“มองเศรษฐกิจภาคเหนือปัจจุบัน เตรียมพร้อมสู่อนาคต”

“มองเศรษฐกิจภาคเหนือปัจจุบัน เตรียมพร้อมสู่อนาคต”

“มองเศรษฐกิจภาคเหนือปัจจุบัน เตรียมพร้อมสู่อนาคต”

โดย พรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง

ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ (สภน.)

ในอดีตที่ผ่านมา การเติบโตของเศรษฐกิจภาคเหนือหลายครั้งแตกต่างไปจากภาพรวมของประเทศ ทำให้การพิจารณาเฉพาะทิศทางเศรษฐกิจระดับประเทศอาจไม่สะท้อนทิศทางเศรษฐกิจภูมิภาค รวมทั้ง ข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมภาค (Gross Regional Product: GRP) ล่าช้า และยังไม่มีหน่วยงานที่เผยแพร่ประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาค ในขณะที่ระดับประเทศมีข้อมูลประมาณการถึงปี 2567 เผยแพร่แล้ว   ธปท. จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการศึกษาและจัดทำประมาณการเศรษฐกิจภูมิภาค เพื่อเผยแพร่มุมมองของสำนักงานภาคต่อทิศทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป นักลงทุน และนักธุรกิจในพื้นที่ในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจของแต่ละภาคได้ดีขึ้น ธปท.สำนักงานภาคเหนือ จึงจัดทำประมาณการเศรษฐกิจภาคเหนือ โดยนำข้อมูล GRP รายปี ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มาเชื่อมกับเครื่องชี้เศรษฐกิจรายเดือนที่สำนักงานภาคติดตามเป็นประจำ และจัดทำแบบจำลอง[1] ในสาขาเศรษฐกิจสำคัญ และปรับด้วยข้อมูลเชิงคุณภาพที่สำนักงานภาคได้รับจากการแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ประกอบการในพื้นที่เป็นประจำ

ผลประมาณการเศรษฐกิจภาคเหนือปี 2566 ขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.0-3.0 และปี 2567 ชะลอลง อยู่ในช่วงร้อยละ 0.7-1.7 โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญ ดังนี้ (1) ภาคการท่องเที่ยว ฟื้นตัวได้เร็ว จากนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ฟื้นตัวตั้งแต่ครึ่งหลังปี 65 จากนั้นในปี 66 ชาวต่างชาติเร่งขึ้น สำหรับปี 2567 ภาคการท่องเที่ยวยังคงอยู่ในทิศทางขยายตัวแต่จะไม่เติบโตสูงเท่าช่วงก่อน เนื่องจากกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิด-19 แล้ว (2) ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัว ทั้งจากการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศและส่งออกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอาหารแปรรูป เครื่องดื่ม ขยายตัวดี ประกอบกับกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าฟุ่มเฟือยกลับมาปรับดีขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปี 2566 (3) ภาคการค้า ขยายตัวต่อเนื่อง ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในภาคท่องเที่ยว ภาคบริการ  และการผลิตปรับดีขึ้น ส่งผลให้การจ้างงาน  และรายได้นอกภาคเกษตรมีทิศทางดีขึ้น ส่งผลดีต่อการบริโภค และทำให้ภาคการค้าขยายตัวดีต่อเนื่อง (4) ภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์  ขยายตัว  ส่วนหนึ่งจากโครงการลงทุนภาครัฐเพื่อพัฒนาระบบคมนาคมรอบเมือง ช่วยดึงดูดการลงทุนภาคเอกชน ความต้องการที่อยู่อาศัยมีต่อเนื่อง ประกอบกับแนวโน้มการเติบโตของเมืองโดยเฉพาะหัวเมืองหลัก และการย้ายถิ่นเข้าภาคเหนือมีต่อเนื่อง (5) ภาคการเกษตร ปี 2566 ขยายตัว จากผลผลิตภาคเกษตรในช่วงครึ่งปีแรก ได้รับผลดีจากปริมาณน้ำมากตั้งแต่ปีก่อน ส่วนครึ่งปีหลังปริมาณฝนมีแนวโน้มลดลงจากภาวะเอลนีโญ กระทบผลผลิตข้าวนาปี และส่งผลต่อเนื่องให้ผลผลิตเกษตรในปี 2567 หดตัว โดยเฉพาะข้าวนาปรัง รวมทั้งพืชที่ใช้เวลาเติบโตนานซึ่งเสี่ยงได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง เช่น อ้อย และมันสำปะหลัง

จากผลประมาณการเศรษฐกิจภาคเหนือ ปี 2566-2567 ที่เติบโตจากภาคการท่องเที่ยวและการผลิต แต่มีความเสี่ยงจากภัยแล้ง ส่งผลต่อแต่ละพื้นที่ต่างกัน

(1) กลุ่มเมืองท่องเที่ยวหลัก ได้อานิสงส์จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ส่วนเมืองท่องเที่ยวรอง เช่น น่าน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ยังเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวชาวไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูท่องเที่ยวปลายปี ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคบริการและการจ้างงานในพื้นที่

(2) กลุ่มพื้นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมอาหารและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งออก เช่น ธุรกิจผลิตอาหารแปรรูปในเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย และโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในลำพูน ขยายตัวดี ส่งผลดีต่อการจ้างงาน รายได้ และการบริโภค

