รัฐมนตรีฯคลังเป็นประธานมอบรางวัล “สุดยอดประกันภัยดีเด่นครบวงจร ประจำปี 2565”

รัฐมนตรีฯคลังเป็นประธานมอบรางวัล “สุดยอดประกันภัยดีเด่นครบวงจร ประจำปี 2565”

รัฐมนตรีฯคลังเป็นประธานมอบรางวัล

“สุดยอดประกันภัยดีเด่นครบวงจร ประจำปี 2565”

พร้อมกดปุ่มเปิดงาน Thailand InsurTech Fair ครั้งที่ 2 อย่างยิ่งใหญ่ โดยเชิญยืนไว้อาลัยเหตุกราดยิงที่หนองบัวลำภู ก่อนเปิดงาน

            ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า วันนี้ (7 ตุลาคม 2565) ณ ห้องประชุม ฟีนิกซ์ 1 – 6 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี  สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้รับเกียรติจากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานมอบรางวัลประกันภัยดีเด่นครบวงจร (Prime Minister’s Insurance Awards) ประจำปี 2565 ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศที่นายกรัฐมนตรีอนุญาตให้ใช้ลายมือชื่อสลักลงบนโล่เกียรติยศ เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณ และเชิดชูเกียรติบริษัทประกันภัย องค์กร หน่วยงาน และบุคคลดีเด่นด้านการประกันภัย และมีการดำเนินการต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 18 โดยมีรางวัลรวม 14 ประเภท 66 รางวัล อาทิ รางวัลบริษัทประกันภัยดีเด่น รางวัลตัวแทน และนายหน้าประกันภัยคุณภาพดีเด่น รางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสำนักงาน คปภ. และระบบประกันภัย รวมทั้งรางวัลบริษัทประกันภัยที่มีการพัฒนาด้านความยั่งยืนในธุรกิจประกันภัยดีเด่น (หรือ ESG) เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจประกันภัยเล็งเห็นถึงความสำคัญของประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยก่อนเปิดงาน รัฐมนตรีอาคมได้เชิญชวนผู้ที่เข้าร่วมงานยืนไว้อาลัยเพื่อแสดงความเสียใจต่อเหตุกราดยิงที่ศูนย์เด็กเล็กอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งทำให้มีเด็กเล็ก และประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

                ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีฯ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษและแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัล ในตอนหนึ่งว่า ขอชื่นชมคณะกรรมการ คปภ. ผู้บริหาร บุคคลากรสำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ตลอดจนผู้มีส่วนร่วมที่ได้แสดงถึงวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในการจัดงานเพื่อยกย่องและเชิดชูเกียรติองค์กร หน่วยงาน และบุคคลดีเด่นด้านการประกันภัย ที่มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์คุณประโยชน์ต่อระบบการประกันภัยและต่อสังคม และขอบคุณภาคธุรกิจประกันภัยที่ได้มีบทบาทสำคัญร่วมกับภาครัฐและสำนักงาน คปภ. เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนผ่านระบบการประกันภัย ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนและพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยภาคธุรกิจประกันภัยมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจ แม้จะเกิดสถานการณ์ที่ยากลำบากในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ภาคธุรกิจประกันภัยยังสามารถผ่านพ้นมาได้ ในระบบประกันภัยมีส่วนสำคัญ 3 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 ผู้บริโภค ลูกค้ารายย่อย นิติบุคคล หรือร่วมกลุ่มเป็นสถาบันต่าง ๆ ส่วนที่ 2 ภาคธุรกิจ บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย และ ส่วนที่ 3 ผู้กำกับดูแล (Regulator) คือ สำนักงาน คปภ. ซึ่งทั้งสามส่วนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจ สิ่งสำคัญของการประกอบธุรกิจคือการแสวงหากำไร ในขณะเดียวกันต้องไม่เป็นภาระของประชาชน ประกันภัยเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันการเงิน ประชาชนควรรู้ว่ามีทางเลือกอย่างไร เพื่อการวางแผนที่ถูกต้อง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสำนักงาน คปภ. ในการพิจารณาอนุญาตแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยการออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยควรจะต้องมีสนามทดสอบ sandbox เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการทำประกันภัยและการคุ้มครองผู้บริโภค โดยลูกค้าผู้บริโภคจะต้องมีความเข้าใจทักษะการเงิน Financial literacy ซึ่งจากการสำรวจทักษะทางเงินก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เข้ามามีส่วนร่วมในระบบประกันภัย การพัฒนาทักษะทางการเงินของประชาชนมีความสำคัญที่จะทำให้การตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง บทบาทของภาคธุรกิจประกันภัยนอกจากเป็นการระดมเงินออมแล้วการให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในในช่วงเวลานั้น ๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญ

