ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ความหวังปลดล็อกความเสมอภาค ในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยของคู่รัก LGBTQIAN+

ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ความหวังปลดล็อกความเสมอภาค ในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยของคู่รัก LGBTQIAN+

ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม

ความหวังปลดล็อกความเสมอภาค

ในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยของคู่รัก LGBTQIAN+

    กลุ่ม LGBTQIAN+ (หรือกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ) เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพในการใช้จ่าย อีกทั้งแนวโน้มการขยายตัวของประชากรกลุ่มนี้ จากการวิเคราะห์ของ GAY TIMES (โดยใช้ข้อมูลของ IPSOS และ UN Population ร่วมกัน) คาดว่าประชากร LGBTQIAN+ จะมีจำนวนถึง 1 พันล้านคนทั่วโลกภายในปี 2593 ขณะที่ข้อมูลจาก LGBT Capital ณ สิ้นปี 2562 ระบุว่าผู้บริโภคกลุ่ม LGBTQIAN+ มีอำนาจการใช้จ่ายรวมกันถึง 3.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่น่าจับตามองอย่างมาก

นอกจากนี้ในด้านความเท่าเทียม อ้างอิงจาก รายงาน “Brand Purpose in Asia” ของ BBDO Asia เผยมุมมองที่น่าสนใจว่าผู้บริโภคชาวไทยส่วนใหญ่ให้การยอมรับเรื่องของ LGBTQIAN+ อย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เห็นได้จากการที่องค์กรภาคเอกชนมากมายได้ขับเคลื่อนนโยบายที่ตระหนักถึงกลุ่มพนักงานที่มีความหลากหลายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สังคมยังคงรอความชัดเจนในประเด็นการรับรองความเท่าเทียมทางเพศตามกฎหมาย

ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม เปิดโอกาสให้คู่สมรส LGBTQIAN+ เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้อย่างไร

ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับ พ.ศ. … หรือ ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมเป็นร่างกฎหมายที่เปิดโอกาสให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้ตามกฎหมาย พร้อมมีสิทธิในการสมรสไม่ต่างจากคู่สมรสชายหญิง โดยมีเนื้อหาที่ตอบโจทย์มากกว่าร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ทั้งในเชิงหลักการและในเชิงปฏิบัติ อย่างไรก็ดี หลังจากคณะรัฐมนตรีและที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมในวาระที่ 1 ในเดือนมิถุนายน 2565 ปัจจุบันยังรอพิจารณาวาระที่ 2-3 ต่อไป

นอกจากหลักการของ ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมจะสนับสนุนความเสมอภาคทางเพศให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นแล้ว หากมีการบังคับใช้เป็นกฎหมายในอนาคต จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยในหลากหลายบริบท รวมทั้งในตลาดอสังหาริมทรัพย์เช่นกัน ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย ชวนจับตาความน่าสนใจของร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม เมื่อผ่านเป็นกฎหมายแล้วจะช่วยคู่สมรส LGBTQIAN+ ให้เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยร่วมกันได้อย่างไรบ้าง

เปิดโอกาสในการกู้ซื้ออสังหาฯ ร่วมกัน แม้ปัจจุบันบางธนาคารจะเปิดโอกาสให้คู่รักชาว LGBTQIAN+ สามารถกู้ร่วมซื้อบ้านได้เช่นเดียวกับคู่รักต่างเพศ หรือมีแคมเปญรองรับคู่รักกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะแล้ว อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมจะทลายกรอบทางเพศลง เปิดทางให้คู่รักทุกเพศสามารถจดทะเบียนสมรสได้และมีสถานะทางกฎหมายเป็นคู่สมรส ซึ่งจะสามารถยื่นกู้ร่วมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยในนามคู่สมรส และมีกรรมสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยร่วมกันเช่นเดียวกับคู่สมรสชาย-หญิง

มีสิทธิ์การจัดการทรัพย์สินหรือสินสมรสร่วมกัน ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมจะช่วยให้คู่สมรส LGBTQIAN+ มีสิทธิในการบริหารจัดการสินสมรสร่วมกันตามกฎหมาย ได้แก่ ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส เช่น เงินเดือน โบนัส หรือทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือการให้เป็นหนังสือโดยระบุว่าเป็นสินสมรส รวมทั้งทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว ในกรณีที่ผู้บริโภคมีการซื้อบ้าน/คอนโดมิเนียมตั้งแต่ตอนยังโสดจะถือว่าที่อยู่อาศัยนั้นเป็นสินส่วนตัว หากมีการจดทะเบียนสมรสในภายหลัง และต้องการเพิ่มชื่อคู่สมรสเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน จะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ดังนี้ 

