หายนะจากน้ำหลากแรง ที่ต้นน้ำยม

หายนะจากน้ำหลากแรง ที่ต้นน้ำยม

หายนะจากน้ำหลากแรง ที่ต้นน้ำยม

ณรงค์  ปานนอก

   นับจากวันที่ 21 สิงหาคมเป็นต้นมา เกิดสถานการณ์ฝนตกน้ำท่วมหนักและรุนแรงในจังหวัดเชียงราย น่านและพะเยา สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของคนไกลเมืองหลวงจำนวนหนึ่ง

ที่เชียงรายและน่านยังพอทำเนา เนื่องจากหน่วยงานของรัฐมีกำลังอุปกรณ์ช่วยเหลือพรักพร้อม  อีกทั้งพื้นที่บริเวณกว๊านพะเยาก็ยังไม่รุนแรง เพราะมีหน่วยงานบรรเทาสาธารณภัยอยู่ในเมืองสามารถช่วยได้ทัน

แต่….แต่ที่ต้นน้ำยม  ซึ่งเป็นต้นน้ำสายหลักสายเดียวที่ไม่มีเขื่อนหรืออ่างพอสกัดกักเก็บน้ำเพื่อชะลอการไหลหลากของมวลน้ำก้อนใหญ่ได้  ทำให้พนังหินกราเบรียลตามแนวยาวของต้นน้ำยมที่กรมโยธาธิการสร้างเสร็จใหม่ๆ ก็ถูกมวลน้ำจากต้นน้ำถาโถมไหลข้ามกำแพงพนังหินแบบจมหายไปกับกระแสน้ำ ( วันนี้ฝนยังตกไม่หยุด – 24 สิงหาคม )

สะพานเกือบสิบแห่ง จึงไม่รอดจากน้ำท่วม  ตัดขาดระหว่างอำเภอกับหมู่บ้านหลายจุด

ที่เหลือเชื่อ คืออำเภอปง ซึ่งเป็นอำเภอต้นน้ำยมแท้ๆ กลับไม่มีอุปกรณ์ที่สำคัญในยามวิกฤติน้ำหลาก  คือ เรือท้องแบน   ทั้งๆที่ยามฝนตกหนักตรงต้นน้ำแห่งนี้  จึงถูกกระทบจากกระแสน้ำหลากแรงก่อนพื้นที่อื่นๆ

เมื่อถึงนาทีวิกฤติ  เจ้าหน้าที่จึงไม่มีเรือท้องแบนออกไปช่วยชาวบ้านได้ทันเวลา

นี่คือความเศร้าของอำเภอที่ห่างไกลจากตัวเมืองมากถึง 80 กิโลเมตร

เป็น “อำเภอหลังเขา” อำเภอที่หน่วยงานส่วนกลางมักไม่ให้ความสำคัญ จึงไม่มีใครเหลียวแล

ทั้งๆที่รู้ว่า ที่นั่น คือต้นน้ำสายหลักของประเทศ  เหมือน ปิง วังและน่าน เป็นต้นน้ำที่ควรจะมีแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ เพื่อช่วยบูรณาการเกษตรกรทั้งระบบ ( เพราะเป็นพื้นที่เอียงเทสูง เมื่อน้ำหลากมาและไหลลงไปพื้นที่ส่วนล่าง ก็ทำให้บนที่สูงไม่มีน้ำเก็บใช้ในฤดูแล้ง )

และนับจากวันนี้ไป  คนไทยก็คอยฟังข่าวว่า เกิดน้ำท่วมใหญ่ ( ไหลมาจากต้นน้ำนี่แหละ )ในจังหวัดตอนล่าง อย่างจังหวัดแพร่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก ลงถึงอ่างทอง อยุธยา  และมาสู่นนทบุรี ปทุมธานี เข้าถึงเมืองหลวง สร้างความเสียหายแบบเงียบๆงงๆ( ไม่มีหน่วยไหนกล้าคำนวณมูลค่า )

ที่ไม่น่าเชื่อยิ่งกว่า คือ ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ ก็ขยันไปทำโครงการเก็บน้ำขนาดใหญ่ๆอยู่ตามจังหวัดที่ถูกน้ำท่วมด้านล่าง ด้วยข้ออ้างว่า เพื่อเป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ถูกทาง

โดยลืมไปว่า มวลน้ำก้อนใหญ่จริงๆ อยู่ที่บริเวณต้นน้ำ  ซึ่งควรจะไปทำอ่าง หรือแหล่งกักเก็บที่ต้นน้ำโน่น   เมื่อถึงหน้าแล้ง ก็จะได้ค่อยๆปล่อยน้ำลงมาช่วยเกษตรกรตามลำน้ำปกติ  โดยน้ำจะไม่ขาดแคลนทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ

แต่ถ้ายังขืนคิดแก้ปัญหาแบบเดิมๆ ขาดกระบวนทัศน์ใหม่ๆ  เราก็จะเห็นความสูญเสียซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างนี้เรื่อยไป  ซึ่งหากสะสมมูลค่าความเสียหายหลายสิบปีมารวมกัน  มันก็มากมายมหาศาล

 น่าจะเท่าๆงบประมาณของประเทศแต่ละปี ได้แล้วมั้ง ???

 

You may also like

คปภ.เดินหน้า! เปิดเวทีสัมมนาวิชาการด้านประกันภัย ประจำปี 2567 “Thailand Insurance Symposium 2024”

 นายชูฉั