“รชค.มนพร”ผุดไอเดีย “สนามบินมีชีวิต”นำร่องพิษณุโลก
เสริมคุณภาพชีวิต สร้างเศรษฐกิจยั่งยืน
มนพร” ผุดไอเดีย “สนามบินมีชีวิต” นำร่องพิษณุโลก ยกระดับคุณภาพการให้บริการของท่าอากาศยาน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่น สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างยั่งยืน
ดร.มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เผยความคืบหน้ากิจกรรมการสร้างอัตลักษณ์ ซอฟต์พาวเวอร์ในท้องถิ่น ภายใต้แนวคิด “สนามบินมีชีวิต” (Live Airport) ในคราวลงพื้นที่ตรวจราชการท่าอากาศยานพิษณุโลก ซึ่งเป็นท่าอากาศยานนำร่องการดำเนินกิจกรรม ว่า แนวคิด “สนามบินมีชีวิต” (Live Airport) เป็นแนวคิดที่ท่าอากาศยานไม่เพียงแค่เป็นจุดสำหรับขึ้น – ลงอากาศยาน แต่ยังเป็นประตูสู่จังหวัด เป็นจุดเริ่มต้นในการดึงดูดนักท่องเที่ยวและศูนย์กลางส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน โดยการจัดกิจกรรมหรือเทศกาลที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่นภายในพื้นที่ท่าอากาศยาน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและเพิ่มความน่าสนใจให้กับนักท่องเที่ยว โดยนางมนพรได้สั่งการให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตและผู้ค้าท้องถิ่นนำสินค้าผลิตภัณฑ์จากชุมชนมาขาย เพื่อสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในท้องถิ่น การจัดแสดงทางวัฒนธรรมหรือการแสดงศิลปะพื้นบ้าน ช่วยสร้างบรรยากาศที่มีชีวิตชีวาและสร้างความเพลิดเพลินสำหรับผู้โดยสาร นอกจากนี้ ยังให้จัดกิจกรรม Workshop การเรียนรู้เกี่ยวกับการทำอาหารท้องถิ่น หรืองานฝีมือสำหรับผู้ที่สนใจ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างท่าอากาศยานและชุมชนรอบข้าง รวมถึงส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ดร.มนพร ได้เน้นย้ำให้ ทย. ดำเนินกิจกรรม “สนามบินมีชีวิต” (Live Airport) โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างท่าอากาศยาน ชุมชน จัดหวัด หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของท่าอากาศยานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล การร่วมมือกับหน่วยงานภายในกระทรวงคมนาคมในการอำนวยความสะดวกทั้งด้านเส้นทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ การจัดรถขนส่งสาธารณะอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวต้องมีจำนวนเพียงพอ และสอดคล้องกับตารางบิน เพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการให้บริการของท่าอากาศยาน ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่น และสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน รวมถึงสนับสนุนโครงการ “แอ่วเหนือคนละครึ่ง” ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว ใน 17 จังหวัดภาคเหนือ รวมถึงจังหวัดพิษณุโลกด้วย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ โดยเริ่มโครงการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ในปัจจุบันสำนักงานขนส่งจังหวัดพิษณุโลกได้จัดรถโดยสารเชื่อมต่อการเดินทางจากท่าอากาศยาน 1 เส้นทาง คือสาย 14 เส้นทาง เซ็นทรัลพลาซ่าพิษณุโลก – ท่าอากาศยานพิษณุโลก – สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดพิษณุโลก แห่งที่ 2 ให้บริการประชาชน พร้อมทั้งมอบให้ ทย. แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาท่าอากาศยาน โดยมีผู้แทนจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาท่าอากาศยานทุกแห่ง
จากนั้น ดร.มนพร ได้ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมการบินพิษณุโลก บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ติดตามการดำเนินงานบริเวณทางแยกเข้าโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม (ทล.126 ตอนวงแหวนรอบเมืองพิษณุโลกด้านทิศเหนือ กม. ที่ 0+950) ซึ่งเป็นจุดที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้งกับรถจักรยานยนต์นักเรียน และประชาชนที่เข้าออกบริเวณหน้าโรงเรียน กรมทางหลวงจึงเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อความปลอดภัยของประชาชนโดยจะเปิดเป็นทางแยกพร้อมติดตั้งไฟสัญญาณจราจรแบบอัจฉริยะให้รถเลี้ยวเข้าออกตามจังหวะไฟจราจร คาดว่าจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จในระยะเวลา 5 เดือนหลังจากได้รับจัดสรรงบประมาณ และตรวจเยี่ยมสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดพิษณุโลก แห่งที่ 2 โดยสำนักงานขนส่งจังหวัดพิษณุโลก ได้สาธิตวิธีการตรวจสภาพรถโดยสารประจำทางที่ใช้ก๊าซ CNG หรือ LPG เป็นเชื้อเพลิง สาธิตวิธีการช่วยเหลือผู้โดยสารเบื้องต้นขณะเกิดเหตุ ด้วยการใช้ประตูฉุกเฉิน การใช้ค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง และเข็มขัดนิรภัย เพื่อความปลอดภัยในการขนส่งผู้โดยสาร
นายดนัย เรืองสอน อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวว่า ทย. ขานรับการจัดกรรม “สนามบินมีชีวิต” (Live Airport) ภายในพื้นที่ท่าอากาศยาน โดยเริ่มดำเนินการที่ท่าอากาศยานพิษณุโลก และท่าอากาศยานน่านนคร สำหรับท่าอากาศยานพิษณุโลกได้ร่วมมือกับจังหวัด ททท. และชุมชนท้องถิ่น โดยสร้างลานกิจกรรม/จุดเช็กอิน ภายในท่าอากาศยานพิษณุโลก เพิ่มเสน่ห์และความเป็นเอกลักษณ์ในพื้นที่ด้วยลวดลายที่ได้แรงบันดาลใจมาจากบัวกระด้งยักษ์ ให้นักท่องเที่ยวได้เช็กอินถ่ายภาพเก็บความประทับใจ และยังมีแผนปรับปรุงบรรยากาศภายในท่าอากาศยานพิษณุโลกสู่ความยั่งยืนของท่าอากาศยานมีชีวิต โดยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในท่าอากาศยาน รวมถึงการใช้ Natural Sounds Effect สร้างความรู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการประชุมหารือร่วมกับจังหวัดเพื่อประชาสัมพันธ์ความเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดพิษณุโลก ผ่านลานกิจกรรมสลับสับเปลี่ยนไปตามเทศกาลต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ในส่วนของท่าอากาศยานน่านนครมีการจัดกิจกรรมภายในท่าอากาศยาน ได้แก่ การสาธิตและจัดทำโคมน่าน กิจกรรมเพ้นท์หัวเรืออัตลักษณ์น่าน (หัวโอ้) กิจกรรมตัดตุงเฮือน่าน กิจกรรมเขียนตั๋วเมือง และกิจกรรมแสดงศิลปวัฒนธรรม ในช่วงเทศกาลต่าง ๆ รวมถึงการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร “WELCOME DRINK @NAN น้ำมะไฟจีน ของดีเมืองน่าน” ทั้งนี้ นายดนัย กล่าวเสริมว่า ทย. เร่งดำเนินการจัดกิจกรรม “สนามบินมีชีวิต” (Live Airport) ภายในท่าอากาศยานในสังกัดทุกแห่ง เพื่อประชาสัมพันธ์อัตลักษณ์และของดีแต่ละจังหวัดและสร้างความประทับใจแก่ผู้โดยสาร
Social Links