หนี้นอกระบบ…ปัญหาที่ซับซ้อน
ทั้งด้านสังคม คุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจของครัวเรือน
…………………………………………..
-รัฐบาลประกาศให้”การแก้ไขหนี้นอกระบบ” เป็นวาระชาติโดยจะเปิดให้ลูกหนี้ลงทะเบียนเพื่อนำไปสู่การไกล่เกลี่ย ปรับโครงสร้าง และปลดภาระหนี้
-ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หนี้นอกระบบสะท้อนปมปัญหาที่ซับซ้อนทางด้านสังคมคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจของภาคครัวเรือน ซึ่งหากสามารถช่วยลูกหนี้ให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบได้เพิ่มขึ้น ผลได้ที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ภาระดอกเบี้ยที่ลดลงของลูกหนี้
-เป้าหมายสำคัญของการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ก็คือ การทำให้ลูกหนี้กลับเข้ามาอยู่ในระบบ ซึ่ง “มาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน” ของธปท. ในช่วงก่อนหน้านี้ก็มีการเตรียมหลักเกณฑ์ Risk-based pricing สำหรับสินเชื่อไม่มีหลักประกันเพื่อช่วยดูแลกลุ่มลูกหนี้นอกระบบด้วยเช่นกัน ขณะที่ ประเด็นสำคัญของแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของภาครัฐ จะอยู่ที่กระบวนการตรวจสอบสถานะของทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้รวมไปถึงการจูงใจให้เจ้าหนี้มาร่วมแก้ปัญหาให้กับลูกหนี้
-สำหรับในระยะข้างหน้า คงต้องติดตามการแก้ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนส่วนที่อยู่ในระบบ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนอาจขยับขึ้นไปที่กรอบ 16.4-16.5 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี2566 คิดเป็นสัดส่วนราว 90-91% ต่อจีดีพี
………………………………………………………..
ในการแถลงข่าวแนวทางการแก้หนี้นอกระบบ (28 พ.ย. 2566) รัฐบาลได้มีการประกาศให้ “การแก้ไขหนี้นอกระบบ” เป็นวาระชาติโดยมีการประเมินว่า หนี้นอกระบบของไทยอาจมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาทซึ่งในการแก้หนี้นอกระบบนั้น ภาครัฐจะมีการปรับกระบวนการทำงานของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำฐานข้อมูลกลางและระบบที่สามารถติดตามผลได้รวมถึงจะมีการใช้โครงการสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเข้ามาเสริมสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ ซึ่งสาระสำคัญของแนวทางการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบซึ่งมีการเปิดเผยออกมาล่าสุด ประกอบด้วย
1) การไกล่เกลี่ยระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้โดยภาครัฐจะเปิดช่องทางเพื่อให้ลูกหนี้สามารถขอรับความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขหนี้สินนอกระบบ ซึ่งหน่วยงานของภาครัฐจะเข้ามาดูแลในเรื่องของสัญญากู้ยืมและการทวงถามหนี้ที่จะต้องเป็นไปตามกฏหมายและเป็นธรรมกับลูกหนี้ และจะท าหน้าที่เป็นตัวกลางในกระบวนการไกล่เกลี่ยระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ด้วย
2) การปรับโครงสร้างหนี้ซึ่งจะมีการปรับระยะเวลา เงื่อนไข และกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนั้นจะต้องไม่เกิน 15% ตามพ.ร.บ. ห้ามเรียกอัตราดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560
3) เพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ โดยจะมีการเดินหน้าโครงการสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ สินเชื่อโครงการธนาคารประชาชนเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อยและสินเชื่อกองทุนหมุนเวียนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน
4) สนับสนุนให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ ผ่านการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ หรือ พิโกไฟแนนซ์
ศูนยว์ิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นภาพสะท้อนของปมปัญหาที่ซับซ้อนทางด้านสังคม คุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของภาคครัวเรือน เพราะโดยทั่วไป ลูกหนี้ที่มีการกู้ยืมจากแหล่งเงินนอกระบบนั้น มักจะถูกคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า 15% ที่กฎหมายกำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 และอาจต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรงจากการทวงหนี้ของเจ้าหนี้ ดังนั้น หากมองจากมุมของลูกหนี้แล้ว การกู้ยืมนอกระบบน่าจะเป็นทางเลือกสุดท้ายในการหมุนสภาพคล่อง หลังจากที่ลูกหนี้ได้พยายามใช้วิธีอื่นๆ มาแล้ว ทั้งการตัดลดค่าใช้จ่ายลงมาให้สมดุลกับรายได้ เอาเงินออมออกมาใช้จ่าย การจำนำา/จำนองทรัพย์ การขอความช่วยเหลือจากครอบครัว/ญาติ/คนรู้จัก รวมไปถึงการกู้เงินในระบบ
