ส่งออกมังคุดไทยฉิว
ฝ่าด่าน Supply Disruption ฉลุย
คาดปี 64 โต 14.6-18.8 %
……………………………………………………………………………………………….
• ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ไทยจะต้องเผชิญปัญหา Supply Disruption จากโควิด-19 ในระยะสั้น แต่ในปี 2564 มูลค่าการส่งออกมังคุดสดของไทยอาจอยู่ที่ราว 540-560 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัวร้อยละ 14.6-18.8 (YoY) จากแรงผลักด้านราคาส่งออกเป็นสำคัญ และแม้อินโดนีเซียจะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดในจีนมากขึ้น แต่ไทยจะยังสามารถครองส่วนแบ่งตลาดในจีนไว้ได้เป็นอันดับ 1 ด้วยความได้เปรียบด้านราคาที่ถูกกว่า ทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้จีนทำให้การขนส่งสะดวก/มีความสดใหม่ได้คุณภาพ รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ และความเชี่ยวชาญในตลาดผลไม้ของไทยในจีน แต่คงต้องจับตาประเด็นผลผลิตมังคุดของอินโดนีเซียที่อาจเร่งตัวขึ้นได้อีกในระยะข้างหน้า
• ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า โจทย์เฉพาะหน้าในการแก้ปัญหา Supply Disruption ที่แม้จะเป็นผลกระทบในระยะสั้น แต่ก็นับว่าเป็นบทเรียนสำคัญจากมังคุดให้กับพืช/ผลไม้ชนิดอื่นในการปรับตัวเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานเก็บเกี่ยวในฤดูกาลถัดไป ซึ่งคงต้องมีการวางแผนรับมือถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้อีกเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม โดยภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญที่ต้องเข้ามาร่วมส่งเสริมและจัดสรรแรงงานอย่างเป็นระบบ ด้วยการสนับสนุนต้นทุนการผลิตในส่วนของแรงงาน รวมไปถึงการให้ทักษะในการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม
…………………………………………………………………………………………………..
ผ่านมาแล้วราว 8 เดือนแรกของปี 2564 นับว่าสถานการณ์การส่งออกผลไม้ของไทยโดยเฉพาะผลไม้สด อยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนได้จากตัวเลขมูลค่าการส่งออกผลไม้สดของไทยล่าสุดในช่วง 7 เดือนแรกของปีที่มีการเติบโตที่ดีเป็นตัวเลขสองหลักถึงร้อยละ 54.9 (YoY) ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากแรงสนับสนุนในรายการที่สำคัญคือ มังคุด ซึ่งเป็นผลไม้ส่งออกเศรษฐกิจอันดับ 3 ของการส่งออกผลไม้สดของไทยมาโดยตลอด และมีบทบาทเป็นราชินีผลไม้ไทยที่มีการเติบโตที่ดี ด้วยมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวกว่าร้อยละ 21.8 (YoY) ในช่วง 7 เดือนแรกของปี เนื่องจากปัจจัยหนุนด้านราคาส่งออกที่อยู่ในระดับสูงจากอุปสงค์ในต่างประเทศที่มีรองรับ ขณะที่มีปริมาณการส่งออกลดลงจากปัญหาห่วงโซ่การผลิตหยุดชะงัก (Supply Disruption) จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่แม้จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากในเดือนมิ.ย.-ส.ค.คิดเป็นกว่าร้อยละ 76.7 ของปริมาณผลผลิตทั้งปี แต่ต้องเผชิญกับการขาดแคลนแรงงานเข้าไปเก็บผลผลิต นอกจากนี้ ยังนับเป็นปัญหาสำคัญที่เกษตรกรต้องเผชิญและถูกกดราคา ทำให้ราคามังคุดที่เกษตรกรขายได้อยู่ในระดับต่ำ ซ้ำเติมในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากที่ราคาก็ปรับตัวลดลงอยู่แล้ว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ช่วงที่เหลือของปี 2564 (ก.ย.-ธ.