สคล.ผนึก สสส. ถอดผลสำเร็จงดหล้า อ.นาดูน ค้นพบ 3 ส.-สร้างคน -สร้างข้อตกลง-สร้างชุมชนปลอดเหล้า

สคล.ผนึก สสส. ถอดผลสำเร็จงดหล้า อ.นาดูน ค้นพบ 3 ส.-สร้างคน -สร้างข้อตกลง-สร้างชุมชนปลอดเหล้า

สคล.ผนึก สสส. ถอดผลสำเร็จงดหล้า อ.นาดูน

ค้นพบ 3 ส.-สร้างคน -สร้างข้อตกลง-สร้างชุมชนปลอดเหล้า

            สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  จัดเวทีศึกษาดูงานยกระดับและขยายผลการขับเคลื่อนงานประชาคมงดเหล้า จังหวัดมหาสารคาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถอดบทเรียนผลสำเร็จของการดำเนินงานของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ใน 3 ตำบล ของอำเภอนาดูน ประกอบด้วย ตำบลดงบัง ตำบลกู่สันตรัตน์ และตำบลหนองไผ่  ก่อนสรุปบทเรียนการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนเป็นบทเรียนขยายผล มีนายศรีสุวรรณ  ควรขจร  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. และ นายธีระ  วัชรปราณี  ผู้จัดการ สคล. พร้อมภาคีเครือข่าย สคล.เข้าร่วมงาน ณ ศาลาตุมตัง สถานบันวิจัยวลัยรุกเวช  อ.นาดูน  มหาวิทยาลัยสารคาม

                นายบุญชอบ  สิงห์คำ  ผู้ประสานงานประชาคมงดเหล้าจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า อ.นาดูน เป็นพื้นที่ที่มีเจ้าหน้าที่ รพ.สต.มีใจและเห็นปัญหาจากปัจจัยเสี่ยงเหล้าบุหรี่ ประกอบกับมีนายอำเภอ และสาธารณสุขอำเภอที่สนับสนุนโดยกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอ (พชอ.) ที่ผ่านมางานสักการะพระธาตุนาดูนสามารถเปลี่ยนแปลงให้เป็นงานปลอดเหล้าได้สำเร็จ จึงได้เน้นพัฒนาโมเดลแก้ปัญหาเชิงลึก โดยมี 3 ตำบลต้นแบบ ซึ่งแต่ละพื้นที่ประสบความสำเร็จจากแนวทางการทำงานที่แตกต่างกัน  ได้แก่ ตำบลหนองไผ่ มีกลไกขับเคลื่อน  โดยรพ.สต.เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน ร่วมกับผู้นำชุมชน (ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน)  อาสาสมัครสาธารณสุขตำบล อาสาสมัครเครือข่ายงดเหล้า (อ.สคล.) โดยใช้สติบำบัดและสร้างแรงจูงใจในการลด ละ เลิกเหล้า ใช้โปรโมชั่นเลิกเหล้าได้ผ้าห่มนวมผืนใหญ่ ซึ่งเป็นการให้รางวัลสร้างแรงจูงใจ พร้อมการให้กำลังใจอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ยืนหยัดในการเลิกเหล้า

                ส่วนตำบลกู่สันตรัตน์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ดื่มหนักมากไม่มีใครกล้าที่จะชวนกันงดเหล้า จึงต้องไปเริ่มที่งดบุหรี่ก่อน แล้วใช้แนวทางดึงผู้หญิงเข้าเป็นแกนนำร่วมกับ รพ.สต. ผู้นำชุมชน และ อ.สคล. โดยยึดหลักเชิงความเชื่อดังเดิมแต่โบราณ คือ มีผู้หญิงเป็นแกนหลักในการชักชวน ใช้ความเป็นกันเองในการชวนคนเลิกเหล้าโดยการชักชวนอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการใช้สติบำบัดเป็นเครื่องมือ จนนำไปสู่การเกิดข้อสัญญาใจร่วมกันของคนในชุมชน คือ งานบุญกฐินห้ามดื่มเหล้า  งานศพปลอดเหล้า  งานบุญปลอดเหล้า 

