัญคือข้อมูลของผู้แทนราษฎร นักการเมืองที่มีตำแหน่งในรัฐบาล ที่ชี้ให้เห็นว่าเมื่อตอนเข้ามารับตำแหน่งมีทรัพย์สินเท่าไหร่ เมื่อหมดวาระแล้วเพิ่มขึ้นขนาดไหน มันเห็นชัดเจน ที่ประชาชนควรรับทราบและติดตามได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อยู่ที่ ป.ป.ช. หากติดเรื่องข้อกฎหมายก็ต้องแก้ คนในตำแหน่งสูงมีอำนาจมีอิทธิพลไม่ว่าจะทำอะไร ก็ควรจะต้องนำข้อมูลม้าปิดเผย นี่คือสิ่งสำคัญที่อยากฝากไว้”
“การส่งต่อข้อมูลต้องเป็นมาตรฐาน ข้อมูลเป็น Digital data ที่ทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น และข้อมูลต้องมีความสมบูรณ์ อัพเดตตลอดเวลา และมีครบทุกมิติ เมื่อข้อมูลถูกเปิดประชาชนก็จะเข้าถึงได้”
ดร.อนุสรณ์แนะทุกฝ่ายร่วมมือกันทั้งภาครัฐ สื่อ และประชาชน
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้ให้ทัศนะไว้ว่า “การจะแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นได้จะต้องได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ป.ป.ช. หน่วยงานเดียวไม่สามารถแก้ไขได้ ผู้นำเพียงคนเดียวก็ไม่สามารถแก้ไขได้ ต้องเป็นทั้งองคาพยพของกลุ่มผู้นำทางการเมือง แล้ว ป.ป.ช.ก็เข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญร่วมกับสื่อมวลชน และภาคประชาชน การกระจายอำนาจจะนำไปสู่ Open government ที่ภาครัฐจะทำงานอย่างโปร่งใส ลดทุจริต และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เป็นส่วนนึงในระบบการปกครองที่ดี ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี กระแสประชาธิปไตยทางตรง การบริหารแบบมีส่วนร่วม จะทำให้เป็นความโปร่งใสที่เปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน เพราะสามารถตรวจสอบภาครัฐได้ ที่สำคัญเราต้องยกย่องคนดี คนซื่อสัตย์ให้เป็น Role Model สังคม ‘ต้อง’ ให้ความสำคัญเรื่องนี้ให้เป็นแบบอย่างที่ถูกต้อง ต้องโอบอุ้ม Blockchain เพื่อเป็นการนำไปปฏิรูปในการทำธุรกรรมต่างๆ กับหน่วยงานภาครัฐ เทคโนโลยีใหม่ ๆ สามารถเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นได้”
รองประธานส.อ.ท.ชี้พลังโซเชียลมีเดียช่วยลดคอร์รัปชั่นขนาดเล็ก
นายกิตติ ตั้งจิตรมณีศักดา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย “ที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่า คอร์รัปชั่นใหญ่ที่มีความซับซ้อนเชิงนโยบายจะยังคงอยู่ แต่ที่เห็นได้ชัดเจนเลยคือ คอร์รัปชั่นเล็ก ๆ น้อย ๆ ลดลง เพราะด้วยเทคโนโลยี โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาท ทุกคนเป็นนักสืบ เป็นผู้สื่อข่าวออนไลน์ เมื่อทุกคนช่วยกันก็ทำให้ทุจริตเหล่านี้หายไป ต้องมีการปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมาย ลดเรื่องการขอใบอนุญาต ลดการใช้อำนาจการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ลง มีการกำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจนและมีประสิทธิภาพเข้ามาทดแทน โทษต้องหนักและปรับให้ได้จริง ๆ ประชาชนต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นมา ปัญหาการคอร์รัปชั่นก็จะลดลงได้ คนโกงต้องถูกประณามไม่ใช่การได้รับเกียรติยังมีคนยกมือไหว้ เรื่องลักษณะนี้ต้องหมดไป และในส่วนของเอกชนที่ได้มีการแสดงนโยบายเผยแพร่ต่อสาธารณชนว่าเป็นองค์กรที่ต่อต้านคอร์รัปชั่น ได้กระทำอย่างจริงจังหรือไม่ เราทุกคนควรมีหน้าที่ที่ต้องช่วยกัน”
โดยมี ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน เป็นผู้ดำเนินรายการสัมมนาและนำซักถาม
Social Links