รัสเซีย-ยูเครน  สายสัมพันธ์ของชนชาติ

รัสเซีย-ยูเครน  สายสัมพันธ์ของชนชาติ

รัสเซีย-ยูเครน  สายสัมพันธ์ของชนชาติ

อ.ดร.กฤษฎา พรหมเวค

คณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

                ในด้านประวัติศาสตร์ รัสเซียและยูเครนถือเป็นบ้านพี่เมืองน้องกัน มีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันมา ตั้งแต่ก่อตั้งประเทศที่ชาวรัสเซียมาตั้งรกรากถิ่นฐานอยู่ที่กรุงเคียฟ ประเทศยูเครนในปัจจุบัน โดยในปี ค.ศ. 988 ในสมัยพระเจ้าวลาดิมีร์ที่ 1 มีการรับเอาศาสนาคริสตร์นิกายออโธดอกซ์จากอาณาจักรไบแซนไทน์มาเป็นศาสนาประจำชาติ ทำให้อิทธิพลของวัฒนธรรมกรีกและไบแซนไทน์ขยายเข้าสู่รัสเซีย ถือเป็นต้นกำเนิดของประวัติศาสตร์ชาติรัสเซีย

                รัสเซียและยูเครนเริ่มแยกจากกันในปี ค.ศ. 1240 เมื่อบาตูข่านหลานของเจงกิสข่านเข้ารุกรานอาณาจักรคีวานสกีรุส หรืออาณาจักรเคียฟทำให้รัสเซียต้องแบ่งแยกออกเป็น 3 ส่วนคือ รัสเซีย ยูเครนและ เบรารุสเซีย ยูเครนได้รับเอกราชเพียงระยะสั้นๆ ระหว่างปี ค.ศ.1917-1921 อันเป็นผลมาจากการปฏิวัติรัสเซียในปี ค.ศ.1917 ก่อนปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี ค.ศ. 1917 พื้นที่ของยูเครนมีน้อยมาก เลนินและผู้นำของสหภาพโซเวียตคนอื่น ๆ เป็นผู้ช่วยสร้างและเพิ่มเติมดินแดน ให้กับยูเครนจนกลายมาเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของยุโรปรองจากรัสเซียในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยที่ครุสชอฟซึ่งมีเชื้อสายเป็นชาวยูเครนเป็นผู้นำของสหภาพโซเวียตได้ยกแคว้นไครเมียซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียให้กับยูเครน ในสมัยนั้นไม่มีใครต่อต้านเพราะมองว่าอย่างไรยูเครนก็เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตเหมือนกัน อีกทั้งประชาชนของสหภาพโซเวียตก็ยังเชื่อมั่นในอุดมการณ์ของมาร์กซ์ที่มองว่าในขั้นสุดท้ายของการปฏิวัติสังคมนิยมพรมแดนระหว่างประเทศจะหายไป ไม่มีประเทศต่าง ๆ อีกต่อไป ซึ่งดินแดนไครเมียที่ครุสชอฟยกให้ยูเครนนั้นได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของต้นตอปัญหารัสเซีย – ยูเครนในปัจจุบัน

                ความบาดหมางระหว่างรัสเซีย – ยูเครนนั้นเริ่มชัดเจนเป็นรูปเป็นร่างขึ้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่าโฮโลโดมอร์ (Holodomor) ซึ่งหมายความถึงการเข่นฆ่าด้วยความอดอยากหิวโหย (Killing by Starvation) หรือการปล่อยให้อดอยากหิวโหยจนถึงแก่ความตาย (Starving to Death) ในช่วงปี ค.ศ. 1932-1933 ภายใต้ผู้นำเผด็จการคือ โจเซฟ สตาลิน ที่มองว่าชาวยูเครนซึ่งไม่ยอมรับนโยบายจากมอสโกและต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรงและพยายามเรียกร้องถามหาความเป็นเอกราช ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อสหภาพโซเวียต ทำให้สหภาพโซเวียตต้องดำเนินการปราบปรามพร้อมกับกำจัดชาวยูเครนออกจากพื้นที่สหภาพโซเวียต โดยโฮโลโดมอร์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายระบบนารวมของสหภาพโซเวียตที่กำหนดให้พืชพลทางการเกษตรทั้งหมดที่เก็บเกี่ยวได้ในยูเครนต้องถูกส่งไปที่ส่วนกลาง ทำให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงและการขาดแคลนอาหารขึ้นทั่วประเทศจนผู้คนล้มตาย ขณะที่ชาวนาและปัญญาชนที่ต่อต้านระบบดังกล่าวถูกกวาดล้างหรือเนรเทศไปยังไซบีเรียที่หนาวเย็นและกันดาร ส่งผลทำให้มีผู้บริสุทธิ์ทั้งชาย หญิง และเด็กที่ต้องจบชีวิตลงเพราะความอดอยากหิวโหย มีจำนวนตั้งแต่ 7-10 ล้านคนขึ้นไป

ภาพ statue at Holodomor memoria ที่กรุงเคียฟ ประเทศยูเครน

                เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี ค.ศ. 1991 สาธารณรัฐต่าง ๆ ภายในอดีตสหภาพโซเวียตได้แยกตัวเป็นเอกราช รวมถึงยูเครนด้วยแต่เหตุการณ์โฮโลโดมอร์ยังคงทิ้งร่องรอยความเจ็บปวดไว้บนหน้าประวัติศาสตร์ของยูเครนมาจนถึงทุกวันนี้ เห็นได้จากอนุสาวรีย์เด็กหิว หรือ statue at Holodomor memoria ที่ตั้งอยู่ในกรุงเคียฟ ที่ทุกคนที่ไปเยือนยูเครนจะได้เห็น กรณีดังกล่าวเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้ชาวยูเครนไม่พอใจคนรัสเซียและพยายามที่จะแยกตัวเป็นเอกราชจากรัสเซียในปี ค.ศ. 1991 เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย ซึ่งนั่นเป็นแค่เพียงหนึ่งในสาเหตุของความซับซ้อนที่สะท้อนออกมาให้เห็นของปัญหาของความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครนในปัจจุบันเท่านั้นเอง.

 

You may also like

เปิดตัวดัชนีชี้วัดความปลอดภัยของเด็ก บนโลกออนไลน์ทั้งในระดับชาติและระดับโลก

เปิดตัวด