(3) กลุ่มพื้นที่เกษตร โดยเฉพาะเขตภาคเหนือตอนล่างคาดว่าจะถูกกระทบจากรายได้เกษตรกรที่ลดลง โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวนาปีและข้าวนาปรังที่สำคัญ เช่น พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ กำแพงเพชร สุโขทัย รวมทั้งพื้นที่ปลูกอ้อยโรงงานและมันสำปะหลัง เช่น กำแพงเพชร นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์

เมื่อพิจารณารายได้ครัวเรือนในภาคเหนือ ปี 2566-2567 พบว่าเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง 2 ปี ทำให้รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9  อย่างไรก็ตาม รายได้สุทธิครัวเรือนแต่ละกลุ่มปรับดีขึ้นแตกต่างกัน ครัวเรือนเกษตรกว่า 2 ล้านครัวเรือน หรือกว่าครึ่งของครัวเรือนภาคเหนือ มีแนวโน้มรายได้สุทธิลดลงในปี 2567 จากผลกระทบของภาวะเอลนีโญต่อรายได้ภาคเกษตร ทำให้แม้ภาพรวมเศรษฐกิจภาคเหนือจะมีทิศทางปรับดีขึ้น แต่กำลังซื้อของครัวเรือนยังไม่ดีขึ้นอย่างทั่วถึง

นอกจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังมีปัจจัยด้านอื่นที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของคนในภาคเหนือ ซึ่งมีความสำคัญเช่นเดียวกัน  ธปท. จึงพัฒนาการติดตามความเป็นอยู่ของคนในภาค ด้วยเครื่องชี้ด้านต่างๆ โดยอิงแนวทาง OECD ครอบคลุมเครื่องชี้ 6 ด้าน ได้แก่ รายได้ การศึกษา สาธารณสุข ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐาน พบว่าข้อมูลปี 2564-2565 เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนสถานการณ์โควิด ความเป็นอยู่ของคนในภาคเหนือปรับดีขึ้นในหลายด้าน ยกเว้นด้านรายได้ในปี 2565 ยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และฟื้นตัวกลับมาไม่เต็มที่ โดยเฉพาะจังหวัดที่พึ่งพิงภาคการท่องเที่ยว และกระทบต่อสถานะหนี้และความมั่งคั่งของครัวเรือนอีกด้วย นอกจากนี้ พบว่าเครื่องชี้ความเป็นอยู่ของคนในภาคเหนือต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเกือบทุกด้าน จึงเป็นโจทย์ที่ทุกฝ่ายในพื้นที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันพัฒนา

……………………………………………………………….

       “ในอดีตการเติบโตของเศรษฐกิจภาคเหนือหลายครั้งแตกต่างไปจากประเทศ  ธปท. สำนักงานภาคเหนือ จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการจัดทำประมาณการเศรษฐกิจภูมิภาค เพื่อประโยชน์กับธุรกิจและประชาชนใช้ในการวางแผนธุรกิจและการเงิน”

…………………………………………………………..

ในส่วนของบทบาท ธปท. สำนักงานภาคเหนือ นอกจากจะมุ่งดูแลให้ระบบการเงินสามารถสนับสนุนภาคเศรษฐกิจจริงให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพแล้ว ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ โดย ในระยะสั้นบทบาทที่ทำมาต่อเนื่อง ได้แก่

(1) ติดตามและประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจภาคเหนือ ผ่านการวิเคราะห์เครื่องชี้เศรษฐกิจ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้ประกอบการเพื่อสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงิน และการจัดทำมาตรการทางการเงิน รวมทั้งการพัฒนาเครื่องชี้เศรษฐกิจเพื่อจับชีพจรเศรษฐกิจภูมิภาคให้ดีขึ้น อาทิ เครื่องชี้เร็วเศรษฐกิจภูมิภาค (Regional Activity Tracker: RAT) ดัชนีความเป็นอยู่ของคนในภูมิภาค (Well-being Index) เป็นต้น

(2) จัดทำงานศึกษาเชิงลึก ได้เผยแพร่บทความประเด็นเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคเหนือ เพื่อนำเสนอมุมมองที่เป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ อาทิ กระแสอาหารอนาคตเพื่อสุขภาพ  โครงสร้างการเงินภูมิภาค

(3) ผลักดันมาตรการช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา เช่น มาตรการแก้หนี้ พักทรัพย์พักหนี้ รวมถึงสินเชื่อฟื้นฟู

ในเรื่องของการพัฒนาระยะยาว ธปท. สำนักงานภาคเหนือ ได้เพิ่มบทบาทเพื่อร่วมมือกับพื้นที่ในการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ โดยให้ความสำคัญกับ (1) สร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน ภายใต้โครงการให้ความรู้ทางการเงินต่างๆ และโครงการเสริมแกร่ง SMEs การผลิตสื่อออนไลน์เผยแพร่ผ่าน platform สาธารณะ รวมทั้งการเตือนภัยทางการเงินอย่างต่อเนื่อง (2) สนับสนุนการแก้หนี้อย่างยั่งยืน โดยผลักดันการยกระดับมาตรฐานการปล่อยกู้เพื่อปรับพฤติกรรมทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้  (3) ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในการพัฒนาพื้นที่ สร้าง engagement กับกลุ่มเป้าหมาย และความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ตลอดจนเป็นตัวกลางเชื่อมภาครัฐและเอกชน อาทิ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในระดับต่างๆ การขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการสร้างความร่วมมือด้านวิชาการกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่

You may also like

คปภ.เดินหน้า! เปิดเวทีสัมมนาวิชาการด้านประกันภัย ประจำปี 2567 “Thailand Insurance Symposium 2024”

 นายชูฉั