ลงพื้นที่ทันที! คปภ.รุดช่วยด้านประกัน กรณี BMW ข้ามเกาะชน 3 ศพ

ลงพื้นที่ทันที! คปภ.รุดช่วยด้านประกัน กรณี BMW ข้ามเกาะชน 3 ศพ

ลงพื้นที่ทันที!

คปภ.รุดช่วยด้านประกัน กรณี BMW ข้ามเกาะชน 3 ศพ

                  คปภ. ลงพื้นที่ทันที เพื่อช่วยเหลือด้านประกันภัยกรณีอุบัติเหตุรถยนต์ BMW ข้ามเกาะไปชนรถยนต์ซูซูกิ เสียชีวิต 3 ราย ที่จังหวัดเพชรบูรณ์

                ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีอุบัติเหตุรถยนต์เก๋งยี่ห้อ BMW ทะเบียน 3กก 7558 กทม. ข้ามเกาะกลางถนนไปเฉี่ยวชนรถยนต์เก๋งยี่ห้อซูซูกิ ทะเบียน 1ขฐ 9316 กทม. ที่หลักกิโลเมตรที่ 180-181 หมู่ที่ 7 ตำบลห้วยโป่ง อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บ 1 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2564 นั้น เบื้องต้น ได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกับสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ. ภาค 2 (นครสวรรค์) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดเพชรบูรณ์ ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ ตรวจสอบการทำประกันภัยพร้อมเร่งอำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้ประสบภัย ตลอดจนติดตามรายงานความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้ประสบภัยและครอบครัว เพื่อใช้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม

            ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. จังหวัดเพชรบูรณ์ ว่ารถยนต์เก๋งที่ประสบอุบัติเหตุในครั้งนี้ ได้ทำประกันภัยรองรับ ไว้ดังนี้

                1. รถยนต์เก๋งยี่ห้อ BMW ทะเบียน 3กก 7558 กทม. ได้ทำประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ NCMI9008333262 เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 สิ้นสุดวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บสูงสุด ไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000 – 500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน

                2. รถยนต์เก๋งยี่ห้อซูซูกิ ทะเบียน 1ขฐ 9316 กทม. ได้ทำประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ SMD/VVC/20-C6883089 เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 3 กันยายน 2563 สิ้นสุดวันที่ 3 กันยายน 2564 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บสูงสุด ไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000-500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน และประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (ประเภท 1) กรมธรรม์เลขที่ SMD/VV1/20-11591276 เริ่มคุ้มครองวันที่ 3 กันยายน 2563 สิ้นสุดวันที่ 3 กันยายน 2564 โดยคุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย อนามัยของบุคคลภายนอก 500,000 บาทต่อคน แต่ไม่เกิน 10,000,000 บาทต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง ทรัพย์สินของบุคคลภายนอก 5,000,000 บาท ความเสียหายต่อรถยนต์ 490,000 บาทต่อครั้ง และคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลกรณีสูญเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ของผู้ขับขี่/ผู้โดยสาร (5 คน) 200,000 บาทต่อคน ค่ารักษาพยาบาล 200,000 บาทต่อคน และประกันตัวผู้ขับขี่ 200,000 บาท

                สำหรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของผู้เสียชีวิตทั้ง 3 ราย บริษัทประกันภัยดังกล่าวพร้อมจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับทายาทผู้เสียชีวิตโดยทันที หากได้ยื่นหลักฐานครบถ้วนแล้ว ในส่วนผู้บาดเจ็บขณะนี้นอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ได้ประสานกับบริษัทประกันภัยเข้าไปอำนวยความสะดวกและรับรองสิทธิค่ารักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลโดยตรง โดยผู้บาดเจ็บไม่ต้องสำรองจ่าย  

                นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. จะได้บูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่าผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บในอุบัติเหตุครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วยหรือไม่ หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก ก็จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้อีกด้วย

                "ผมขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและมีความห่วงใยต่อผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุครั้งนี้ พร้อมจะดูแลในด้านประกันภัยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลาและกับทุกคน เพื่อความอุ่นใจควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย โดยเฉพาะการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) การประกันภัยรถภาคสมัครใจ และการประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัย สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

You may also like

“เฉลิมชัย-ประชาธิปัตย์“ห่วงปัญหาเหลื่อมล้ำ จัดเวทีนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเดโมแครต ฟอรั่ม” ขจัดการผูกขาด: ลดเหลื่อมล้ำแก้จน”

“เ