                พัฒนาการของการประกันชีวิตและการประกันวินาศภัยมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง และที่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพคือการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่าประสบความสำเร็จด้วยดีมาโดยตลอด ซึ่งช่วยลดภาระงบประมาณของภาครัฐในการช่วยเหลือเกษตรกร เรื่องสภาวะภูมิอากาศก็เป็นสิ่งสำคัญที่บริษัทจะต้องมีการวิเคราะห์ความเสี่ยงต่อไป และในอนาคตจะต้องให้เกษตรกรมีส่วนร่วมมากขึ้น สิ่งสำคัญคือโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐซึ่งก็เป็นโอกาสของภาคธุรกิจประกันภัย นอกจากนี้การปรับตัวของธุรกิจประกันภัยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทำได้ดีแล้ว มีการเข้าถึงการประกันภัยของประชาชนรายย่อย และมีความเข้มข้นในการกำกับดูแลของคปภ. โดยภาคธุรกิจประกันภัยมีความท้าทายในอนาคตอยู่ 3 เรื่อง คือ การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ Aging Society การออมเงินของข้าราชการ และการออมของภาคประชาชนผู้ใช้แรงงาน ทั้งนี้การอำนวยความสะดวกของภาครัฐในการดำเนินธุรกิจ รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ E-Government จะเป็นการลดภาระทางเอกสารโดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกิจและลดขั้นตอนในการทำงานต่อไปในอนาคต

            จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ทำพิธีเปิดงาน Thailand InsurTech Fair (TIF) ครั้งที่ 2 อย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งงาน TIF เป็นงานที่เป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ของบริษัทประกันภัยชั้นนำทั่วฟ้าเมืองไทย และบุคลากรผู้คร่ำหวอดในวงการประกันภัยทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนพันธมิตรประกันภัยจากทั่วทุกมุมโลกที่จะมาสร้างเครือข่ายเข้าไว้ด้วยกัน โดยภายในงานประกอบด้วย การจัดนิทรรศการให้ความรู้ด้านการประกันภัย การจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยแบบใหม่ ๆ และรายการส่งเสริมการขาย อาทิ ส่วนลดสูงสุด 30% การสัมมนาเกี่ยวกับการประกันภัยและเทคโนโลยีการประกันภัยที่น่าสนใจ การนำเสนอเทคโนโลยีประกันภัยและนวัตกรรม จาก tech startup และ การหารือและจับคู่ธุรกิจภายในงาน เพื่อการสร้างเครือข่าย เป็นต้น โดยรัฐมนตรีฯ ได้เข้าเยี่ยมชมบูธและเป็นประธานในพิธีเปิดบูธของสำนักงาน คปภ. และของบริษัทประกันภัยอีกหลายแห่ง บรรยากาศในงาน TIF เป็นไปด้วยความคึกคัก มีประชาชนสนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

                ด้าน ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กล่าวว่า อุตสาหกรรมประกันภัยไทย ได้เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงรูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งแตกต่างไปจากเดิม เนื่องจากระบบเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนผ่านจากบริบทของโลกในยุคความปกติใหม่ (New Normal) ไปสู่โลกในยุคหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโลกในยุคความปกติถัดไป (Next Normal) นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายในอีกหลาย ๆ ด้าน เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ การเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมและความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมอย่างก้าวกระโดด รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม ที่สืบเนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา เป็นต้น ทำให้สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนในด้านการประกันภัย ได้บูรณาการความร่วมมือกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมประกันภัย รวมทั้งภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนมาตรการเชิงรุกที่สำคัญต่าง ๆ เพื่อให้ระบบการประกันภัยมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเป็นที่พึ่งพิงของประชาชน รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในกรณีการเพิกถอนใบอนุญาตของบริษัทประกันภัย จัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำ รับเรื่องร้องเรียน และสนับสนุนบุคลากรอำนวยความสะดวกในการรับคำขอรับชำระหนี้ เพื่อให้บริการแก่ผู้เอาประกันภัยและประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึง มีการจัดเตรียมสถานที่ที่สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และพัฒนาเทคโนโลยีเว็บแอปพลิเคชันเพื่อใช้เป็นช่องทางติดต่อสื่อสารผู้เอาประกันภัย

