เงินบาทกลับมาแข็งค่า หุ้นไทยกลับมายืนเหนือ 1,300 จุดได้

เงินบาทกลับมาแข็งค่า หุ้นไทยกลับมายืนเหนือ 1,300 จุดได้

เงินบาทกลับมาแข็งค่า

หุ้นไทยกลับมายืนเหนือ 1,300 จุดได้

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

  • เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่า ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ขาดแรงหนุน หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาด

เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์ตามทิศทางของเงินเยน เงินหยวน และสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค  ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ยังได้รับอานิสงส์จากการขยับขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ตามกระแสการคาดการณ์ของตลาดถึงความเป็นไปได้ว่า อดีตปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ มีโอกาสที่จะชนะการเลือกตั้งในเดือนพ.ย.นี้

อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นตามทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ ขาดแรงหนุนตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด (อาทิ ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนและดัชนี ISM ภาคบริการเดือนมิ.ย. และข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์) ซึ่งทำให้ตลาดกลับมาเพิ่มโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเห็นเฟดปรับลดดอกเบี้ยมากกว่า 1 ครั้งในปีนี้ นอกจากนี้ Sentiment ของเงินดอลลาร์ฯ ยังถูกดดันจากถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ระบุว่า เฟดมีความคืบหน้ามากขึ้นในการทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมาย แม้จะต้องใช้เวลาอีกระยะที่จะทำให้มั่นใจมากขึ้นก็ตาม

ในวันศุกร์ที่ 5 ก.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 36.58 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 36.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (28 มิ.ย. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 1-5 ก.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 845 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 10,633 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตรไทย 9,990 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 643 ล้านบาท)

สัปดาห์นี้(8-12 ก.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 36.30-37.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์สกุลเงินในภูมิภาค ถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรสของสหรัฐฯ และมุมมองต่อทิศทางดอกเบี้ยของเจ้าหน้าที่เฟดท่านอื่น ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนมิ.ย. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการรายสัปดาห์ รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคเดือนก.ค. นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางนิวซีแลนด์และธนาคารกลางเกาหลีใต้ ตลอดจนตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมิ.ย. ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และยอดปล่อยกู้ใหม่สกุลเงินหยวนด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงแรงในช่วงแรกจากความกังวลต่อประเด็นการเมืองในประเทศ แต่กลับมายืนเหนือ 1,300 จุดได้ในช่วงท้ายสัปดาห์

หุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบแคบท่ามกลางปริมาณการซื้อขายที่ค่อนข้างเบาบางในวันที่ 1 ก.ค. ซึ่งเป็นวันแรกที่มาตรการ Uptick rule มีผลบังคับใช้ ก่อนจะร่วงลงแรงและหลุด 1,300 จุดในเวลาต่อมา โดยมีปัจจัยลบจากความกังวลเกี่ยวกับประเด็นการเมืองในประเทศ ซึ่งส่งผลให้เกิดแรงขายหุ้นทุกกลุ่มอุตสาหกรรม นำโดย เทคโนโลยี ไฟแนนซ์และอสังหาริมทรัพย์

อย่างไรก็ดี หุ้นไทยทยอยฟื้นตัวกลับมาอีกครั้งตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ ตามทิศทางหุ้นภูมิภาค หลังจากประธานเฟดระบุว่า มีความคืบหน้าในการทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมาย แม้จะยังคงย้ำว่าต้องการความมั่นใจมากกว่านี้ก่อนจะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ย นอกจากนี้ตลาดหุ้นไทยยังมีแรงหนุนจากแรงซื้อคืนในหุ้นหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ก่อนการประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 2/2567 และรายงานข่าวความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ อนึ่งแรงขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติชะลอลงบางส่วนในสัปดาห์นี้

ในวันศุกร์ที่ 5 ก.ค. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,311.99 จุด เพิ่มขึ้น 0.85% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 31,665.77 ล้านบาท ลดลง 21.65% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 1.07% มาปิดที่ระดับ 351.66 จุด

สัปดาห์นี้(8-12 ก.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,300 และ 1,290 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,325 และ 1,335 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การแถลงนโยบายการเงินรอบครึ่งปีของประธานเฟดต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯ การทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/2567 ของบจ.ไทย ประเด็นการเมืองในประเทศและทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมิ.ย. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมิ.ย.ของจีน รวมถึงผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค.และดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมิ.ย.ของญี่ปุ่น

 

You may also like

คปภ.เดินหน้า! เปิดเวทีสัมมนาวิชาการด้านประกันภัย ประจำปี 2567 “Thailand Insurance Symposium 2024”

 นายชูฉั