อานิสงส์ไทย!
จีนเปิดประเทศ ปลุก GDP ไทยโต 3.7%
………………………………………..
การเปิดประเทศเร็วของจีนคาดส่งผลบวกให้มีการปรับเพิ่มคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 25.5 ล้านคน และการส่งออกหดตัวลดลงที่ -0.5% ในปี 2566 ในขณะที่คงส่งผลต่อเงินเฟ้อโลกให้ลดลงช้ากว่าที่คาด
……………………………………………
การเปิดประเทศเร็วกว่าคาดของจีน ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 ขึ้นมาอยู่ที่ 3.7% จาก 3.2% เนื่องจากผลบวกต่อภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกไทย โดยในปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาราว 4.65 ล้านคน ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวรวมอยู่ที่ราว 25.5 ล้านคน (กรอบ 24-26 ล้านคน) ขณะที่ การส่งออกโดยรวมหดตัวลดลงมาอยู่ที่ -0.5% เนื่องจากการส่งออกสินค้าไปจีนโดยเฉพาะในหมวดสินค้าผู้บริโภคคาดว่าจะขยายตัวมากขึ้น แม้ว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมจะยังคงกดดันการส่งออกไทยอยู่
ในด้านการส่งออก การผ่อนคลายมาตรการโควิดเป็นศูนย์จนนำมาซึ่งการเปิดประเทศจีนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกิดกว่าที่คาดทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับคาดการณ์การส่งออกของไทยในภาพรวมให้หดตัวลดลงเป็น -0.5% จากประมาณการเดิมที่ -1.5% จากการเปิดประเทศของจีนที่ส่งผลให้การจับจ่ายและการผลิตในประเทศจีนให้ทยอยกลับมาเป็นปกติตั้งแต่เริ่มเปิดปี 2566 ทั้งยังหนุนให้ราคาพลังงานยังคงยืนในระดับที่สูงต่อเนื่อง จึงส่งผลต่อไทยการส่งออกของไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนี้
– ผลทางตรงจากเศรษฐกิจจีนอาจโตดีกว่าที่คาด สัดส่วนการส่งออกไทยไปจีนสูงถึง 12% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ซึ่งการเปิดประเทศจีนอย่างรวดเร็วกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจจีนให้ฟื้นกลับมาตั้งแต่ต้นปี ส่งผลให้ GDP จีนคาดการณ์ปี 2566 นี้อาจจะเติบโตได้มากกว่า 4.0% (ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมิน ณ เดือน ธ.ค. 2566) โดยสินค้าส่งออกไทยไปจีนที่น่าจะได้ประโยชน์มากสุดอยู่ที่สินค้าที่ตอบโจทย์การบริโภคในกลุ่มอาหารเป็นหลัก อาทิ ผลไม้ ผลไม้กระป๋อง ข้าว ไก่ กุ้ง น้ำตาล รวมถึงสินค้าเพื่ออุตสาหกรรมและสินค้าเพื่อการผลิตมีสัญญาณว่าน่าจะทำตลาดได้มากกว่าเดิมด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไร้ข้อจำกัดจากการปลดล็อกมาตรการโควิดเป็นศูนย์ แต่จากการกระจายฐานการผลิตออกจากจีนในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับภาพเศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแรงส่งผลให้การผลิตและส่งออกของจีนคงทำได้อย่างจำกัด ทำให้การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้เติบโตเชื่องช้ากว่าสินค้าส่งออกในกลุ่มการบริโภค อาทิ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ยางและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
นอกจากนี้ การเปิดประเทศจีนยังทำให้ราคาพลังงานในปีนี้ปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้าเพียงเล็กน้อย ทำให้การส่งออก สินค้าโภคภัณฑ์ที่อิงกับราคาน้ำมันจึงยังปรับตัวลดลงจากปีก่อน โดยสรุปแม้มีภาพบวกจากหลายกลุ่มสินค้าแต่สินค้าอาหารที่มีทิศทางสดใสที่สุดมีสัดส่วนเพียง 20% ของการส่งออกไปจีน และสินค้าที่เหลือล้วนมีข้อจำกัดในการเติบโต บวกกับผลของฐานในปีที่แล้วที่ทำสถิติสูงเป็นประวัติการณ์จึงทำให้การส่งออกไปจีนเติบโตเลขหลักเดียวที่ 3.4% (ปรับเพิ่มขึ้นจากไม่เติบโตในคาดการณ์ครั้งก่อน)
– ผลทางอ้อมจากเศรษฐกิจคู่ค้าของไทยในเอเชียน่าจะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของจีนเช่นเดียวกับไทย แต่มีผลต่อการส่งออกจากไทยจำกัด โดยอาเซียนและญี่ปุ่นแม้จะได้อานิสงส์จากเศรษฐกิจจีนเข้ามาช่วยขับเคลื่อนการส่งออกและเศรษฐกิจของแต่ละประเทศให้เติบโตได้มากขึ้น แต่อานิสงส์ต่อการส่งออกของไทยในแทบทุกกลุ่มสินค้าเป็นไปอย่างจำกัด ขณะที่การส่งออกไปอาเซียนยังมีแรงฉุดด้านราคาสินค้าโภคภัณฑ์น้ำมัน แร่ น้ำตาลทรายและทองคำที่เป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยไปหลายประเทศ ยกเว้นการส่งออกของไทยไปเวียดนาม มาเลเซียและอินโดนีเซียยังคงเติบโต สำหรับการส่งออกไปสหรัฐฯ และยุโรป ยังไม่เปลี่ยนภาพเนื่องจากยังเผชิญภาวะเศรษฐกิจในปี 2566 ที่คาดว่าจะชะลอตัวลงอย่างมาก อย่างไรก็ดี ตลาดใหม่อย่างตลาดตะวันออกกลาง และอินเดียมีศักยภาพเติบโตไม่ต่ำกว่าเลขสองหลักก็ยังเป็นแรงส่งสำคัญสำหรับภาพรวมการส่งออกไทยตลอดปี 2566
