สคล.ยก“ต้นไม้ปัญหา” เครื่องมือชวนเลิกเหล้าสำเร็จ
สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เผย “ต้นไม้ปัญหา” เครื่องมือชวนเลิกเหล้าสำเร็จ ปลื้มผลพวงจากเลิกเหล้า ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงด้านอื่นๆ เพิ่ม ทั้ง บุหรี่-การพนัน
นางสาวอุบลวรรณ คงสว่าง (พี่ป้อม) ผู้ประสานงานเครือข่ายงดเหล้า ภาคตะวันตก สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เปิดเผยว่า หลังจากที่มีโอกาสได้ดำเนินโครงการบูรณาการสร้างสุขลดทุกข์กลุ่มแรงงานนอกระบบพื้นที่ชุมชนคนสู้เหล้า จังหวัดสุพรรณบุรี ที่เน้นกระบวนการเสริมสร้างความเข้มแข็ง การจัดสภาพ แวดล้อมชุมชนผ่านมาตรการชุมชน โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่ายสุขภาพ ขับเคลื่อนประเด็นการทำงานงดเหล้าและการจัดการฐานข้อมูลในพื้นที่ โดยใช้กลไกพี่เลี้ยง ขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุก พร้อมกับการยกระดับและพัฒนาทักษะพี่เลี้ยง ในการจัดการการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและจัดสภาพแวดล้อมชุมชน ทำให้เข้าถึงแอลกอฮอล์ได้ยากขึ้น โดยพัฒนาศักยภาพคนหัวใจเพชร/แกนนำสนับสนุนชุมชน จัดการปัญหาความเครียดจากผลกระทบโควิด ด้วยกระบวนการ “เพื่อนช่วยเพื่อน” โดยบทบาทพี่เลี้ยง(คนหัวใจเพชร หรือ แกนนำ) ในการส่งเสริม,ป้องกันกับชุมชน และผู้ที่มีปัญหาติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้จัดการความเครียด ความกังวลใจ เพื่อการเพิ่มความสุขและลดทุกข์ในระดับบุคคล ครอบครัว และขยายผลสู่เพื่อน เครือข่าย และชุมชน อย่างเป็นระบบและสอดคล้องกับสถานการณ์ ขณะนี้ได้นำร่อง 2 จังหวัดได้แก่ สุพรรณบุรี และ ราชบุรี ภายใต้กระบวนการสร้างสุข ลดทุกข์ โดยใช้ “ต้นไม้ปัญหา” เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาที่นำมาใช้ในกระบวนการชวนเลิกเหล้า ซึ่งไม่เพียงแก้ปัญหาเรื่องการดื่มเหล้าได้แล้ว ยังมีผลสำเร็จในการช่วยลดปัจจัยเสี่ยงด้านอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาด้วย อาทิ บุหรี่ การพนัน โรค NCDs เป็นต้น และในปี 2565 ภาคตะวันตก เตรียมขยายผลไปยังอีก 6 จังหวัด
“กระบวนการสร้างสุข ลดทุกข์ คนในครอบครัวของนักดื่มก็สามารถมาร่วมกระบวนการได้ เพื่อมาร่วมรับฟังถึงสาเหตุของปัญหา มาร่วมช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว โดยมีเครื่องมือสำคัญ คือ ต้นไม้ปัญหา ที่เป็นตัวช่วยในการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วนำปัญหามาจัดทำแผนเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยให้เขาค้นพบต้นเหตุแห่งปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น และไปแก้ไขที่ต้นเหตุ เมื่อความสัมพันธ์ภายในครอบครัวดีขึ้น สุขภาพกาย สุขภาพจิตใจดีขึ้น ส่งผลให้การทำงานดีตามมา มีกรณีตัวอย่างผู้เข้าร่วมกระบวนการหลายรายเมื่อเลิกเหล้าได้ นอกจากสุขภาพจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดแล้ว ค่าเหล้าก็กลับมาเป็นเงินลงทุนสร้างอาชีพใหม่ได้ ครอบครัวมีความสุขมากขึ้น เรามองว่าครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง” พี่ป้อมกล่าว
ด้านนายภัทรพงษ์ กิตติวิริยะพันธ์ (กำนันรุ่ง) ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จังหวัดสุพรรณบุรี เล่าถึง ต้นไม้ปัญหา เครื่องมือสำคัญในกระบวนการช่วยเลิกเหล้า ว่า ผู้ที่เข้าร่วมกระบวนการสร้างสุขลดทุกข์ ต้องประเมินสุขภาพจิตของตนเองก่อนว่ามีความเครียดในระดับใด โดยใช้แบบสอบถามของกรมสุขภาพจิต ชวนคิด ชวนคุยหาสาเหตุของความเครียดเกิดมาจากปัญหาอะไรบ้าง จากนั้นจึงนำเข้าสู่กระบวนการต้นไม้ปัญหา เพื่อวิเคราะห์หาหนทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเปรียบ ปัญหาเป็นส่วนของลำต้น ส่วนรากเป็นสาเหตุของปัญหา และส่วนยอด คือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากปัญหาดังกล่าว จะทำให้เขาเห็นภาพรวมของปัญหาต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น เมื่อรู้สาเหตุที่แท้จริงของปัญหาก็สามารถแก้ไขที่ต้นทางได้
“บางคนเครียดจากปัญหาหนี้สิน สุขภาพก็ไม่ดี (ลำต้น) เมื่อไล่เรียงหาสาเหตุที่แท้จริง พบว่า เกิดจากการดื่มเหล้าหนัก (ราก) ส่งผลทำให้ร่างกายทรุดโทรม สติสัมปชัญญะไม่พร้อมทำงาน รายได้หดหาย เงินไม่พอใช้จ่าย (ยอด) เป็นการชี้ให้เห็นถึงสาเหตุที่มาแห่งปัญหา และชี้ให้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วยว่าหากเขาไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือตัดต้นตอของปัญหาออกไป ปัญหาต่างๆก็จะยังคงวนเวียนอยู่เช่นนี้ แต่เมื่อเขาตัดสินใจที่จะยุติปัญหาแล้ว เราจะนำเข้าสู่กระบวนการวางแผนสู่เป้าหมายแห่งชีวิตใหม่และการวางแผนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ให้สำเร็จโดยจะมีพี่เลี้ยงคอยช่วยตลอดระยะการเดินทางสู่เป้าหมายนั้น” กำนันรุ่งกล่าว
กำนันรุ่ง กล่าวอีกว่า สำหรับกิจกรรมเพิ่มเติมในกระบวนการชวนเลิกเหล้า ประกอบด้วย 1)การบันทึกบัญชีรายรับรายจ่ายครอบครัว เพื่อให้รู้จักสถานะเศรษฐกิจของครอบครัว จดบันทึกข้อมูล รายรับรายจ่ายของแต่ละวัน โดยทำตั้งแต่วันที่ปฏิญาณตนงดเหล้าจนออกพรรษา 2) กิจกรรมลดรายจ่าย บางคนจะเขียนไว้เลยว่างดค่าเหล้าตลอดพรรษา ผลลัพธ์ คือ ลดรายจ่ายเห็นเป็นตัวเลขชัดเจน หรือ บางคนก็เขียนว่า ไม่ซื้อลอตเตอรี่ ค่าใช้จ่ายก็ลดลง บางคนหันมาเลี้ยงไก่ไข่ ปลูกผัก เลี้ยงปลา สามารถลดค่าอาหารลงไปได้อีก 3)กิจกรรมเพิ่มรายได้ คือ ประกอบอาชีพเสริม ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ผลลัพธ์ คือ มีรายได้ต่อเดือนเพิ่มขึ้น และ 4) กิจกรรมการเก็บออมเงิน นำเงินมาหยอดกระปุกออมสิน เท่าที่กำลังของแต่ละคนจะสามารถทำได้
