สินทรัพย์ดิจิทัลพลิกโฉมโลกการลงทุน
แต่ตอบโจทย์นักลงทุนทุกรายจริงหรือ?
เวทีงานประชุมด้านการลงทุน Schroders Thailand Investment Conference 2022 ล่าสุด ปิดฉากลงเป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วยประเด็นพูดคุยว่าสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นมีประโยชน์ต่อพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนทุกรายจริงหรือไม่
ภายในงานมีเหล่าผู้บริหารคนสำคัญในแวดวงการลงทุนให้เกียรติมาร่วมอภิปราย ได้แก่ นายเบลค เชฟเฟิร์ด (Blake Shefford) ผู้จัดการกองทุนสินทรัพย์ผสมของ Schroders และนายชลเดช เขมะรัตนา ประธานสมาคมฟินเทคประเทศไทย และนายเธรอน แลม (Theron Lam) หัวหน้าฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Schroders เป็นผู้ดำเนินรายการ เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับโอกาสในสินทรัพย์ดิจิทัลและข้อดีของการมีกฎระเบียบกำกับการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้
นายเบลค เชฟเฟิร์ด (Blake Shefford) ผู้จัดการกองทุนสินทรัพย์ผสมของ Schroders ให้ความเห็นว่า
“สกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) จะยังคงพัฒนาเติบโตต่อไปในฐานะสินทรัพย์ที่มีนักลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ความผันผวนจะยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ผมคาดว่านักลงทุนส่วนใหญ่จะตัดสินใจลงทุนจากความคุ้นเคยเป็นหลักและเริ่มลงทุนโดยตรงผ่านบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลมากกว่าที่จะลงทุนตรงในโทเค็นและเหรียญคริปโต ซึ่งในตลาด มีหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีขนาดใหญ่และมีความหลากหลายที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการธนาคารคริปโตหรือการให้กู้ยืมในรูปแบบเงินคริปโต ไปจนถึงผู้ดูแลหรือที่ปรึกษาด้านสินทรัพย์นี้โดยเฉพาะ และบริษัทแบบดั้งเดิมทั้งหลายก็อยากจะมีส่วนร่วมในสินทรัพย์ประเภทนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย
นอกจากนี้ เรายังมองเห็นโอกาสที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการซื้อขายนอกตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยและทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิภาคนี้กำลังกลายเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแปลงสินทรัพย์นอกตลาดให้อยู่ในรูปแบบโทเค็น เช่น ทุนธรรมชาติ (natural capital) เห็นได้ชัดเจนเลยว่ายังมีพื้นที่สำหรับการเติบโตของระบบนิเวศด้านสินทรัพย์ต่าง ๆ อีกมากมายในอนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้
การติบโตดังกล่าวย่อมมาพร้อมกับกฎระเบียบที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อนักลงทุนบางรายที่มองหาแค่เพียงวัฏจักรตลาดการลงทุนที่เฟื่องฟู อย่างไรก็ตาม สำหรับนักลงทุนสถาบัน เรามองว่ากฎระเบียบเป็นแนวทางที่จะช่วยยกระดับตลาดสินทรัพย์เหล่านี้และเสริมความมั่นใจในการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเดียวกันได้ดียิ่งขึ้น”
นายชลเดช เขมะรัตนา ประธานสมาคมฟินเทคประเทศไทย ให้ความเห็นว่า
“การออกกฎระเบียบควบคุมสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นแนวทางในการสร้างความสมดุลและความมั่นคงให้กับสินทรัพย์ประเภทนี้ การแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยจะช่วยให้มีระบบนิเวศที่ดีขึ้นสำหรับสินทรัพย์เหล่านี้ ซึ่งจะเปิดโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมการเงินได้มากขึ้นกว่าที่เคย
อุตสาหกรรมการเงินจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยมีแผนกำหนดแนวทางนโยบายใหม่สำหรับภาคการธนาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรอบการออกใบอนุญาตของ virtual banking ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งภาครัฐและเอกชน”
*เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา Schroders ได้เชิญบรรดาพันธมิตรชั้นนำมาร่วมพูดคุยในเวทีการประชุม Schroders Thailand Investment Conference 2022 ที่กรุงเทพฯ เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวโน้มการลงทุนสำคัญสำหรับอนาคตใหม่ เหล่าผู้นำในแวดวงการลงทุนได้พูดคุยกันในหัวข้อต่าง ๆ เช่น แนวโน้มทั่วโลก การเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชีย การลงทุนที่ยั่งยืน และวิธีการที่สินทรัพย์ดิจิทัลสร้างโอกาสแก่นักลงทุนในการปรับพอร์ตการลงทุนใหม่และสร้างผลตอบแทนในตลาด รวมถึงธุรกิจที่เป็นนวัตกรรมใหม่
…………………………..
เกี่ยวกับ Schroders
Schroders ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2347 โดยเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำด้านการบริหารจัดการสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรปตามมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ ปัจจุบัน Schroders มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ 731.6 พันล้านปอนด์ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 (เท่ากับ871.3 พันล้านยูโร และ 990.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) คณะผู้บริหารผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทยังคงเป็นผู้ถือหุ้นหลักของบริษัท โดยถือหุ้นสัดส่วนประมาณ 48% ของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงของบริษัท Schroders ยังคงมีผลประกอบการบริษัทที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องด้วยมูลค่าทางการตลาดกว่า 8 พันล้านปอนด์ และมีพนักงานที่มีความสามารถมากกว่า 5,700 คนในสำนักงาน 37 แห่ง
Schroders ได้รับประโยชน์จากรูปแบบธุรกิจที่หลากหลายของบริษัทผู้จัดการสินทรัพย์ของสหราชอาณาจักร โดยแยกตามภูมิศาสตร์ ประเภทสินทรัพย์ และประเภทลูกค้า Schroders นำเสนอนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และโซลูชันครอบคลุมโซลูชันธุรกิจ 5 กลุ่ม ได้แก่ สถาบัน กองทุนรวม สินทรัพย์ส่วนบุคคลและสินทรัพย์ทางเลือก และการบริหารความมั่งคั่ง ดูแลหลากหลายกลุ่มลูกค้าได้แก่ บริษัทประกันภัย กองทุนรวม กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ เงินกองทุนสงเคราะห์ และมูลนิธิ Schroders ยังทำหน้าที่ดูแลจัดการสินทรัพย์สำหรับลูกค้ารายบุคคลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือของบริษัทกับผู้จัดจำหน่าย ที่ปรึกษาทางการเงิน และแพลตฟอร์มการเงินออนไลน์ บริการข้อเสนอการบริหารความมั่งคั่งของ Schroders สะท้อนถึงเป้าหมายกลยุทธ์ของบริษัทในการให้บริการการบริหารความมั่งคั่งและการวางแผนทางการเงินแก่ลูกค้าครอบคลุมหลากหลายกลุ่มความมั่งคั่งของบุคคล
Social Links