“อเล็กซานเดอร์ ดูกิน” คือใคร! ทำไมจึงเป็นเป้าหมายของการลอบสังหาร

“อเล็กซานเดอร์ ดูกิน” คือใคร! ทำไมจึงเป็นเป้าหมายของการลอบสังหาร

“อเล็กซานเดอร์ ดูกิน” คือใคร!

ทำไมจึงเป็นเป้าหมายของการลอบสังหาร

ผศ.ดร.กฤษฎา พรหมเวค

คณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

                ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่มีข่าวต่างประเทศข่าวไหนดังเท่ากับการลอบสังหารนางสาวดารยา ดูกินา «Дарья Александровна Дугина» บุตรสาวของนายอเล็กซานเดอร์ ดูกิน «Александр Гельевич Дугин»  ในเหตุการณ์ลอบวางระเบิดรถยนต์ในคืนวันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม ปี ค.ศ.2020 จากหน่วยปฏิบัติการพิเศษของยูเครน โดยสตรีชาวยูเครน ที่หนีไปเอสโตเนียพร้อมกับลูกสาวของเธอ ในขณะที่ทางการยูเครนให้การปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับเหตุการณ์ดังกล่าว โดยนางสาวดารยา ดูกินาขับรถของพ่อเธอจากงานเทศกาลที่ทั้งคู่เข้าร่วม

             นักวิเคราะห์ภายนอกให้ข้อสังเกตว่าเป้าหมายที่แท้จริงของการลอบสังหารครั้งนี้น่าจะเป็นนายอเล็กซานเดอร์ ดูกินผู้ที่เป็นบิดาของเธอมากกว่า

            อเล็กซานเดอร์ ดูกินเป็นใคร ทำไมถึงเป็นเป้าเป้าหมายของการลอบสังหาร?

                ในสมัยที่เป็นนักศึกษาปริญญาเอกที่รัสเซีย ผมได้ถูกมอบหมายจากอาจารย์ที่ปรึกษาให้อ่านงานของศาสตราจารย์ ดร.อเล็กซานเดอร์ ดูกิน หลายเล่มด้วยกันเรียกว่าแทบจะทุกเล่มเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดทางด้าน “ภูมิรัฐศาสตร์” ที่มีอิทธิพลต่อนโยบายต่างประเทศของรัสเซีย และในปัจจุบันผมก็ยังมักอ้างถึงบ่อย ๆ ในการเขียนงานทางด้านวิชาการของผม ศาสตราจารย์ ดร.อเล็กซานเดอร์ ดูกินเป็นนักปรัชญาลัทธิฟาสซิสต์ของสหภาพโซเวียตและรัสเซีย นักการเมือง นักสังคมวิทยา นักแปล และบุคคลสาธารณะ เกิดเมื่อวันที่ 7 มกราคม ปีค.ศ. 1962 ณ กรุงมอสโกในครอบครัวของเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของสหภาพโซเวียต จบการศึกษาปริญญาเอกขั้นสูงสุด 2 สาขาวิชาคือ ทางด้านปรัชญาและทางด้านสังคมวิทยา ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์และหัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยแห่งรัฐมอสโกตั้งชื่อตาม เอ็ม.วี.โลโมโนซอฟ และยังดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติยูเรเซียนตั้งชื่อตาม แอล เอ็น กูมิเลเยฟ ประเทศคาซัคสถาน และในมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษามีชื่อทั่วโลกอีกหลายแห่ง ได้รับการจัดอันดับจากวารสาร Forieign Policy ของสหรัฐอเมริกาในปีค.ศ. 2014 ไว้ใน "นักคิดระดับโลก" 100 อันดับแรกของโลกสมัยใหม่ ในหมวดหมู่ “ผู้ปลุกปั่น” และตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 เป็นต้นมาเขามักถูกจัดให้อยู่ในรายชื่อของผู้ที่ถูกคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา รวมถึงแคนาดาด้วย

