“อลงกรณ์"โหมกลยุทธ์รุกตลาดน้ำยาง 5 หมื่นล้าน
เดินหน้าอัพเกรด "กยท." เป็นองค์กรระดับโลก
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายาง กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินนโยบายบริหารจัดการยางพาราสินค้าเกษตรที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งมีเกษตรกรผู้ปลูกยางจำนวน 1.83 ล้านราย ครอบคลุมพื้นที่ 24.76 ล้านไร่ภายใต้5ยุทธศาสตร์การปฏิรูปภาคเกษตรกรรมของดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้บูรณาร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง โดยมีการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจขับเคลื่อนนโยบายพิจารณาแก้ไขปัญหาและส่งเสริมการตลาดยางพารา โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระหว่าง ผู้ซื้อ และผู้ขาย ประกอบด้วย ตลาดกลางยางพารา การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) 8 แห่ง ตลาดซื้อขายออนไลน์ และตลาดยางพาราท้องถิ่น รวมทั้งการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางด้านรายได้ในภาวะช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและการลดผลกระทบจากวิกฤติโควิด19ด้วยการขับเคลื่อนโครงการประกันรายได้ชาวสวนยางตลอดจนการสร้างกลไกและกลยุทธ์ใหม่ๆ ในการรักษาเสถียรภาพราคา และเพิ่มรายได้ชาวสวนยาง เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
การขับเคลื่อนนโยบายตลาดเชิงรุกโดยการให้สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ทูตเกษตรประจำอยู่ต่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (EU) ร่วมกับทูตพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ ตามโมเดลเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาดภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตได้ผนึกกำลังกันส่งเสริมการตลาดยางพาราในประเทศคู่ค้าสำคัญๆพร้อมกับติดตามและรายงานข้อมูลสถานการณ์การนำเข้าและส่งออก สินค้าและผลิตภัณฑ์ยางพาราไทย และสภาวะแวดล้อมด้านการค้าการแข่งขัน รวมทั้งการวิเคราะห์ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะโอกาสทางการค้าและการลงทุน ทั้งนี้ ถือได้ว่า เป็นการปรับมิติของกลยุทธ์การตลาดยางพารา โดยขับเคลื่อนร่วมกับการยางแห่งประเทศไทยเป็นกลไกขับเคลื่อนพัฒนาตลาดยางพาราในต่างประเทศ ทั้งในตลาดเก่า และการเปิดตลาดใหม่โดยตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งตลาด (Market Share)และขยายการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางทุกชนิด
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้ ดำเนินการเร่งดำเนินการจัดตั้ง”ตลาดซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบจริงของยางพารา”โดยกยท. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการเสนอต่อ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.พร้อมกันนั้นก็เร่งส่งเสริมการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยส่งเสริมการลงทุนโรงงานผลิตถุงมือยาง รวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ตอบโจทย์ความต้องการใหม่ในยุคนิวนอร์มอล จากผลกระทบของโควิด-19
รวมถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนาการผลิตการแปรรูปสินค้าและผลิตภัณฑ์ยางพาราโดยร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ในงานด้านวิจัยและพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆเน้นเทคโนโลยีเมดอินไทยแลนด์(made in Thailand) พร้อมทั้งร่วมมือกับภาคเอกชนเช่นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยภายใต้คณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กรกอ.)ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมยางพารา เช่น “โครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรม” และโครงการเกษตรแม่นยำ2ล้านไร่สู่ธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรยุคใหม่(Big Brothers)
รวมถึงข้อริเริ่มใหม่ๆเช่นโครงการ Rubber Valley ซึ่งเป็นโครงการการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช (suitability and development of the rubber industry in Nakhon Si Thammarat Province) ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor) ของรัฐบาลสู่การพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพาราครบวงจร ครอบคลุมทั้งกิจกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มยางพาราทั้งระบบ
วิกฤตโควิด19เป็นปัญหาและโอกาสที่ท้าทายประเทศไทยซึ่งข้อมูลและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อไปนี้คือคำตอบว่าเรามีศักยภาพมากแค่ไหนและเดิมพันก็สูงมากแต่ก็คุ้มค่าสำหรับอุตสาหกรรมยางพาราโดยเฉพาะน้ำยางข้น ยางพาราโลกปี2563 ไทยเบอร์ 1 ผลผลิตยางพาราโลกปี2563มีปริมาณ 12.9 ล้านตัน โดยประเทศไทยมีผลผลิตยางพารามากเป็นอันดับ 1 ของโลก ประมาณ 4.4 ล้านตัน หรือ 38.2%