  • ค่าใช้จ่ายในการให้ 0.5% ของราคาประเมิน
  • ภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร ผู้ให้เปรียบเสมือนเป็นผู้ขายจึงต้องนำเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเฉพาะในส่วนที่ให้คู่สมรส
  • ค่าอากรแสตมป์ 0.5% ของราคาซื้อขาย แต่ต้องไม่ต่ำกว่าราคาประเมินที่ดิน โดยต้องครอบครองมากกว่า 5 ปีขึ้นไป หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเกิน 1 ปี หากไม่ตรงตามเกณฑ์นี้ จะเข้าข่ายต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตรา 3.3% ของราคาซื้อขายแทน

ในกรณีซื้อบ้าน/คอนโดฯ หลังจดทะเบียนสมรสแล้วจะถือว่าเป็นสินสมรส หากต้องการเพิ่มชื่อคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสเรียบร้อยแล้วเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อีกคน จะเสียค่าธรรมเนียมอยู่ที่ประมาณ 75 บาท หรือหากต้องการเพิ่มชื่อคู่สมรสในกรณีที่ต้องการเปลี่ยนจากการกู้เดี่ยวมาเป็นการกู้ร่วมนั้น ธนาคารจะนำรายได้และภาระหนี้ของคู่สมรสที่กู้ร่วมมาพิจารณาด้วยอีกครั้ง

สิทธิในการรับมรดกจากคู่สมรส พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากผู้ได้รับมรดกที่มีมูลค่าสุทธิรวมเกิน 100 ล้านบาท โดยทรัพย์สินมรดกที่จะต้องเสียภาษีมี 5 ประเภท ได้แก่ 1. อสังหาริมทรัพย์ 2. หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 3. เงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกันซึ่งอยู่ในประเทศไทย 4. ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน และ 5. ทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา

อย่างไรก็ดี หากผู้ที่ได้รับมรดกเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องของเจ้าของมรดกนั้น ๆ คู่สมรสจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมรดก ซึ่งร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมจะทำให้คู่สมรส LGBTQIAN+ ได้รับสิทธินี้เช่นกัน หรือหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตและไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ คู่สมรส LGBTQIAN+ ที่ยังมีชีวิตจะถือเป็นทายาทโดยธรรมอันมีสิทธิรับมรดกของคู่สมรสที่เสียชีวิตได้ตามกฎหมาย โดยไม่ต้องเสียภาษีมรดกเช่นกัน

ส่องเทรนด์ที่อยู่อาศัยน่าจับตามองของชาว LGBTQIAN+

เนื่องในเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (Pride Month) ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) ชวนมาอัปเดตเทรนด์ที่อยู่อาศัยมาแรง ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์วิถีชาว LGBTQIAN+ ที่น่าจับตามองในยุคนี้

Pet Humanization รักสัตว์เลี้ยงเหมือนลูก ผลสำรวจตลาดธุรกิจสัตว์เลี้ยงในไทยของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เผยว่า 49% ของกลุ่มตัวอย่างนิยมเลี้ยงสัตว์เป็นลูก (Pet Parent) มากที่สุด โดยมีค่าใช้จ่ายในการดูแลเสมือนลูกเฉลี่ยอยู่ที่ 14,200 บาท/ตัว/ปี นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่า ตลาดสัตว์เลี้ยงจะมีมูลค่าสูงถึง 66,748 ล้านบาทในปี 2569 เติบโตเฉลี่ยปีละ 8.4% ซึ่งเป็นปัจจัยบวกให้กับธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยงด้วยเช่นกัน

สอดคล้องกับเทรนด์การใช้ชีวิตปัจจุบันที่คนไทยมีแนวโน้มครองตัวเป็นโสดมากขึ้น หรือแต่งงานแต่ไม่มีบุตร โดยเฉพาะในกลุ่ม LGBTQIAN+ ที่มักให้ความสนใจเลี้ยงสัตวเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนยามเหงา หรือดูแลอย่างดีเหมือนเป็นลูก ส่งผลให้มองหาโครงการที่อยู่อาศัยที่มาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์แบบนี้มากขึ้น โดยบ้านหรือคอนโดฯ ไม่เพียงแต่ต้องอนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ได้ แต่ควรมาพร้อมสวัสดิการและสิ่งอำนวยความสะดวกที่รองรับการดำเนินชีวิตของสัตว์เลี้ยงอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งด้วยวัสดุหรือเฟอร์นิเจอร์ที่ทนรอยขีดข่วน มีพื้นที่ออกกำลังกายหรือสระว่ายน้ำของสัตว์เลี้ยง ก่อสร้างด้วยผนังห้องที่ช่วยเก็บเสียง มีเครื่องฟอกอากาศกำจัดเชื้อโรค รวมไปถึงการตั้งอยู่ใกล้คลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์

