รองฯ ประวิตร นั่งหัวโต๊ะ
ติดตามผลพร้อมรุกสร้างทีมพัฒนาแรงงาน
ตั้งเป้าปี 2566 กว่า 8 แสนคน
รองนายกฯพลเอก ประวิตร นั่งหัวโต๊ะ ประชุมคณะกรรมการ กพร.ปช. ครั้งที่ 1/2566 เดินหน้าจัดตั้งคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด เร่งพัฒนากำลังคน เป้าหมายกว่า 8 แสนคน
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) ครั้งที่ 1/2566 โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงานเข้าร่วมประชุม และมีผู้บริหารของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมประชุม ณ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ซึ่งที่ประชุมได้เสนอเรื่องเพื่อทราบ ประกอบด้วย ผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัด การฝึกอาชีพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และการฝึกอาชีพในอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565-2566 และพิจารณาร่างแผนการดำเนินงาน คำสั่งแต่งตั้งอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะอนุกรรมการ กพร.ปจ.
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) มีภารกิจในการกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพของผู้อยู่ในกำลังแรงงาน ติดตามผลดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมสถานประกอบกิจการและองค์กรในภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนากำลังแรงงาน ตลอดจนเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับการพัฒนาแรงงาน ซึ่งได้รับทราบผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 – 2566
นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเสริมว่า กระทรวงแรงงานได้รับมอบหมายให้ดำเนินการพัฒนาแรงงาน ประกอบด้วย การพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัด (กพร.ปจ.) การพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve การพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพในอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ ซึ่งปี 2565 มีเป้าหมายพัฒนากำลังคนระดับจังหวัด 870,073 คน ดำเนินการแล้ว 857,762 คน และปี 2566 มีเป้าหมาย 847,372 คน ดำเนินการแล้ว 194,075 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 8 มิถุนายน 2566) สามารถพัฒนากำลังคนในกลุ่มของอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพได้มากที่สุด รองลงมาคืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ทั้งนี้ ได้เสนอเรื่องพิจารณาประกอบด้วย (ร่าง) แผนพัฒนากำลังคนระดับจังหวัด พ.ศ. 2565 – 2570 ภายใต้คณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัด (กพร.ปจ.) (ร่าง) แผนพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve (พ.ศ. 2565 – 2570) และ (ร่าง) คำสั่ง แต่งตั้งอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัด (แก้ไขเพิ่มเติม)
“ขอให้คณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัด (กพร.ปจ.) ขับเคลื่อนงานตามแผนพัฒนากำลังคนระดับจังหวัดให้เดินหน้าต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมและใช้ประโยชน์จากระบบฐานข้อมูลการพัฒนากำลังคนที่ได้ร่วมกันพัฒนาขึ้น เพื่อให้พื้นที่จังหวัดมีกำลังแรงงานเพียงพอทั้งปริมาณและคุณภาพ สามารถสนองต่อแผนพัฒนาจังหวัด อย่างเป็นรูปธรรม และสำหรับคณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ขอให้ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่มีภารกิจในการพัฒนากำลังแรงงาน ผลักดันให้แผนพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกในรายอุตสาหกรรมเป้าหมายบรรลุเป้าหมายเช่นเดียวกัน เพื่อให้ภารกิจดังกล่าว ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของแรงงานทุกกลุ่ม ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป” รองฯ ประวิตร กล่าวท้ายที่สุด
Social Links