                แนวคิดและมุมมองของศาสตราจารย์ ดร.อเล็กซานเดอร์ ดูกินเป็นที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากนักวิจัยและประชาชนชาวรัสเซีย แนวคิดของเขาได้รับการยอมรับว่าเป็นแนวทางของลัทธิฟาสซิสต์ และถือเป็นอุดมการณ์ของลัทธินิยมความรุนแรงหรือลัทธิฟาสซิสต์รัสเซีย เขามีแนวคิดและจุดยืนในการต่อต้านโลกาภิวัตน์และโลกตะวันตกโดยพัฒนาแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับสงครามที่ยืดเยื้อระหว่างรัสเซียและตะวันตกมาเป็นเวลาหลายสิบปี และมีความกังวลว่ากระบวนการดังกล่าว จะทำลายและก่อให้เกิดการพังทลายของเอกลักษณ์ประจำชาติแบบดั้งเดิมของรัสเซีย นอกจากนี้เขายังมีแนวคิดต่อต้านกลุ่มเซมิติกหรือชาวยิวอย่างเปิดเผย เขาได้ออกมาเรียกร้องมานานให้มีการนำยูเครนกลับคืนสู่รัสเซีย และยิ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากภายหลังที่ออกมาเรียกร้องให้สังหารผู้ประท้วงชาวยูเครน

                ศาสตราจารย์ ดร.อเล็กซานเดอร์ ดูกิน ยังเป็นเจ้าของทฤษฎีมหาทวีปยูเรเซีย หรือ Концепция «Большой Евразии» ที่สนับสนุนให้จักรวรรดิรัสเซียฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่และความเป็นเจ้าโลกในวงกว้างของรัสเซียเพื่อยืนหยัดต่อสู้กับสหรัฐอเมริกา โดยเรียกร้องให้มีการจัดตั้ง "โลกใหม่" และ "รัสเซียใหม่"   หรือ "โนโวรอสซียา" «Новороссия» ในตอนใต้ของยูเครน ตอนเหนือของทะเลดำ ซึ่งได้กลายเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ทรงพลังและกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจในสมัยจักรวรรดิรัสเซีย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่ามุมมองด้านภาษาและการขยายขอบเขตของรัสเซียในโลกนี้ได้รับการสะท้อนให้เห็นโดยเครมลินและในการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งล่าสุดของปูติน  นอกจากนี้เขายังมีแนวคิดต่อต้านระบบเสรีนิยมและต่อต้านความพยายามในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของปูตินไปสู่การเปิดเสรีในอดีต ศาสตราจารย์ ดร.

                อเล็กซานเดอร์ ดูกิน ยังเป็นผู้ควบคุมเว็บไซต์ Geopolitica ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับผู้รักชาติรัสเซียขั้นสูงในการเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารของสหรัฐฯและโลกตะวันตกและกล่าวหาว่าสหรัฐฯ และ NATO ยั่วยุให้เกิดสงครามกับรัสเซีย

                ในสื่อตะวันตกนายอเล็กซานเดอร์ ดูกินได้ถูกนำไปเปรียบเทียบมากมายกับกริกอรี รัสปูติน «Григорий Ефимович Распутин» นักบุญผู้ลึกลับ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรูปร่างหน้าตาของเขาและอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะอิทธิพลที่เห็นได้ชัดของเขาที่มีต่อซาร์โดยพฤตินัย เขาถูกเรียกว่า "มันสมองของปูติน" เนื่องจากแนวคิดและโลกทัศน์ของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ที่ต้องการวางรัสเซียไว้เป็นศูนย์กลางของ"ยูเรเซีย" และการปกป้องประเพณีและ "อารยธรรม" ของรัสเซียจากการเผชิญกับภัยคุกคามแบบเสรีนิยมตะวันตกที่รับรู้ได้นั้นส่วนใหญ่ปรากฏได้ในงานเขียนของนายอเล็กซานเดอร์ ดูกิน

                แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนโต้แย้งว่านายอเล็กซานเดอร์ ดูกิน มีอิทธิพลเพียงเล็กน้อยต่อนโยบายของรัสเซีย โดยประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินและที่ปรึกษาคนอื่นๆ ได้แก้ไขและพัฒนาแนวทางการดำเนินการนโยบายต่าง ๆ ของรัสเซียผ่านความเชื่อของตนเอง นายอเล็กซานเดอร์ ดูกินยังเป็นผู้ให้การสนับสนุนการรุกรานยูเครนที่เป็นที่ยอมรับ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อของเขาว่าจักรวรรดิของรัสเซียควรเข้าสู่ภาวะการขยายตัว

                ในขณะที่นางสาวดารยา ดูกินาบุตรสาวของนายอเล็กซานเดอร์ ดูกินที่เสียชีวิตนั้น เธอได้รับการศึกษาบางส่วนจากโลกตะวันตก (ฝรั่งเศส) และเป็นนักข่าว นักการเมืองและยังดำรงตำแหน่งหัวหน้าบรรณาธิการของเว็บไซต์ United World International โดยสื่อตะวันตกให้ฉายาเธอว่าเป็น “มารีน เลอ แปน ของรัสเซีย” ("Russian Marine Le Pen") เธอมักปรากฏตัวในภาพลักษณ์สวมใส่เสื้อคลุมของพ่อของเธอ เธอมีแนวคิดชาตินิยมสุดโต่งทั้งทางด้านการเมืองและวัฒนธรรม และได้แสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะเพื่อสนับสนุนสงครามในยูเครนและการขยายตัวของรัสเซีย โดยระบุว่ายูเครนจะพินาศหากเข้าร่วมกับ NATO  และเธอเพิ่งถูกสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรคว่ำบาตรเมื่อเดือนมีนาคม ปีค.ศ.2022 ที่ผ่านมา โดยเธอเสียชีวิตด้วยวัย 29 ปี จากเหตุระเบิดรถยนต์ในเมือง Bolshiye Vyazyomy «Большие Вязёмы» ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่นอกกรุงมอสโกวราวๆ 25 ไมล์ แรงจูงใจในการโจมตีและใครเป็นผู้ดำเนินการนั้นไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม กลุ่มต่อต้านปูตินที่เรียกว่า National Republican Army «Национальная республиканская армия» ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มต่อต้านต่อระบอบการปกครองในรัสเซียอย่างรุนแรง ซึ่งหายไปภายหลังจากการรวมอำนาจของปูติน ได้ออกมาอ้างความรับผิดชอบในการดำเนินการครั้งนี้ โดยนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าอาจเป็นการโจมตีจากผู้ที่ไม่พอใจกับการก่อสงครามของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินภายในประเทศ อย่างไรก็ตามผู้สันทัดกรณีต่าง ๆ ได้ออกมาชี้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเป็นสาเหตุทำให้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินเปลี่ยนเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของปฏิบัติการณ์ทางด้านการทหารของรัสเซียต่อยูเครน แต่อาจเป็นแค่เพียงการส่งสัญญาณเตือนให้แก่บุคคลชั้นนำทางการเมืองในมอสโกในเรื่องความปลอดภัยและการลอบสังหารจากกลุ่มตรงข้าม

             ในขณะที่ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน เตือนถึงความเป็นไปได้ที่การโจมตีของรัสเซียจะทวีความรุนแรงขึ้นก่อนวันที่ 24 สิงหาคม ซึ่งตรงกับวันประกาศอิสรภาพของประเทศยูเครน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจับตามองอย่างยิ่งถึงการตอบโต้และการแก้แค้นจากฝั่งรัสเซียจะดำเนินการอย่างไรต่อไปในอนาคต.

You may also like

มาสเตอร์การ์ดเปิดตัว Pay Local เพิ่มช่องทางผู้ให้บริการกระเป๋าเงินดิจิทัลในเอเชีย รับชำระเงินจากผู้ถือบัตรมาสเตอร์การ์ดกว่า 2 พันล้านราย

มาสเตอร์