ด้าน นายอดิศร เพชรคง (กอล์ฟ) และ นางปฎิสรัชดา ที่วิเศษ (ไผ่) สองสามี-ภรรยา ต.บ้านโข้ง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี คู่ตัวอย่างที่เข้าร่วมกระบวนการสร้างสุขลดทุกข์ จนครอบครัวพลิกฟื้นกลับมาดีขึ้น โดยกอล์ฟ ฝ่ายสามี เล่าให้ฟังว่า เดิมนั้นตนดื่มเหล้ามากกว่า 20 ปี เมื่อมีคำถามถึงจำนวนเงินที่หมดไปกับค่าเหล้าในแต่ละวัน รวมเป็นเงินเท่าไหร่ในแต่ละเดือนและจนถึงปัจจุบันหมดเงินไปแล้วเท่าไหร่ เมื่อคำนวณดูแล้วตกใจมากกับจำนวนเงินหลายล้านบาทที่หมดไปกับค่าเหล้าซึ่งสามารถนำไปซื้อบ้านซื้อรถได้เลย ก่อนเข้าร่วมกระบวนการสร้างสุข ลดทุกข์ ตนมีปัญหาหนี้สินและสุขภาพที่ย่ำแย่จากการดื่มเหล้า ทั้งปัญหาครอบครัวที่แม้แต่แม่และภรรยายังไม่กล้าเข้ามาพูดคุยด้วย
ในกระบวนการฯ ได้นำรูปแบบ ต้นไม้ปัญหา มาช่วยวิเคราะห์หาทางออก เมื่อก่อนมีแต่เวลาสังสรรค์กับเพื่อนฝูง เมื่อเลิกดื่มก็มีเวลาให้ครอบครัวมากขึ้น ครอบครัวเราอบอุ่นขึ้น ปัญหาหนี้สินที่มีอยู่ก็เริ่มลดลง ในแต่ละปีเราจะตั้งเป้าหมายในชีวิต ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้อย่างไร การทำบัญชีครัวเรือนแบบง่ายๆ จะทำให้เราเห็นภาพรายรับ-รายจ่ายชัดเจน ทำให้รู้ว่าจะเพิ่มรายรับหรือลดรายจ่ายตรงไหนได้อีกบ้าง หนี้สินมีอะไรบ้าง จดเป็นรายการไว้เลย รายการหนี้สินของเราก็ค่อยๆ ลดลงและหายไปทีละรายการแล้ว ผมและภรรยาใช้วิธีจดเป้าหมายเป็นรายการไว้บนกระดานแขวนไว้ในจุดที่ตื่นขึ้นมาก็เห็นเลย จะช่วยให้เราตระหนักอยู่เสมอและช่วยให้เราไม่หลงลืมเป้าหมายที่วางไว้
กอล์ฟ เล่าอีกว่า ในส่วนของการเพิ่มรายได้ ได้นำเงินค่าเหล้าที่เก็บออมไว้ปรับเปลี่ยนมาเป็นทุนในการสร้างอาชีพ ด้วยการขายต้นไม้ด่าง-บอนสี โดยศึกษาหาข้อมูลจากยูทูป จนสามารถเพาะต้นพันธุ์ขายได้แล้ว พร้อมกันนี้ยังเรียนรู้การขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ปัจจุบันสามารถสร้างรายได้กว่า 7-8 หมื่นบาทต่อเดือน เรียกว่า คุณภาพชีวิตดีขึ้นมาก หากไม่เข้ากระบวนการฯ ในตอนนั้นชีวิตก็คงเหมือนงูกินหาง จน เครียด กินเหล้า วนเวียนอยู่อย่างนั้นไม่จบสิ้น ทุกวันนี้ ตั้งแต่เลิกเหล้า ก็ไม่เครียดและไม่จน ครอบครัวมีความสุขมาก และยังได้นำประสบการณ์ชีวิตไปเป็นวิทยาทานและคอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษากับคนอื่นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เขามีกำลังใจในการเลิกเหล้าด้วย
Social Links