ค.) มูลค่าการส่งออกมังคุดสดของไทยน่าจะให้ภาพที่ปรับตัวลดลงตามผลผลิตที่ทยอยออกสู่ตลาดน้อยลงตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าโดยเฉพาะในเดือนมิ.ย.-ส.ค.ที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุด โดยผลกระทบจากปัญหา Supply Disruption จากโควิด-19 น่าจะเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้นเท่านั้นและน่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ในภาวะที่อุปสงค์จากต่างประเทศยังมีรองรับ ซึ่งอาจช่วยดันราคาได้แต่ก็คงไม่สามารถชดเชยแรงฉุดของอุปทานส่งออกที่หายไปตามปัจจัยด้านฤดูกาล ท้ายสุด คาดว่า ทั้งปี 2564 มูลค่าการส่งออกมังคุดสดของไทยอาจอยู่ที่ราว 540-560 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัวร้อยละ 14.6-18.8 (YoY) จากแรงผลักด้านราคาส่งออกเป็นหลัก
สำหรับในแง่ของคู่แข่ง แม้ไทยจะต้องเผชิญความท้าทายมากขึ้นจากคู่แข่งหลักอย่างอินโดนีเซียที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดในจีนมากขึ้น แต่ไทยจะยังสามารถครองส่วนแบ่งตลาดในจีนไว้ได้เป็นอันดับ 1 ด้วยความได้เปรียบด้านราคาที่ถูกกว่า ทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้จีนทำให้การขนส่งสะดวก /มีความสดใหม่ได้คุณภาพ รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ และความเชี่ยวชาญในตลาดผลไม้ของไทยในจีน อย่างไรก็ดี คงต้องจับตาในแง่ของผลผลิตมังคุดของอินโดนีเซียที่เร่งตัวแรงขึ้นแบบก้าวกระโดดในช่วง 3 ปีหลัง (ปี 2561-2563) จากนโยบายสนับสนุนของภาครัฐจนทำให้อินโดนีเซียมีผลผลิตมังคุดใกล้เคียงกับไทยในปี 2563 ที่ราว 0.32 ล้านตัน ซึ่งในระยะข้างหน้า หากอินโดนีเซียสามารถเพิ่มปริมาณการส่งออกได้อย่างก้าวกระโดด แม้จะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรก็ตามกว่าที่อินโดนีเซียจะมีปริมาณการส่งออกได้ใกล้เคียงกับไทย (ไทยมีปริมาณการส่งออกมากกว่าอินโดนีเซียราว 6 เท่า) เนื่องจากผลผลิตของอินโดนีเซียที่ได้ยังคงใช้ในประเทศเป็นหลัก แต่ก็อาจเป็นปัจจัยที่กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยได้ในระยะข้างหน้า
สำหรับโจทย์เฉพาะหน้าในการแก้ปัญหา Supply Disruption จากโควิด-19 ที่แม้จะเป็นผลกระทบในระยะสั้นและอาจคลี่คลายได้ในระยะข้างหน้า ที่นอกเหนือจากการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็ได้ดำเนินการไปบ้างแล้วในบางส่วน อย่างไรก็ดี นับว่าเป็นบทเรียนสำคัญจากมังคุดให้กับพืช/ผลไม้ชนิดอื่นในการปรับตัวเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยวในฤดูกาลถัดไป ซึ่งการเก็บเกี่ยวผลผลิตนับเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้แรงงานมากที่สุดในการผลิตสินค้าเกษตร คิดเป็นสัดส่วนต้นทุนการใช้แรงงานราวร้อยละ 42.7 ของต้นทุนผันแปรค่าจ้างแรงงานทั้งหมด ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า คงต้องมีการวางแผนรับมือถึงผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยวที่อาจเกิดขึ้นได้อีกเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม ซึ่งภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญที่ต้องเข้ามาร่วมส่งเสริมและจัดสรรแรงงานอย่างเป็นระบบ ภายใต้การฉีดวัคซีนได้อย่างทั่วถึงมากขึ้นในกลุ่มแรงงานแล้ว โดยมีแนวทางดังนี้
การให้แรงงานสามารถเคลื่อนย้ายข้ามเขตจังหวัด/พื้นที่ใกล้เคียงได้ เพราะมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานข้ามเขตในส่วนของการผลิตพืช/ผลไม้ประเภทอื่นที่มีช่วงเวลาเก็บเกี่ยวไม่ตรงกัน
