ยูพีเอส ผนึก PwC ช่วยธุรกิจไทย
รับมือข้อกำหนด VATใหม่”สหภาพยุโรป”
……………………………………………………………………………………………………
• ลูกค้ายูพีเอสจะได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญในการลงทะเบียน การคืนสินค้า รวมถึงได้รับข้อมูลรายเดือนเกี่ยวกับการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม และข้อมูลล่าสุดอื่น ๆ เกี่ยวกับส่วนลดพิเศษ
• ข้อกำหนดใหม่เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มของสหภาพยุโรปสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป
• ผู้ส่งสินค้าอีคอมเมิร์ซนอกสหภาพยุโรปจำเป็นต้องลงทะเบียนผ่านระบบ Import One-Stop-Shop (IOSS) เพื่อลดปัญหาด้านค่าใช้จ่ายหรือความล่าช้าที่ไม่คาดคิด
………………………………………………………………………………………………………….
สหภาพยุโรปได้ออกข้อกำหนดใหม่เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อใช้กับการขายสินค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 โดยข้อกำหนดใหม่จะยกเลิกการเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้านำเข้าไปยังสหภาพยุโรปที่มีมูลค่าไม่เกิน 22 ยูโร นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอมาตรการพิเศษ สำหรับสินค้ามูลค่าต่ำที่นำเข้าจากประเทศหรือเขตการปกครองในโลกที่สามมาสู่สหภาพยุโรปอีกด้วย
Import One Stop Shop (IOSS) คือระบบออนไลน์ที่ช่วยลดความยุ่งยากในการแจกแจงและจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการขายสินค้าอีคอมเมิร์ซที่มูลค่าไม่เกิน 150 ยูโรที่นำเข้ามาในสหภาพยุโรป โดยระบบ IOSS จะมีการแจ้งเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อขณะทำการสั่งซื้อ เพื่อหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายหรือความล่าช้าที่ไม่คาดคิด อันเกิดจากพิธีการศุลกากร (Customs Clearance) ระหว่างการจัดส่งสินค้า
ภายใต้ระบบ IOSS ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะต้องแจ้งหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มของ IOSS แก่บริษัทผู้ขนส่ง เพื่อยื่นต่อหน่วยงานศุลกากร ทำให้มั่นใจว่าสินค้าจะไม่ถูกประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มซ้ำซ้อนเมื่อมาถึงสหภาพยุโรป โดยธุรกิจที่ตั้งอยู่นอกสหภาพยุโรปหรืออยู่ในประเทศที่ไม่มีข้อตกลงความร่วมมือด้านภาษีมูลค่าเพิ่มร่วมกัน จำเป็นต้องมอบหมายคนกลาง (Intermediary) เพื่อเข้าร่วมระบบ IOSS ดังกล่าว
ยูพีเอสได้มีการร่วมมือกับที่ปรึกษาด้านภาษีชั้นนำอย่าง ไพรซ์วอเตอร์เฮ้าส์ คูเปอร์ส (PwC) เพื่อให้บริการเป็นคนกลาง (Intermediary Service) และเพื่อให้คำแนะนำและความช่วยเหลือในการปฏิบัติตามข้อกำหนด (Compliance Service) แก่ลูกค้าของยูพีเอสด้วยอัตราส่วนลดพิเศษ โดยส่วนหนึ่งของข้อตกลงนี้ ลูกค้าจะได้รับความช่วยเหลือด้านการลงทะเบียนใช้ระบบ IOSS และการยื่นรายงานการคืนภาษีของระบบ IOSS รวมถึงข้อมูล อัปเดตรายเดือนเกี่ยวกับการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มและข้อมูลล่าสุดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจ
นายสจ๊วต ลันด์ รองประธานบริหารฝ่าย International Package Customs Brokerage ที่ยูพีเอส กล่าวว่า “ภารกิจสำคัญสำหรับเราคือการคอยดูแลและให้ความช่วยเหลือลูกค้าของเรากว่า 220 ประเทศ และเขตการปกครองทั่วโลก ตลอดจนช่วยส่งเสริมพวกเขาให้แข่งขันได้ในระดับสากลและในขณะเดียวกันก็มอบประสบการณ์การใช้งานที่ยอดเยี่ยมแก่ลูกค้า เราส่งเสริมให้ธุรกิจที่ตั้งอยู่นอกสหภาพยุโรปใช้บริการนี้ เพื่อให้พวกเขาสามารถนำเสนอประสบการณ์การซื้อสินค้าที่ทั้งโปร่งใสและราบรื่นให้กับลูกค้าในสหภาพยุโรปได้ต่อไป”
ลูกค้าอีคอมเมิร์ซของยูพีเอสที่ตั้งอยู่นอกสหภาพยุโรปสามารถลงทะเบียนรับบริการความช่วยเหลือด้านบริการคนกลาง (Intermediary Service) และความช่วยเหลือในการปฏิบัติตามข้อกำหนด (Compliance Service) ของระบบ IOSS จากพีดับบลิวซี ได้ที่เว็บไซต์ PwC.be
หากต้องการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงด้านข้อกำหนดภาษีมูลค่าเพิ่มในสหภาพยุโรปและผลกระทบต่อธุรกิจและผู้บริโภค สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ UPS.com
*บริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจของพีดับบลิวซี (PwC Business Advisory Services BV) ประสิทธิภาพการบริการของพีดับบลิวซีจะขึ้นอยู่กับขั้นตอนการตอบรับ และการอนุมัติต่างๆ ที่จำเป็นของลูกค้าตลอดขั้นตอน คำว่า "ลูกค้า" ในที่นี้หมายถึงลูกค้าของยูพีเอส ที่เลือกรับบริการจากพีดับบลิวซี และผ่านขั้นตอนการตอบรับของพีดับบลิวซี
……………………………………………………………………………………………………..
เกี่ยวกับยูพีเอส
ยูพีเอส (NYSE: UPS) เป็นหนึ่งในบริษัทขนส่งสินค้ารายใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยรายได้ 84.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2563 นอกจากนี้ยังให้บริการโซลูชันโลจิสติกส์ที่ครอบคลุมและครบวงจรให้แก่ลูกค้าในประเทศและเขตการปกครองต่างๆ กว่า 220 แห่ง พนักงานของบริษัทมากกว่า 540,000 คน ยึดถือกลยุทธ์ของบริษัท ในการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักที่ว่า ลูกค้าต้องมาก่อน พนักงานร่วมแรงร่วมใจและ ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ยูพีเอสมีความมุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนชุมชนที่ทางบริษัทให้บริการทั่วโลก ยูพีเอสยังคงมีจุดยืนที่แข็งแกร่งในการสนับสนุนความหลากหลาย ความเท่าเทียม และความเสมอภาค สามารถดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลบริษัทได้ที่ www.ups.com และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ about.ups.com และ www.investors.ups.com
Social Links