เป้าหมายสำคัญของการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ก็คือ การทำให้หนี้นอกระบบกลับเข้ามาอยู่ในระบบ ซึ่งเมื่อสามารถช่วยประชาชนกลุ่มที่พึ่งพาหนี้นอกระบบให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ดีขึ้นแล้ว ผลได้ที่ชัดเจนที่สุดที่ลูกหนี้จะได้รับ ก็น่าจะเป็นภาระดอกเบี้ยที่ลดลงจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดต่ำลง ซึ่งก็จะทำให้ภาระหนี้สินโดยรวมของครัวเรือนลดลง และปลดภาระหนี้ก้อนนั้นได้เร็วขึ้น เช่น หากเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบที่กู้ผ่านผู้ให้บริการพิโกไฟแนนซ์ 36% ต่อปีสำหรับกรณีไม่มีหลักประกัน กับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบที่ 10% ต่อเดือน (หรือ 120% ต่อปี) จะพบว่า ในทุกๆ การกู้เงินต้น 10,000 บาท(ระยะเวลา 1 ปี) ลูกหนี้จะประหยัดภาระดอกเบี้ยได้ถึง 3.3 เท่า หรือสามารถปรับลดภาระดอกเบี้ยลงมาได้ ประมาณ 8,400 บาท
ทั้งนี้หากย้อนกลับไปทบทวน “มาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างย่ังยืน” ของธปท. ที่มีการเปิดเผยออกมาก่อนหน้านี้ก็ได้มีการเตรียมหลักเกณฑ์เพื่อดูแลและช่วยในเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มลูกหนี้นอกระบบด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะหลักเกณฑ์ Risk-based pricing (RBP) สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ที่จะเริ่มเปิดรับผู้สมัครเข้าร่วมทดสอบใน Sandbox
สำหรับสินเชื่อโครงการธนาคารประชาชนเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี อัตราดอกเบี้ย flat rate 1% ต่อเดือน ขณะที่สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย วงเงินต่อรายไม่เกิน 100,000 บาท ระยะเวลาไม่เกิน 8 ปี อัตราดอกเบี้ย flat rate 1% ต่อเดือน ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ส่วนสินเชื่อกองทุนหมุนเวียนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการมีหนี้นอกบอก ธ.ก.ส. วงเงินสูงสุดต่อรายไม่เกิน 2.5 ล้านบาท เพื่อสงวนรักษาที่ดินจากการจ านอง ขายฝาก หรือใช้ที่ดินเป็นประกันหนี้
ในช่วงไตรมาสที่ 2/2567 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การใช้หลักเกณฑ์ RBP สำหรับสินเชื่อทั้ง 2 ประเภท จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับผู้ปล่อยกู้ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามความเสี่ยงของลูกหนี้ ซึ่งหากในอนาคตมีผู้ประกอบการที่ผ่านเกณฑ์การทดสอบออกจาก Sandbox ได้มากขึ้น ก็น่าจะช่วยเสริมโอกาสให้ลูกหนี้นอกระบบสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ ประเด็นสำคัญของแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของภาครัฐ จะอยู่ที่กระบวนการตรวจสอบและยืนยันสถานะของทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้รวมไปถึงการจูงใจให้เจ้าหนี้มาร่วมแก้ปัญหาให้กับลูกหนี้เพราะคงต้องยอมรับว่า สัญญากู้ยืมนอกระบบอาจมีเงื่อนไขในหลายๆ ส่วนที่ไม่เป็นไปตามที่กฏหมายกำหนด โดยหากการติดตามเจ้าหนี้มีความล่าช้า ก็อาจต้องมีการพิจารณาต่อว่าจะดำเนินการเพิ่มเติมอย่างไร โดยเฉพาะในประเด็นการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อนำไปปิดหนี้นอกระบบ แต่หากกระบวนการสามารถเดินหน้าต่อได้ก็จะทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนในระบบปรับเพิ่มขึ้นตามยอดการปล่อยสินเชื่อในส่วนดังกล่าว
นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือนให้ได้อย่างยั่งยืนคงต้องย้อนกลับไปดูแลปัญหาที่ต้นตอในระดับครัวเรือน โดยเฉพาะในด้านรายได้ ความรู้และวินัยทางการเงิน รวมถึงคงต้องดำเนินการเพิ่มเติมในอีกหลายๆส่วน โดยเฉพาะหนี้สินภาคครัวเรือนที่อยู่ในระบบ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนอาจขยับขึ้นไปที่กรอบประมาณ 16.4-16.5 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี2566 คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90-91% ต่อจีดีพีเทียบกับระดับ ณ สิ้นปี2565 ซึ่งอยู่ที่15.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 91.4% ต่อจีดีพี
Social Links