“มนพร”ย้ำห่วงความปลอดภัยช่วง”ลอยกระทง” กำชับ“กรมท่าอากาศยาน” เข้มมาตรการปล่อยโคมลอยใกล้สนามบิน

“มนพร”ย้ำห่วงความปลอดภัยช่วง”ลอยกระทง” กำชับ“กรมท่าอากาศยาน” เข้มมาตรการปล่อยโคมลอยใกล้สนามบิน

“มนพร”ย้ำห่วงความปลอดภัยช่วง”ลอยกระทง”

กำชับ“กรมท่าอากาศยาน”

เข้มมาตรการปล่อยโคมลอยใกล้สนามบิน

 รชค.มนพร” ห่วงความปลอดภัยเดินทางช่วงลอยกระทง กำชับกรมท่าอากาศยานเข้มมาตรการปล่อยโคมลอยใกล้รัศมีสนามบิน พร้อมเฝ้าระวัง 24 ชม.

ดร.มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้กำชับให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ตระหนักถึงความปลอดภัยของอากาศยานและผู้โดยสารในช่วงเทศกาลลอยกระทงที่มีการปล่อยโคมลอยและโคมไฟในหลายพื้นที่ พร้อมนี้ได้สั่งการให้ท่าอากาศยานในสังกัดเพิ่มการดูแลและอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเฝ้าระวังในพื้นที่เขตปลอดภัยในการเดินอากาศ ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงต่อแนวร่อนของอากาศยานที่ทำการขึ้น – ลง ตลอด 24 ชั่วโมง และยึดถือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการจุดพลุ และปล่อยโคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกันไปบนอากาศ รวมถึงให้ร่วมบูรณาการกับจังหวัดในการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากประชาชน และทุกภาคส่วนให้ระมัดระวัง หรือหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการปล่อยวัตถุอันตรายขึ้นสู่ท้องฟ้าทั้งการปล่อยโคมลอย โคมไฟ โคมควัน พลุ หรือวัตุอื่นใดที่คล้ายคลึงกันขึ้นไปสู่อากาศอย่างเคร่งครัด เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่ออากาศยาน และการมองเห็นของนักบินในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ โดยเฉพาะบริเวณสนามบินและพื้นที่ใกล้เคียง

นายดนัย เรืองสอน อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวเสริมว่า ทย. ได้แจ้งมาตรการในการควบคุม และป้องกันอันตรายจากการปล่อยโคมลอย โคมควัน ในช่วงเทศกาลลอยกระทง ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 27/2559 เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการจุดและปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน และตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 มาตรา 59/1 และ 59/2 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา109/1 มาตรา 109/2 และมาตรา 109/3 แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ซึ่งหากผู้ใดฝ่าฝืน มีผลทางกฎหมายในการกำหนดโทษ ดังนี้

มาตรา 109/1 ผู้ใดจุดและปล่อยหรือกระทำการใดเพื่อให้บั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ขึ้นไปสู่อากาศซึ่งเป็นการรบกวนหรือก่อให้เกิดอันตรายต่อการเดินอากาศหรือปฏิบัติการของอากาศยานภายในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 59/1 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 109/2 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 59/2 หรือประกาศที่ผู้อำนวยการประกาศตามมาตรา 59/2 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 120,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 109/3 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศตามมาตรา 59/3 วรรคหนึ่งหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในมาตรา 59/3 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รวมถึงพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2558 มาตรา 18 (2) ได้ระบุว่า ผู้ใดกระทำการให้อากาศยานในระหว่างบริการเสียหาย จนเป็นเหตุให้อากาศยานนั้นไม่สามารถทำการบินได้หรือเป็นเหตุหรือน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อความปลอดภัยของอากาศยานในระหว่างบิน ต้องระวางโทษประหารชีวิตจำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 600,000 บาท ถึง 800,000 บาท และตามประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เรื่อง การดำเนินกิจกรรมภายในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ พ.ศ. 2563 ห้ามมิให้การปล่อยโคมลอย โคมไฟ โคมควัน บั้งไฟ พลุ ตะไล หรือวัตถุอื่นใด ที่คล้ายคลึงกันขึ้นไปสู่อากาศโดยเด็ดขาด รวมถึงห้ามปล่อยแสงเลเซอร์ในบางพื้นที่ และประกาศ กพท. เรื่อง แนวทางในการพิจารณาอนุญาตให้อากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอกทำการบินภายในระยะ 9 กิโลเมตร (ห้าไมล์ทะเล) จากสนามบินหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยาน พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดให้ผู้บังคับหรือปล่อยโดรนต้องขออนุญาตจากผู้มีอำนาจอนุญาตตามกฎหมายก่อนทุกครั้งและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด

ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่นอกเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ ขอให้ผู้ที่ต้องการปล่อยโคมลอยฯ ตรวจสอบรายละเอียดในข้อบัญญัติตามกฎหมายของกระทรวงมหาดไทยแต่ละจังหวัด ซึ่งจะระบุรายละเอียดของพื้นที่ที่สามารถอนุญาตปล่อยได้  โดยในการจะปล่อยนั้นต้องดำเนินการขออนุญาตล่วงหน้าจากผู้อำนวยการเขต หรือนายอำเภอในพื้นที่นั้น ๆ ล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน

You may also like

คปภ.เดินหน้า! เปิดเวทีสัมมนาวิชาการด้านประกันภัย ประจำปี 2567 “Thailand Insurance Symposium 2024”

 นายชูฉั