รองลงมา ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน มาเลเซีย และอินเดีย เอเซียผลิตมากที่สุดในโลก ภูมิภาคเอเชียเป็นแหล่งผลิตยางพารา 93% ของผลผลิตยางพาราทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็นแหล่งผลิตใหญ่ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศกลุ่ม CLMV (Cambodia, Laos, Myanmar, Vietnam) ไทย:แชมป์โลกส่งออกน้ำยางข้นและยางแผ่นรมควัน
ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ยางขั้นกลางของโลก โดยเฉพาะน้ำยางข้นและยางแผ่นรมควันส่งออกมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก แนวโน้มการส่งออก มีแนวโน้มขยายตัว 5.0-8.0% ต่อปี ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมถุงมือยางและผลิตภัณฑ์ยางทางการแพทย์ต่างๆ โดยตลาดหลักยังคงเป็นประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำยางข้นรายใหญ่ของไทย และเป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ของโลก
ขณะที่ผู้ผลิตน้ำยางข้นยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องตามทิศทางความต้องการของอุตสาหกรรมขั้นปลาย ได้แก่ ถุงมือยาง ผลิตภัณฑ์ยางทางการแพทย์ และถุงยางอนามัยในตลาดโลก ประกอบกับการผลิตน้ำยางข้นในตลาดโลกยังมีน้อยเนื่องจากกระบวนการผลิตส่วนใหญ่ยังเน้นผลิตเพียงยางก้อนถ้วยและเศษยาง ทำให้ภาวะการแข่งขันในการส่งออกน้ำยางข้นไม่รุนแรงนัก จุดแข็งและโอกาสของน้ำยางพาราไทย
1.การผลิตน้ำยางสด92%การผลิตน้ำยางสดมีสัดส่วนถึง 92% ของผลผลิตยางพาราทั้งหมดซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตผลิตภัณฑ์ยางขั้นกลางได้ทุกประเภท ต่างจากมาเลเซียและอินโดนีเซียที่ส่วนใหญ่ผลิตยางก้อนถ้วยจึงเน้นผลิตยางแท่งเป็นหลัก
2.ศักยภาพน้ำยางข้นไทยอันดับ1ของโลก อุตสาหกรรมน้ำยางข้นของไทยมีมูลค่าตลาดประมาณ 5 หมื่นล้านบาทในปี 2563 (มูลค่ารวมส่งออกและใช้ในประเทศ) โดยส่งออกในสัดส่วน 75.9% และไทยมีส่วนแบ่งตลาดสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลกเกือบ 70% ของปริมาณการค้าน้ำยางข้นทั่วโลก
3.ตลาดใกล้กระจุกตัวแต่มีตลาดทั่วโลกรออยู่ ตลาดส่งออกหลักของไทยอยู่ใกล้บ้านในอาเซียนและเอเซียตะวันออกคือ มาเลเซียที่มีสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งของปริมาณส่งออกน้ำยางข้นทั้งหมด รองลงมาเป็นจีน (33.5%) และเกาหลีใต้ (1.8%) แต่ในอีกแง่หนึ่งคือการมีตลาดดั้งเดิมกระจุกใน3ประเทศแสดงว่ายังมีตลาดใหม่ในอีกกว่า100ประเทศรอเราอยู่
4.Covid โอกาสในวิกฤติ จากวิกฤติโควิด19 ทำให้ความต้องการน้ำยางข้นเพิ่มขึ้นจากอุตสาหกรรมถุงมือยางและถุงยางอนามัย สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางมาเลเซีย The Malaysian Rubber Glove Manufacturers Association (MARGMA) คาดการณ์ความต้องการถุงมือยางทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 662 พันล้านชิ้นในปี 2566 หรือเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 23.1% ต่อปีในช่วงปี 2564-2566
สำหรับการพัฒนายางพาราไทย และการสร้างเสถียรภาพราคายางเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศสู่อนาคตที่ยั่งยืนได้วางกรอบเป็นแนวทางและกลยุทธ์ด้วยมุมมองและกลไกใหม่ๆเพื่อยกระดับอัพเกรดจากฐานศักยภาพเดิมดังนี้ 6 แนวทางการพัฒนาน้ำยางพาราสู่ศักยภาพใหม่ 1. การพัฒนาการผลิตและผลิตภัณฑ์ 2. การพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร 3. การพัฒนากยท.สู่Global Player 4. การพัฒนากลไกการค้า(Fair Trade)และเกษตรพันธสัญญาเพื่อเสถียรภาพราคาที่เป็นธรรม 5. การส่งเสริมอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำ 6. การสร้างหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์CLMV AEC RCEP
พร้อมกับการวางระบบการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ด้วย 7 กลยุทธ์สู่ศักยภาพใหม่ยางพาราไทยได้แก่ 1.การยกระดับมาตรฐาน GAP FSC GMP 2.การประกันรายได้ชาวสวนยาง การนำระบบการประมูลออนไลน์และตลาดกลางซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบจริงมาเป็นกลไกใหม่ๆ 3.การยกระดับด้วยAICและกยท.ด้วยการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยี นวัตกรรมสู่การผลิตที่ดีมีมาตรฐานมีProductivityสูงและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง 4.กยท.และบริษัทของไทย เช่นศรีตรัง ต้องยกระดับอัพเกรดองค์กรและการบริหารจัดการทะยานสู่ Global Player 5.การพัฒนาวิสาหกิจยางพาราสู่SMEเกษตร 6.ส่งเสริมเชิงรุกอุตสาหกรรมน้ำยางข้นทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคสถาบันเกษตรกร เช่นโครงการ Rubber Valley Rubber City SEC EEC 7.สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง4แกนหลักได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตรกรและภาควิชาการ(ไม่ใช่ภาครัฐและภาคเอกชนเท่านั้นเหมือนในอดีต)แบบทวิภาคีและพหุภาคี แบบคู่ค้าและคู่ขา ไม่ใช่คู่แข่ง โมเดลWin-Win
“เรากำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงในทิศทางการลงทุนอุตสาหกรรมแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆตอบสนองตลาดยุคโควิดแทนการส่งออกน้ำยางข้นเพื่อสร้างรายได้เพิ่มตลอดห่วงโซ่อุปทานโดยเฉพาะชาวสวนยาง 1.83 ล้านรายและอุตสาหกรรมต่อเนื่องบนฐานการเป็นประเทศผู้ส่งออกยางอันดับ1ของโลก”
Social Links