ยีลด์พันธบัตรรัฐบาลไทย คาดปรับลดลงเกินคาด จากภาวะเสี่ยงเศรษฐกิจไทยโตต่ำ

ยีลด์พันธบัตรรัฐบาลไทย คาดปรับลดลงเกินคาด จากภาวะเสี่ยงเศรษฐกิจไทยโตต่ำ

ยีลด์พันธบัตรรัฐบาลไทย คาดปรับลดลงเกินคาด

จากภาวะเสี่ยงเศรษฐกิจไทยโตต่ำ

.   ตลาดพันธบัตรรัฐบาลประเทศหลักทั่วโลกเผชิญความผันผวน หลังการประกาศ Reciprocal Tariffs ของสหรัฐฯ และมาตรการตอบโต้จากจีน โดยยีลด์พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 4.50% ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2568

.   ยีลด์พันธบัตรรัฐบาลไทยเคลื่อนไหวสอดคล้องกับยีลด์พันธบัตรสหรัฐฯ ประกอบกับตลาด

คาดว่า กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายช่วงปลายเดือนเมษายน

.   ปี 2568 คาดยีลด์พันธบัตรรัฐบาลไทยอาจปรับลดมากกว่าคาด จากการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม และเงินทุนไหลเข้าตลาดพันธบัตรจากต่างชาติ

 

ตลาดพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกปั่นป่วน

หลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มภาษีการค้า และจีนทำการตอบโต้กลับ

ยีลด์พันธบัตรรัฐบาลประเทศหลักทั่วโลก เคลื่อนไหวผันผวนหลังการประกาศ Reciprocal Tariffs ของสหรัฐฯ และมาตรการตอบโต้ของจีน (รูปที่ 1)

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (ยีลด์พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ) ปรับลดลงในช่วงแรกหลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศอัตราภาษีตอบโต้ทางการค้ากับหลายประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งมีความรุนแรงกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ และจุดชนวนให้ตลาดมีความกังวลมากขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ทั้งนี้  ยีลด์พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับลดลงประมาณ 20 basis points (bps.) ไปที่ระดับประมาณ 4.00% แต่กลับมาเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 4.50% หลังจีนมีการปรับขึ้นภาษีตอบโต้กลับ และยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบสูงกว่าระดับก่อนช่วง ปธน. ทรัมป์ประกาศภาษีสินค้านำเข้า (อยู่ที่ 4.23%28 เม.ย. 2568) ขณะที่ตลาดเริ่มปรับจุดสนใจกลับมาที่ความกังวลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่อาจเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) น่าจะปรับลดดอกเบี้ยน้อยกว่าคาด

ความผันผวนของยีลด์สหรัฐฯ ส่งผ่านไปยังตลาดพันธบัตรของประเทศอื่นด้วยเช่นกัน

โดยยีลด์พันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นปรับลดลงมาก ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้เพียงบางส่วน เพราะผลกระทบจากภาษีของสหรัฐฯ ต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น รวมถึงการแข็งค่าขึ้นอย่างมากของเงินเยนในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้แนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีความไม่แน่นอนมากขึ้น ขณะที่ยีลด์พันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีปรับลดลงในช่วงแรกตามทิศทางยีลด์สหรัฐฯ และลดลงต่อเนื่องหลังธนาคารกลางยุโรป (ECB)  ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 25 bps. เป็นครั้งที่ 7 ในรอบ 1 ปี สู่ระดับ 2.40% เพื่อรองรับความเสี่ยงขาลงของเศรษฐกิจจากมาตรการการค้าของสหรัฐฯ

ตลาดพันธบัตรรัฐบาลไทยเคลื่อนไหวทิศทางเดียวกับสหรัฐฯ ขณะที่ตลาดคาดหวังการลดดอกเบี้ยของ กนง. ในเดือนเมษายน 2568

