หวั่น GDP ติดลบ-หนี้ครัวเรือนพุ่ง แนะรัฐรุก“ส่งออก”-หนุนวิจัยสมุนไพรไทยแก้โควิด

หวั่น GDP ติดลบ-หนี้ครัวเรือนพุ่ง แนะรัฐรุก“ส่งออก”-หนุนวิจัยสมุนไพรไทยแก้โควิด

หวั่น GDP ติดลบ-หนี้ครัวเรือนพุ่ง

แนะรัฐรุก“ส่งออก”-หนุนวิจัยสมุนไพรไทยแก้โควิด

            ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในญัตติด่วนเพื่อพิจารณาถึงผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจเกี่ยวกับการเปิดประเทศโดยชี้ให้เห็นว่า แม้ในมุมด้านสาธารณสุขจะมีความสำคัญและมีการทำกันมาก แต่เป็นห่วงว่าจะส่งผลลบมากกว่าผลบวกในปัจจุบัน พร้อมกับได้แสดงตัวเลขถึงการแพร่ระบาดโควิด ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะเรื่อง GDP หนี้ และดุลการชำระเงิน

             ซึ่ง ดร.พิสิฐ กล่าวว่า ใน 2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับความเสียหายอย่างมากถึงมากที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน โดย GDP ของไทย ติดลบเป็นอันดับต้นๆ รองจากฟิลิปปินส์ เนื่องจากฟิลิปปินส์ มีคนงานทำงานในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ในปี 64 การฟื้นตัวของไทยแทนที่จะเป็นบวกเหมือนประเทศอื่น กลายเป็นว่าล่าสุดสภาพัฒน์ ได้มาชี้แจงในที่ประชุม กมธ.การเงินการคลังว่า ตัวเลข GDP ในช่วงครึ่งหลังจะติดลบ ขณะที่ในช่วงครึ่งปีแรกเป็นบวก จึงทำให้ภาพรวม GDP ในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 1% แต่ถ้า GDP ในช่วงครึ่งหลังเป็นลบ ก็อาจจะทำให้ ภาพรวม GDP ในปีนี้เป็น 0% หรือต่ำกว่านั้น ซึ่งตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่สะท้อนถึงการมีงานทำของคนไทย ที่ในปีที่แล้วปัญหาอาจจะไม่หนัก เพราะว่ายังมีเงินเก่า ยังมีรายได้ที่เก็บสะสมไว้ในอดีตมาใช้ แต่ในปีนี้เงินหมดแล้ว เกิดการขาดทุน เกิดการเรียกหนี้ เกิดการฟ้องร้อง เป็นต้น ส่งผลให้การจ้างงานลดต่ำลง

                สำหรับตัวเลขหนี้นั้น ดร.พิสิฐ ระบุว่า เนื่องจากคนตกงานไม่มีรายได้ ทำให้ต้องก่อหนี้ เพื่อมาบริโภค ดังนั้นหนี้ครัวเรือนจะกระโดดขึ้นจากร้อยละ 80 เป็นร้อยละ 90 ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็มีการก่อหนี้ กู้เงิน 1 ล้านล้าน และอีก 5 แสนล้านบาท แต่รายได้ของรัฐบาลตกต่ำเนื่องจากเก็บภาษีไม่ได้ ทำให้หนี้ของรัฐบาลกระโดดจาก 40% ต้นๆ ไปเกือบชนเพดานเมื่อปลายกันยายนที่ผ่านมา จนกระทั่งนายกรัฐมนตรีต้องประกาศขึ้นเพดานหนี้สาธารณะ สิ่งนี้คือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในเรื่องหนี้

                ส่วนเรื่องของ GDP ดร.พิสิฐ ถือว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง เพราะจากหลายปีที่ผ่านมา ไทยเกินดุลทางการค้า เกินดุลท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวปีละ 40 ล้านคน สร้างรายได้ให้คนไทยมหาศาล แต่ 2 ปีที่ผ่านมารายได้ในส่วนนี้ตกฮวบลง โดยปีนี้เหลือเพียง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หากมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะเดียวกันเรื่องของราคาน้ำมันที่กระโดดขึ้นเกือบ 100% จาก 40 เหรียญต่อบาเรล เป็น 80 กว่าเหรียญต่อบาเรลในขณะนี้ ก็มีผลทำให้ดุลการค้าเกินดุลน้อยลง