                รางวัลประกันภัยดีเด่นครบวงจร (Prime Minister’s Insurance Awards) ถือเป็นรางวัลที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง โดยในปีนี้ได้มีการพิจารณาคัดเลือกอย่างเป็นธรรมและเข้มข้นภายใต้กรอบกติกาที่กำหนดไว้ สำหรับรางวัลบริษัทประกันภัยเกียรติยศสูงสุด (Hall of Fame) ประจำปี 2564 ได้แก่ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) รางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสำนักงาน คปภ. และระบบประกันภัย ประจำปี 2564 จำนวน 4 รางวัล ได้แก่ นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พลตำรวจโท จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และนายกมลภพ วีระพละ รองกรรมการผู้จัดการกลุ่มงานการเงินและบัญชี ธนาคารอาคารสงเคราะห์ รางวัลบริษัทประกันชีวิตที่มีการบริหารงานดีเด่น ประจำปี 2564 อันดับที่ 1 บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และรางวัลบริษัทประกันวินาศภัยที่มีการบริหารงานดีเด่น ประจำปี 2564 อันดับที่ 1 บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น          

                ผมขอแสดงความยินดีแก่ผู้ได้รับรางวัลทุกคน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ที่ได้รับรางวัลทุกคนจะยังคงมุ่งมั่นรักษาคุณภาพการดำเนินการและการให้บริการแก่ประชาชน รวมทั้งยกระดับการดำเนินการให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลง เพื่อเป็นทั้งแบบอย่างที่ดี และเป็นกลไกสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมการประกันภัยเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในฐานะเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยง อันจะนำมาซึ่งความมั่นคงและยั่งยืนทางเศรษฐกิจสังคม รวมทั้งคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และขอเชิญชวนประชาชนมาเที่ยวงาน “มหกรรมการประกันภัย” Thailand InsurTech Fair 2022 หรือ TIF 2022 ภายใต้ธีม “ก้าวสู่จักรวาลแห่งเทคโนโลยีประกันภัย เพื่อโลกใหม่ไร้ขีดจำกัด” Reshaping Insurance to the Multiverse of InsurTech for the Future” ระหว่างวันที่ 7-9 ตุลาคม 2565 ณ ฮอลล์ 6 อิมแพคเมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี นอกจากจะได้รับความรู้เกี่ยวกับประกันภัยและนวัตกรรมต่าง ๆ ด้านการประกันภัย และเทคโนโลยีด้านประกันภัยแล้วยังสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยราคาพิเศษลดสูงสุด 30% พร้อมลุ้นรับของรางวัลมากมาย และ ไฮไลท์สำคัญคือในวันพรุ่งนี้ (8 ตุลาคม 2565) จะมีการตัดสินการประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการประกันภัย OIC InsurTech Award 2022 ทั้งนี้งาน “Thailand InsurTech Fair 2022 จะจัดขึ้นในลักษณะ Hybrid ทั้งรูปแบบ Online สามารถเข้าชมได้ที่เว็บไซต์ www.tif2022.com หรือในรูปแบบ Onsite โดยติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง tif@oic.or.th หรือทาง Facebook Page : Center of InsurTech Thailand ..แล้วพบกันครับ” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

You may also like

มาสเตอร์การ์ดเปิดตัว Pay Local เพิ่มช่องทางผู้ให้บริการกระเป๋าเงินดิจิทัลในเอเชีย รับชำระเงินจากผู้ถือบัตรมาสเตอร์การ์ดกว่า 2 พันล้านราย

มาสเตอร์