หนุน“วัยรุ่นไทย”รับมือปัญหาสุขภาพจิต ยูนิเซฟลุยแคมเปญ “Every Day is Mind Day โอกาสพักใจมีได้ทุกวัน”

หนุน“วัยรุ่นไทย”รับมือปัญหาสุขภาพจิต ยูนิเซฟลุยแคมเปญ “Every Day is Mind Day โอกาสพักใจมีได้ทุกวัน”

หนุน“วัยรุ่นไทย”รับมือปัญหาสุขภาพจิต

ยูนิเซฟลุยแคมเปญ “Every Day is Mind Day โอกาสพักใจมีได้ทุกวัน”

                ยูนิเซฟเปิดตัวแคมเปญใหม่ ชื่อว่า Every Day is Mind Day โอกาสพักใจมีได้ทุกวัน เพื่อช่วยวัยรุ่นรับมือกับปัญหาสุขภาพจิต พร้อมสร้างบรรทัดฐานใหม่เกี่ยวกับประเด็นสุขภาพจิตให้เป็นเรื่องปกติ แคมเปญนี้จะมีดารา ศิลปิน และผู้ที่มีชื่อเสียงมาร่วมพูดคุยถึงอารมณ์ความรู้สึกในแต่ละวัน พร้อมให้คำแนะนำในการดูแลจิตใจตนเอง โดยมุ่งจุดประเด็นให้วัยรุ่น พ่อแม่ผู้ปกครองและผู้คนในสังคมสามารถพูดคุยเรื่องสุขภาพจิตและวิธีการดูแลตนเองและคนรอบข้างได้อย่างเปิดเผยและเป็นปกติมากขึ้น

                แคมเปญ Every Day is Mind Day โอกาสพักใจมีได้ทุกวัน เชิญชวนให้วัยรุ่นและคนทั่วไปใช้ฟิลเตอร์เอฟเฟกต์ AR  เพื่อบ่งบอกอารมณ์ตนเองในแต่ละวันผ่านโซเชียลมีเดีย และจะมีการจัด Facebook Live ร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต พร้อมจับมือภาคเอกชน เครือข่ายการศึกษาและองค์กรที่นำโดยเยาวชน ร่วมส่งเสริมให้เกิดการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นด้านสุขภาพจิตอย่างแพร่หลายมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีคู่มือการดูแลสุขภาพจิต ซึ่งจะมีเกร็ดความรู้และวิธีการจัดการกับความรู้สึกที่ซับซ้อน ตลอดจนวิธีการดูแลและสนับสนุนคนรอบข้างที่เผชิญปัญหาสุขภาพจิต  เพื่อให้วัยรุ่นและผู้ปกครองดาวน์โหลดไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

                นางคยองซัน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “เกือบ 2 ปีแล้วที่เราใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 เด็กและเยาวชนกำลังรู้สึกหวาดกลัว โดดเดี่ยวและวิตกกังวลถึงอนาคต หลายคนไม่รู้วิธีรับมือกับความรู้สึกเหล่านั้น อีกทั้งไม่กล้าขอความช่วยเหลือเพราะกังวลหรืออายที่จะพูดถึงปัญหาสุขภาพจิต    แคมเปญนี้ต้องการเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชน รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองได้พูดคุยกันอย่างเปิดเผย พร้อมเรียนรู้วิธีรับมือและเข้าถึงบริการต่าง ๆ จากผู้เชี่ยวชาญ เพราะสุขภาพจิตถือเป็นเรื่องสำคัญพอ ๆ กับสุขภาพกาย”

                ผลสำรวจโดยยูนิเซฟในปีที่ผ่านมาพบว่า เด็กและเยาวชน 7 ใน 10 คน มีสุขภาพจิตแย่ลงเนื่องจากผลกระทบของโควิด-19  หลายคนกังวลว่าตนเองจะเป็นภาระผู้อื่น นอกจากนี้ยังขาดความรู้ในการดูแลจิตใจตนเองและไม่รู้ว่าจะเข้าถึงบริการจากผู้เชี่ยวชาญได้อย่างไร ในขณะเดียวกัน ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ พบว่า ในประเทศไทยมีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นอยู่น้อยมาก คือ มีเพียง 200 คน เมื่อเทียบกับประชากรวัยรุ่น 8.7 ล้านคน

                เมื่อเดือนที่แล้ว  ยูนิเซฟได้เผยแพร่รายงาน The State of the World's Children 2021 ซึ่งระบุว่าเด็กอย่างน้อย 1 ใน 7 คนทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบโดยตรงจากการมาตรการล็อกดาวน์ พร้อมกับเตือนว่าเด็ก ๆ อาจต้องแบกรับผลกระทบด้านสุขภาพจิตอย่างยาวนานอีกหลายปี

                ยูนิเซฟได้ทำการรณรงค์เรื่องสุขภาพจิตวัยรุ่นอย่างต่อเนื่อง เมื่อปีที่แล้วยูนิเซฟ ร่วมกับกรมสุขภาพจิต และ JOOX จัดทำแคมเปญ The Sound of Happiness เพื่อส่งเสริมให้วัยรุ่นกล้าพูดคุยและบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตของตัวเองกับคนที่ไว้ใจ และกล้าขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ

                นางคิมกล่าวเสริมว่ายูนิเซฟมุ่งมั่นทำงานร่วมกับรัฐบาล ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ตลอดจนเด็กและวัยรุ่นในการลบล้างอคติด้านสุขภาพจิต ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนด้านสุขภาพจิตมากขึ้น เพื่อช่วยให้วัยรุ่นเข้าถึงข้อมูลและบริการด้านสุขภาพจิตได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที”

 

You may also like

เปิดตัวดัชนีชี้วัดความปลอดภัยของเด็ก บนโลกออนไลน์ทั้งในระดับชาติและระดับโลก

เปิดตัวด