พื้นที่ออกกำลังกายครบครัน เสริมสุขภาพกาย-ใจ อีกปัจจัยที่กลุ่ม LGBTQIAN+ ให้ความสำคัญคือการดูแลสุขภาพ โครงการที่อยู่อาศัยในฝันจึงต้องมาพร้อมพื้นที่ส่วนกลางรองรับการออกกำลังกายได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่กลางแจ้ง เช่น ลู่วิ่ง เลนปั่นจักรยาน สระว่ายน้ำ รวมทั้งห้องออกกำลังกายส่วนกลาง (Fitness Center) ที่มาพร้อมเครื่องออกกำลังกายที่ทันสมัย มีจำนวนอุปกรณ์เพียงพอรองรับการใช้งานได้อย่างครบครัน

นอกจากนี้ การมีสระว่ายน้ำวารีบำบัด หรือมีเครื่องออกกำลังกายในน้ำยังถือเป็นเทรนด์การดูแลสุขภาพที่น่าจับตามอง เนื่องจากเป็นอีกทางเลือกในการลดความเสี่ยงของอาการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายได้อีกด้วย ตอบโจทย์คนรักสุขภาพทุกเพศทุกวัย ขณะเดียวกัน ภายในพื้นที่ส่วนกลางควรมีสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวเพียงพอ รองรับการพักผ่อนหย่อนใจ และทำกิจกรรมไลฟ์สไตล์สุขภาพต่าง ๆ สภาพแวดล้อมที่รายล้อมด้วยธรรมชาติจะช่วยเสริมสร้างสุขภาพใจให้แข็งแรง และผ่อนคลายความเครียดได้เป็นอย่างดี

เทรนด์ DINK ดันคู่รักไม่มีลูกมุ่งลงทุน ปัจจุบันเทรนด์ DINK (Double Income No Kid) กำลังได้รับความนิยมในไทย โดยเป็นแนวคิดของคู่รักรุ่นใหม่ที่ต่างทำงานทั้งคู่แต่ยังไม่มีลูก หรือวางแผนไม่มีลูก ซึ่งรวมทั้งคู่รักกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีรายได้สองทาง โดยไม่มีภาระในส่วนค่าเลี้ยงดูบุตร ส่งผลให้มีกำลังซื้อสูงและมีความสามารถในการใช้จ่ายเพื่อตัวเองมากขึ้นตามไปด้วย ขณะเดียวกันผู้บริโภคกลุ่ม DINK ก็มีโอกาสเก็บออมเงินได้มากกว่าคนทั่วไป จึงนิยมวางแผนบริหารการเงินให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์ด้วยการนำไปลงทุน ซึ่งการลงทุนอสังหาฯ ถือเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจในการสร้างผลตอบแทนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากมีความผันผวนน้อยกว่า และให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนประเภทอื่น ๆ โดยการลงทุนอสังหาฯ ที่น่าสนใจมีหลากหลายรูปแบบ ดังนี้

การลงทุนแบบเก็งกำไร เช่น การทำกำไรจากการขายใบจองคอนโดฯ เป็นการลงทุนระยะสั้นที่ใช้เงินลงทุนน้อย แต่ได้ผลตอบแทนเร็ว

การลงทุนแบบปล่อยเช่ารายเดือน เหมาะกับนักลงทุนแบบเสือนอนกินที่มีเงินเก็บหรือมีเงินเย็นพร้อมในการลงทุน

การลงทุนในกองทุนอสังหาฯ มีความเสี่ยงต่ำ สามารถลงทุนได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก แต่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอในระยะยาว

การลงทุนรีโนเวท เป็นการซื้อบ้าน/คอนโดฯ มือสองมาตกแต่งใหม่ให้สวยงามแล้วขายต่อในราคาที่เพิ่มขึ้น

แม้ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมจะต้องรอการพิจารณาในวาระอื่น ๆ แต่ถือได้ว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่จะสร้างแรงกระเพื่อมที่สำคัญในสังคมไทยอีกครั้ง ปัจจุบันคู่รัก LGBTQIAN+ ที่ต้องการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยสามารถศึกษาเงื่อนไขการกู้ร่วมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยในแคมเปญต่าง ๆ ของหลายธนาคารที่มีออกมารองรับได้เช่นกัน ทั้งนี้เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย อย่างดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (www.ddproperty.com) ได้รวบรวมข้อมูลข่าวสารและเรื่องราวน่ารู้ในแวดวงอสังหาฯ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนเลือกที่อยู่อาศัยในฝัน พร้อมเป็นแหล่งรวมประกาศซื้อ-ขาย-เช่าที่อยู่อาศัยในหลากหลายทำเลทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยสามารถศึกษาหาข้อมูลทุกเรื่องที่สนใจ เตรียมความพร้อมในทุกด้านก่อนเป็นเจ้าของบ้านได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น

You may also like

เปิดตัวดัชนีชี้วัดความปลอดภัยของเด็ก บนโลกออนไลน์ทั้งในระดับชาติและระดับโลก

เปิดตัวด