ยีลด์พันธบัตรรัฐบาลไทยเคลื่อนในทิศทางเดียวกับสหรัฐฯ ขณะที่ทิศทางการเจรจาการค้าของไทยยังคงไม่แน่นอน ยีลด์พันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ปรับลดลงไปแตะจุดต่ำสุดของปีนี้ที่ 1.87% (4 เม.ย. 2568) หลังสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้า ก่อนจะฟื้นตัวช่วงสั้น ๆ ไปเคลื่อนไหวใกล้ระดับ 2.00% หลังจากจีนมีมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ (รูปที่ 2) อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของยีลด์ไทยเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากตลาดคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในการประชุมเดือน เม.ย. 2568 เพื่อประคองเศรษฐกิจไทยจากความไม่แน่นอนของการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี ส่วนต่างผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนกับพันธบัตรรัฐบาล (Credit Spread) สำหรับหุ้นกู้อันดับเครดิต BBB ปรับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงความเสี่ยงด้านเครดิตที่ปรับเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยที่จะยังอยู่ในภาวะซบเซาในระยะข้างหน้า โดยค่าเฉลี่ย Credit Spread ของตราสารหนี้ภาคเอกชนอันดับ BBB อายุไม่เกิน 3 ปี ปรับเพิ่มสูงขึ้น มาอยู่ที่ 301 bps. (25 เม.ย. 2568) เพิ่มขึ้นมา 18 bps. จาก 283 bps. (2 เม.ย. 2568) ในช่วงก่อนการปรับขึ้นภาษีการค้าของสหรัฐฯ (รูปที่ 3)

แนวโน้มยีลด์พันธบัตรรัฐบาลไทยอาจปิดสิ้นปี 2568 ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ระดับ 2.10%

ปี 2568 คาดยีลด์พันธบัตรรัฐบาลไทยอาจปรับลดลงต่อเนื่อง (จากระดับปัจจุบันที่ 1.90% ณ 28 เม.ย. 2568) ตามทิศทางนโยบายการเงินที่อาจผ่อนคลายเพิ่มเติม และเงินทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดพันธบัตรไทย แต่ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ยีลด์สูงขึ้นในบางจังหวะ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองแนวโน้มยีลด์พันธบัตรรัฐบาลไทยปี 2568 อาจลดลงเพิ่มเติม จาก 3 ปัจจัย ดังนี้

  1. กนง. มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติม โดย Forward curve สะท้อนการคาดการณ์ของตลาดว่า กนง. จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ (รวมการประชุมเดือนเม.ย. 2568) ตามแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่อาจจะเติบโตในระดับต่ำกว่าปีก่อน
  2. FED อาจปรับลดดอกเบี้ยได้ถึง 3 ครั้งภายในปีนี้ เนื่องจากสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้า ซึ่งจะมีผลทำให้ยีลด์พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อาจปรับลดลงเพิ่มเติม ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันต่อการเคลื่อนไหวของยีลด์พันธบัตรรัฐบาลไทยในช่วงที่เหลือของปี
  3. เงินทุนไหลเข้าของต่างชาติอาจทำให้ยีลด์พันธบัตรรัฐบาลไทยลดลง โดยนับจากต้นปี-28 เม.ย. 2568 ตลาดตราสารหนี้ไทยมีเงินทุนไหลเข้าจากนักลงทุนต่างชาติสุทธิ 6.28 หมื่นล้านบาท (เทียบกับที่ไหลออกสุทธิ 6.74 หมื่นล้านบาทในปี 2567 ) ซึ่งเกือบ 85% เป็นการไหลเข้าในเดือน เม.ย. หลังการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี คงต้องติดตาม 2 ปัจจัยสำคัญที่อาจมีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของยีลด์ตราสารหนี้ให้ปรับเพิ่มขึ้นในบางจังหวะตามปัจจัยเสี่ยงในระยะข้างหน้า

  1. ความเสี่ยงด้านเครดิตของตราสารหนี้เอกชนอันดับตั้งแต่ BBB ลงมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อาจส่งผลให้ต้นทุนการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนสูงขึ้น และในภาวะตลาดที่การระดมเงินทุนผ่านการออกตราสารหนี้ได้ต่ำกว่าปริมาณเสนอขาย โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2568 ภาคเอกชนมีการระดมทุนด้วยตราสารหนี้ได้ไม่ครบจำนวนคิดเป็น 14% ของปริมาณที่ต้องการเสนอขายครั้งแรก (IPO) สูงกว่าปีก่อนหน้าที่คิดเป็นจำนวน 10%
  2. เศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอตัว การกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่สูงขึ้นกว่าปีก่อนและหนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูง รวมถึงวัตถุประสงค์ของการนำเงินกู้ไปใช้อย่างรอบคอบและเจาะจง จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจมีผลต่อการประเมินสถานะของอันดับเครดิตของประเทศในระยะข้างหน้า และการปรับตัวของยีลด์พันธบัตรรัฐบาลและต้นทุนการระดมทุนของตราสารหนี้ภาคเอกชน

You may also like

สรุปบทเรียนควบคุมแอลกอฮอลล์และกาสิโน ชี้คนดื่มเหล้ามากขึ้น-กาสิโนกระทบแน่ๆ สังคม เศรษฐกิจ

สรุปบทเร