                แต่ยังโชคดีที่ รองนายก จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้พยายามเคี่ยวเข็ญในเรื่องการส่งออกจนได้รับความสำเร็จ ทำให้ตัวเลขการส่งออก และการค้าของเราดี แต่ท้ายที่สุดก็ประสบปัญหาเรื่องค่าระวางเรือที่กระโดดแพงขึ้นหลายเท่าตัว ทำให้เราขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นปีแรกในปีนี้ จากที่เคยเกินดุลมาโดยตลอด ตั้งแต่ช่วงวิกฤติปี 40 ในสมัย ประธานชวน เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ที่ได้พลิกจากยอดการขาดดุล เป็นเกินดุลมาโดยตลอด มาบัดนี้เป็นปีแรกที่เริ่มมีการขาดดุล และมีผลให้ดุลการชำระเงินติดลบ ซึ่งจะส่งผลให้ทุนสำรองลดลง และถ้าไม่ดูแลให้ดีก็จะทำให้ลื่นไถลลงไป

                “ผมเห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะต้องดูแลเรื่องสาธารณสุข แต่ก็ไม่ควรจะมองข้ามปัญหาทางเศรษฐกิจที่ได้เกิดขึ้นต่อประเทศ ต่อผู้คนที่ตกงาน ต่อภาคท่องเที่ยวที่ยังคงมีปัญหาอยู่ ความจริงแล้ว สิ่งที่รัฐบาลควรทำอีกเรื่องหนึ่งในการดูแลในช่วงนี้ ก็คือการใช้โอกาสนี้ในการส่งออกสินค้าหลายๆ ประการ เช่น สมุนไพรต้านโควิด หรืออย่างจุฬา ที่จัดทำโครงการวัคซีนใบยา หรือที่หมอจรัสพงษ์ ทังสุบุตร ทำ Silver Pure สำหรับฉีดจมูก ซึ่งวัดสวนแก้วได้ประกาศไป สิ่งเหล่านี้ผมอยากให้ภาครัฐส่งเสริมดูแลให้เขาได้เติบโตขึ้น เพราะจะมีตลาดโลกรองรับอย่างมหาศาล แทนที่จะต้องไปซื้อวัคซีนใช้งบประมาณเป็นหมื่นล้าน และอาจจะเป็นแสนล้านต่อไป อยากเห็นรัฐบาลได้ทุ่มเทลงทุนในเรื่องการวิจัย ผลักดันให้ PPE ก็ดี เรื่องสมุนไพรก็ดีได้รับการสนับสนุน แทนที่จะปิดกั้นอย่างที่ประสบอยู่ในทุกวันนี้” ดร.พิสิฐ กล่าว

                และยังระบุถึงกระบวนการต่างๆ ที่หน่วยงานจัดทำขึ้น เพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวที่มีปัญหาเข้ามาซึ่งจะทำให้โควิดรุนแรงขึ้นนั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ก็ได้ตั้งคำถามจากการที่มีนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศมานี้ ระหว่างความเสี่ยงที่เขาจะติดโควิด กับการที่มีคนไทยในประเทศจากหลายแหล่งที่มีโควิด ส่วนไหนมีความน่ากลัวกว่ากัน ระหว่างคนเดินทางจากเชียงใหม่มากรุงเทพ กับคนเดินทางจากสิงคโปร์มากรุงเทพ ใครจะมีความเสี่ยงติดโควิดมากกว่ากัน ดังนั้นมาตรการที่มีอยู่ ควรจะได้พิจารณาว่า นักท่องเที่ยวได้มีการฉีดวัคซีนมา 2 เข็มก็เพียงพอแล้ว ฉะนั้นกระบวนการอื่นๆ จะกลายเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นโดยใช่เหตุ อีกทั้งจะเป็นอุปสรรคต่อบรรยากาศในการท่องเที่ยว และการลงทุนต่อไป

 

You may also like

คปภ.ขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัย รวมบริษัทประกัน-นายหน้า สู่เว็บซ์ Insure Mall ครบทุกเรื่อง จบทุกความต้องการ

นายชูฉัต