ดังนั้น การเปิดประเทศจีนมีผลให้การส่งออกไทยไปจีนในภาพรวมดีขึ้นจากที่ประเมินไม่เติบโตเป็นขยายตัว 3.4% ในขณะที่ผลบวกโดยอ้อมผ่านเศรษฐกิจคู่ค้าอื่นๆ มีอย่างจำกัด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับคาดการณ์การส่งออกของไทยปี 2566 ให้หดตัวลดลงเป็น -0.5% (จากคาดการณ์เดิมที่ -1.5% ณ เดือนธันวาคม 2565) จากตลาดส่งออกจีนเป็นหลัก โดยสินค้าที่หลักที่ได้อานิสงส์จะอยู่ในกลุ่มอาหารที่เรียกได้ว่ามีทิศทางที่ดีขึ้นในทุกตลาด แต่สินค้าอาหารก็มีบทบาทต่อการส่งออกของไทยไม่มากนักเมื่อเทียบกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ที่ยังมีความเสี่ยงด้านกำลังซื้อของทั่วโลกที่ยังซบเซาอยู่ ขณะที่สินค้าอิงราคาตามสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีทิศทางชะลอลงในปีนี้แม้ได้แรงพยุงจากการเปิดประเทศจีนที่เข้ามาเป็นปัจจัยใหม่ แต่ในภาพรวมทั้งปีก็คงมีภาพชะลอตัวอยู่
ขณะที่ ในด้านของเงินเฟ้อ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดและการเปิดประเทศเร็วกว่าคาดของจีนคงเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในภาพรวมทรงตัวอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานาน แม้จะได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะจากสหรัฐฯ และยูโรโซน แต่ปัจจัยการเปิดประเทศของจีนคาดว่าไม่ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เร่งตัวเท่ากับปี 2565 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดและการเปิดประเทศที่เร็วกว่าคาดของจีนอาจก่อให้เกิดการเร่งตัวขึ้นของอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในจีนเริ่มคลี่คลายลงและกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาเป็นปกติ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/2566 เป็นต้นไป การเร่งตัวขึ้นของอุปสงค์ในจีนจะเป็นปัจจัยสนับสนุนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ให้ยังอยู่ในระดับสูงต่อไปในระยะข้างหน้า ท่ามกลางแรงกดดันจากชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสหรัฐฯ และยูโรโซนที่คาดว่าจะเห็นผลกระทบจากเงินเฟ้อที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงและจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวของธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางยุโรปในช่วงปีที่ผ่านมา ประกอบกับปัญหาความตึงตัวในอุปทานน้ำมันดิบโลกนั้นน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ท่ามกลางสภาพอากาศที่อบอุ่นกว่าที่คาด
ทั้งนี้จึงมองว่สราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มที่จะทรงตัวในระดับสูงและอาจเร่งสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ แต่ยังคงไม่มองถึงขั้นว่าอุปสงค์จีนจะพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงจนไปผลักดันราคาพลังงานในตลาดโลกพุ่งขึ้นดังเช่นในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ในกรณีฐาน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีคาดว่าจะอยู่ที่ราว 90 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล สูงจากระดับปัจจุบัน (ณ วันที่ 13 มกราคม 2566) ที่อยู่ที่ราว 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ลดลงจากค่าเฉลี่ยในปี 2565 ที่อยู่ที่ราว 97 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในขณะที่ เงินเฟ้อไทยคาดว่าจะอยู่ที่ราว 3.2% ในปีนี้ เนื่องจากการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบการไปยังผู้บริโภคตามภาระต้นทุนค่าไฟรวมถึงค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับแนวโน้มราคาน้ำมันในประเทศที่อาจไม่ปรับลดลงเร็ว เนื่องจากภาครัฐยังมีภาระกองทุนน้ำมันที่ยังขาดดุลในระดับสูง
กล่าวโดยสรุป การผ่อนคลายมาตรการโควิดเป็นศูนย์และเปิดประเทศเร็วกว่าคาดของจีนคาดว่าก่อให้เกิดแรงหนุนต่อภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออกของไทย และส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นที่ 3.7% จากประมาณการเดิม ณ เดือนธันวาคม 2565 ที่ 3.2% ขณะที่ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกคาดว่าได้รับแรงหนุนให้ยังทรงตัวในระดับสูง ซึ่งอาจเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อโลกให้ไม่ปรับลดลงมาเร็ว ขณะที่เงินเฟ้อไทยคาดว่าจะอยู่ที่ราว 3.2% ในปี 2566
Social Links