-การจ้างเหมาแรงงานผ่านตัวแทนการจัดหาแรงงานภายในชุมชน ซึ่งอาจเป็นแรงงานจากพื้นที่สูง เป็นต้น
-การสนับสนุนเงินส่วนต่างค่าจ้างแรงงานในอัตราพิเศษที่เพิ่มขึ้นเพื่อจูงใจ การสนับสนุนค่าใช้จ่ายจัดหาที่พักให้ในระหว่างช่วงการเก็บเกี่ยวหากต้องมีการเดินทางข้ามเขตจังหวัดไกลๆ
ทั้งนี้ ภาครัฐอาจเข้ามาสนับสนุนในส่วนของต้นทุนการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามเขตในส่วนนี้ได้ ซึ่งภาครัฐ/นักวิชาการที่เกี่ยวข้องจะต้องให้ความรู้ถึงทักษะในการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร เพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงานให้สามารถเก็บเกี่ยวได้อย่างเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ ภาครัฐอาจต้องสนับสนุนด้านต้นทุนการผลิตให้กับชาวสวนผลไม้ด้วย เช่น เงินเยียวยา หรือเงินสนับสนุนการตรวจโควิด-19 เป็นต้น
โจทย์ระยะกลาง ประเด็นในแง่ของความสามารถในการแข่งขันของไทย จะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องเร่งผลักดันให้ไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน เช่น การเร่งวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์มังคุดคุณภาพที่ให้ผลผลิตสูงอย่างต่อเนื่อง คู่ขนานไปกับการใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ร่วมด้วย อันจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมังคุดทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ รวมไปถึงการยกระดับการปลูก การดูแลรักษา ตลอดจนการเก็บรักษา เพื่อให้สวนของเกษตรกรผ่านการรับรองตามมาตรฐาน (Good Agricultural Practices: GAP) และการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (Integrated Pest Management: IPM) การมีตราสินค้าออร์แกนิก อีกทั้งส่งเสริมให้มีการรับรองสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) เช่น GI มังคุดลานสกา เป็นต้น การตรวจสอบย้อนกลับได้ (Traceability) รวมไปถึงในส่วนของผู้ประกอบการส่งออกก็จะต้องมีโรงคัดบรรจุที่ได้รับการรับรอง (Good Manufacturing Practice: GMP) ตามความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ต้องการสินค้าคุณภาพ อันจะเป็นแนวทางป้องกันการบังคับใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTBs) กับสินค้าเกษตรของไทย
นอกจากนี้ แนวทางการแปรรูปมังคุดเพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์ นับเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อสร้างความพรีเมี่ยมให้กับสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ เช่น มังคุดอบแห้ง มังคุดฟรีซดราย รวมไปถึงผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงอย่างผลิตภัณฑ์ความงาม หรือ Skin Care เพื่อเจาะตลาดจีนมากขึ้น นอกเหนือจากในปัจจุบันที่จีนเน้นการบริโภคมังคุดสดเป็นหลัก และยังเป็นการลดการส่งออกมังคุดขั้นต้นที่ไทยกำหนดราคาเองไม่ได้ โดยเน้นไปที่ช่องทางการตลาดแบบออนไลน์ที่ผู้บริโภคจีนนิยมอย่างมาก นอกจากนี้ ไทยยังควรกระจายการส่งออกไปยังตลาดศักยภาพอื่น เช่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น รวมไปถึงกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ก็จะช่วยให้มังคุดไทยสามารถเติบโตต่อไปได้ในระยะข้างหน้า และยังคงเป็นราชินีผลไม้ของไทยที่มีบทบาทเป็นผลไม้เศรษฐกิจในตลาดส่งออกผลไม้ไทยที่ครองใจผู้บริโภคได้เป็นลำดับต้นๆ ในตลาดโลก
Social Links