สว.พบประชาชน ลงพื้นที่ภาคใต้
รับฟังแนวทางพัฒนาท่องเที่ยว
คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ลงพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา รับฟังแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดยะลา สู่การพัฒนาเมือง SMART CITV รวมถึงการค้าและการขนส่งชายแดนไทย-มาเลเซียของด่านศุลกากรเบตง
ว่าที่ร้อยตรี เชิดศักดิ์ จำปาเทศ สมาชิกวุฒิสภา พร้อมด้วยคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย พลอากาศเอก สุจินต์ แช่มช้อย สมาชิกวุฒิสภา นายภาณุ อุทัยรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา นายนิอาแซ ซีอุเซ็ง สมาชิกวุฒิสภา และ นายขวัญชาติ วงศ์ศุภรานันต์ สมาชิกวุฒิสภา ได้ลงพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา รับฟังและเยี่ยมธุรกิจการค้า การประกอบอาชีพ รวมถึงศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆของประชาชน อ.เบตง และร่วมประชุมรับฟังบรรยายสรุปรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานต่างๆของจังหวัดยะลา อาทิ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ พร้อมรับฟังข้อมูลด้านเศรษฐกิจการค้าชายแดนรวมถึงปัญหาและอุปสรรคและแนวทางแก้ไข โดยมีนายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นายอมร ชุมช่วย นายอำเภอเบตง นายสกุล เล็งลัคน์กุล นายกเทศมนตรีเมืองเบตง นายกิจจา ไวชมภู ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดยะลา นางสาวปิยฉัตร กุลรักษา นายด่านศุลกากรเบตง พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และผู้ประกอบการร้านค้า เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมไกรลาส (ชั้น2) ที่ว่าการอำเภอเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา
ว่าที่ร้อยตรี เชิดศักดิ์ จำปาเทศ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า โครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ได้ดำเนินการลงพื้นเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัด เพื่อเปิดโอกาสในการสร้างความเข้าใจในเรื่อง บทบาท หน้าที่และอำนาจของวุฒิสภา ต่อส่วนราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ได้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ หรือความต้องการของประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐในทุกระดับ สามารถใช้ เป็นเวทีที่ได้เข้ามาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และรับฟังการรายงานสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ เพื่อเป็นประโยชน์ ในการนำไปประกอบการดำเนินงานด้านนิติบัญญัติของวุฒิสภา อันจะส่งผลประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่โดยตรง ผ่านการลงพื้นที่ของสมาชิกวุฒิสภาและการพบปะกับพี่น้องประชาชนและหน่วยงานในพื้นที่
ด้านนายกิจจา ไวชมภู ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดยะลา กล่าวว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา จังหวัดยะลามีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด จำนวน 1,657,692 คน นักท่องเที่ยวชาวไทย จำนวน 1,026,501 คน นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จำนวน 631,191 คน และมีรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด 5,115.7 ล้านบาท รายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทย 2,342.7 ล้านและ และรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 2,773 ล้านบาท
โดยจังหวัดยะลามีแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดยะลา ดังนี้ การพัฒนาเมือง SMART CITV เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัย และต้องเพิ่มจุดแลนด์มาร์กใหม่แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่สามารถเชื่อมโยงกับ อ.เบตง เช่น หอดูเมือง จุดชมวิว และจุดเช็คอิน พร้อมยกระดับมาตรการแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก บุคลากร สินค้า อาหาร และ SOFT POWER ในชุมชน การยกระดับกิจกรรมท่องเที่ยว โดยใช้กีฬาเป็นสื่อและเชื่อมกับประเทศเพื่อบ้าน การประชาสัมพันธ์เชิงรุก เสริมสร้างภาพลักษณ์ สร้างความเชื่อมั่นในทุกๆด้าน
ในส่วนแนวทางการพัฒนาอำเภอเบตงนั้น จะต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการคมนาคมเมืองเบตงสิ่งอำนวยสะดวก การตกแต่งเมือง การพัฒนายกระดับมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยว สินค้า การบริการ การบริหารจัดการ การส่งเสริมพัฒนาการท่องเที่ยวชายแดน กีฬาชายแดนเชื่อมโยงไทย-มาเลเซีย การส่งเสริมพัฒนาการท่องเที่ยวให้มีความหลากหลาย อาทิ เส้นทางท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ดึง SOFT POWER ในพื้นที่ ทั้งอาหาร ผลไม้ เกษตรสุขภาพ ท่องเที่ยวชุมชนประวัติศาสตร์ พร้อมพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ ไกด์ มัคคุเทศก์ท่องเที่ยวชุมชม และการเข้าสู่เป็นเมืองอัจฉริยะ เมืองสมาร์ทชิตี้ ใช้ไอทีและนวัตกรรมช่วยยกระดับ และการประชาสัมพันธ์เมืองเบตงอย่างต่อเนื่อง
นางสาวปิยฉัตร กุลรักษา นายด่านศุลกากรเบตง กล่าวว่า การค้าและการขนส่งชายแดนไทย-มาเลเซีย ของด่านศุลกากรเบตง ปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราในปีงบประมาณ 2566 มีการปรับตัวลดลง แต่การส่งออกทุเรียนกลับ มีปริมาณสูงขึ้น โดยปีงบประมาณ 2566 มิปริมาณการส่งออก จำนวน 15,979.200 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 329.34 อันเนื่องมาจาก ความนิยมและความต้องการบริโภคของประเทศมาเลเซียมีจำนวนสูงขึ้น ทั้งนี้ หากทางภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจและการค้าชายแดน ก็อาจจะทำให้มูลค่าการค้าขายดียิ่งขึ้นและสามารถชดเชยมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ลดลงของผลิตภัณฑ์ยางพาราได้
ส่วนปัญหา และอุปสรรค และแนวทางการพัฒนาศุลกากรเบตง ซึ่งมีช่องทางจราจรฝั่งขาเข้ามีขนาดเล็กและแคบไม่สามารถให้รถยนต์บรรทุกสินค้าและรถยนต์โดยสารขนาดใหญ่(รถบัส) ขับผ่านเข้ามาได้ รวมทั้งที่จอดรถและพื้นที่ให้บริการไม่เพียงพอเมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมากในช่วงวันหยุดและช่วงเทศกาลต่างๆ โดยทางจังหวัดยะลา มีข้อสั่งการให้ดำเนินแผนการพัฒนาด่านศุลกากรเบตง โดยให้สำนักงานโยธาธิการจังหวัดและผังเมืองยะลา ดำเนินการออกแบบเพื่อขยายด่านศุลกากรเบตง เพื่อรองรับการเจริญเติบโตในอนาคต
Social Links