                ตำบลดงบัง กลไกการทำงานโดยความร่วมมือ รพ.สต. องค์การบริหารส่วนตำบล  ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนปราชญ์ชาวบ้าน อ.สคล.ตำบล อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน(อสม.)และกลุ่มส่งเสริมอาชีพ และใช้โครงการสติสร้างสุขเป็นเครื่องมือในการ ลด ละ เลิกเหล้า สร้างทีมงาน อ.สคล.เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนงานงดเหล้าในพื้นที่ ใช้คนต้นแบบเป็นคนลงพื้นที่เชิญชวนคนเลิกเหล้าอย่างต่อเนื่อง มีการแบ่งการทำงานเป็นโซน ทั้งยังสร้างนิยาม  “สร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเลิกเหล้า”  

                นายบุญชอบ  กล่าวด้วยว่า บทเรียนการทำงานเชิงพื้นที่ทั้ง 3 แห่ง คือ เจ้าหน้าที่ รพ.สต. มีบทบาทเป็นผู้ประสานความร่วมมือเพื่อให้เกิดแกนนำตามธรรมชาติที่เห็นปัญหามาเป็นคณะทำงานจิตอาสาชวนช่วยชมเชียร์ คนเลิกเหล้า และสร้างกติกาชุมชนงานประเพณีปลอดเหล้า เช่น งานศพ กฐิน ผ้าป่า ร้านค้าปฏิบัติตามกฎหมาย เป็นต้น เมื่อการดำเนินงานเกิดคนเลิกเหล้าหัวใจหิน หัวใจเหล็ก หัวใจเพชรที่เลิกเหล้าตลอดชีวิต จะมีการจัดตั้งเป็นชมรมอาสาสมัครเครือข่ายงดเหล้า (อ.สคล.) พัฒนาคุณภาพชีวิตของครอบครัว สร้างอาชีพ รายได้ โดยค่อยๆ เริ่มจากตำบลดงบัง แล้วขยายมาอีก 2 ตำบล ทั้งนี้ได้สรุปเป็นหลักการสร้างโมเดล 3 ส. ในการควบคุมการบริโภคและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชน

                3 ส. ประกอบด้วย 1.สร้างคน สร้างทีมเครือข่ายงดเหล้าตำบล อบรมให้ความรู้แนวทางแก้ปัญหา ค่ายเยาวชนพี่สอนน้อง สร้างรายได้และอาชีพให้กลุ่มคนเลิกเหล้า สร้างคนต้นแบบ 2.สร้างข้อตกลง แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างมาตรการชุมชน ทำแผนการดำเนินงานมาตรการชุมชนสู่ข้อปฏิบัติ ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ 3.สร้างชุมชนปลอดเหล้า โดยมีการเฝ้าระวังการดื่มในชุมชน ทำสื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

                ดร.ผดุงศิษฏ์  ชำนาญบริรักษ์  ทีมนักวิชาการประชาคมงดเหล้าจังหวัดมาหาสารคาม  นำเสนอข้อมูลสถานการณ์ การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อ.นาดูน จ.มหาสารคาม ว่า ข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้นใช้ข้อมูลเชิงนโยบายเปรียบเทียบข้อมูลเชิงพื้นที่  โดยการเก็บข้อมูลในอำเภอนาดูน  จากจำนวน 576 คน  ในกลุ่มวัยทำงาน  พบว่าผู้หญิงมีแนวโน้มดื่มมากขึ้นซึ่งไปสอดคล้องกับข้อมูลระดับประเทศ   การใช้จ่ายเฉลี่ย 467 บาท  สิ่งที่คนในพื้นที่ชอบดื่มมากสุด คือ เบียร์ เฉลี่ย 2 ขวด/ครั้ง รองลงมาเป็นเหล้าขาว โดยการดื่มผสมกับเครื่องดื่มชูกำลัง เฉลี่ย 2 ขวด/ครั้ง

                สำหรับผลกระทบจากการดื่ม คือ  1.เสียค่าใช้จ่าย  2.ทะเลาะวิวาทในชุมชน / ครอบครัว  3.อุบัติเหตุ  ส่วนสาเหตุการคิดอยากเลิก เพราะมีปัญหาสุขภาพ และอยากสนับสนุนให้อำเภอนาดูนเป็นต้นแบบในการเลิกสุรา เป็นต้น  จากการเก็บข้อมูลในระดับพื้นที่ ตำบลดงบัง พบว่ามีความไม่แตกต่างจากข้อมูลในระดับอำเภอ โดยกลุ่มตัวอย่าง  576 คน  พบว่ามีกลุ่มคนดื่มครั้งแรกอายุเฉลี่ย 21 ปี  ต่ำสุดอายุ 12 ปี  มีการดื่มเบียร์มากเป็นอันดับ1 รองลงมาเป็นเหล้าขาว และจากการเก็บข้อมูลในตำบลดงบัง สังเคราะห์ได้เป็นโมเดล 3 ส.

 

              นางสุบิน ปักกัดตัง  อายุ 51 ปี คนหัวใจเพชร ม.4 ต.กู่สันตรัตน์ เล่าว่า “ลำยอง2” เป็นฉายาในอดีต ที่ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ ไปไหนใครๆ ก็รังเกียจ ทำงานไม่ได้ มีหนี้สินรุงรัง เริ่มแรกไม่ได้ต้องการเลิกจริงจัง ทางรพ.สต.มาชักชวนเข้าร่วมอบรมก็คิดว่าแค่สนุกๆและยังได้เบี้ยเลี้ยงในการอบรมด้วย (ตอนแรกยังเอาเบี้ยไปซื้อเหล้ากินเลย) แต่พอเข้าขบวนการเห็นข้อดีของการเลิกเหล้าและได้รับกำลังใจจากคนรอบข้างจึงตัดสินใจเลิกจริงจังและตั้งใจเลิกเหล้าตลอดชีวิต เมื่อกลายเป็นคนใหม่ เปลี่ยนตัวเอง กล้าพูด กล้าทำ จากเดิมมีแต่คนเดินหนี ปัจจุบันยังมีคนสนับสนุนให้ตนเป็นผู้นำชุมชนอีกด้วย ที่สำคัญเมื่อเลิกเหล้าสุขภาพดีขึ้น เวลาว่างก็หารายได้เสริม โดยได้ลองผลิตสินค้าเป็นผงย้อมสีผมจากสีธรรมชาติซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก

                นายศรีสุวรรณ ควรขจร  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า  สคล.ได้ร่วมขับเคลื่อนกับสสส. มานานกว่า 19 ปี  เป็นภาคีที่มีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ลด ละ เลิกบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการปรับสภาพแวดล้อม โดยมีกิจกรรมมากมาย เช่น การสวดมนต์ข้ามปี ฯลฯ ปัจจุบันทิศทางของการดำเนินธุรกิจแอลกอฮอล์ ถึงจุดที่มีความท้าทายมากขึ้น อาจมีการเปิดเสรีมากขึ้นหรือควบคุมการตลาดน้อยลง  ดังนั้น สคล.ควรมีฐานความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์หานวัตกรรมใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาปัจจัยเสี่ยงเหล้าบุหรี่ หรืออาจจะสนับสนุนภูมิปัญญาท้องถิ่นสร้างอาชีพมีรายได้ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นพลังในการชักชวนให้คนเลิกเหล้ามากขึ้น

                “สสส.เสนอใน 3 แนวทางในการขยายผล คือ  1.ความสำเร็จที่เกิดขึ้นทำอย่างไรจะนำไปสู่การเป็นกฎหมายและนโยบายใหม่ๆ 2.การขยายและกระจายไปด้วยการสื่อสารในกิจกรรมที่ดี เช่น สวดมนต์ข้ามปี  3.สถาบันพัฒนาการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ มีชุดหลักสูตร องค์ความรู้  อยากให้ภาคีมองหาหนทางที่จะรักษาความสำเร็จที่เกิดขึ้นและถอดบทเรียนพร้อมขยายผลไปสู่ระดับอำเภอ จังหวัดและพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป”นายศรีสุวรรณ   กล่าวในตอนท้าย 

 

You may also like

TQM ร่วมกับ MSIG ส่งความสุขท้ายปี มอบฟรี “ประกันภัยรถยนต์ตามคน” ขับคันไหนก็คุ้มครอง

TQM ร่วม