เงินบาททำสถิติแข็งค่าสุดรอบ 19 เดือนครั้งใหม่
ส่วนหุ้นไทยปิดต่ำกว่าสัปดาห์ก่อนเล็กน้อย
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาทแข็งค่าสุดรอบ 19 เดือนตามทิศทางราคาทองคำโลกที่พุ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ขาดแรงหนุน เนื่องจากตลาดยังรอผลการประชุมเฟดวันที่ 17-18 ก.ย. นี้
เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค และการย่อตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อคืนของนักลงทุนท่ามกลางการปรับการคาดการณ์ของตลาดมามองว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในขนาดที่มากกว่า 25 bps. ในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. นี้
อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นและแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 19 เดือนครั้งใหม่ที่ 33.26 บาทต่อดอลลาร์ฯ ตามการพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ใหม่ของราคาทองคำในตลาดโลก และการแข็งค่าของเงินเยนซึ่งมีแรงหนุนจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่นในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ เงินบาทน่าจะมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากสถานะซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่อ่อนค่าลง หลังธนาคารกลางยุโรปยังไม่ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรอบการประชุมหน้า (แม้จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในการประชุมรอบนี้) ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีราคาผู้ผลิตก็ออกมาแย่กว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดด้วยเช่นกัน
ในวันศุกร์ที่ 13 ก.ย. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.32 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.52 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (6 ก.ย. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 9-13 ก.ย. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 9,474 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 3,692 ล้านบาท (แบ่งเป็น ซื้อสุทธิพันธบัตร 3,752 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 60 ล้านบาท)
สัปดาห์ระหว่างวันที่ 16-20 ก.ย. ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.00-33.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก และสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค หลังผลการประชุมนโยบายการเงิน การเปิดเผยตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ และ Dot Plots ของเฟด (17-18 ก.ย.) ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและฟิลาเดลเฟีย และดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนก.ย. ตัวเลขยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม การเริ่มสร้างบ้าน และยอดขายบ้านมือสองเดือนส.ค. และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (19-20 ก.ย.) ธนาคารกลางอังกฤษ (19 ก.ย.) การกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของจีน รวมถึงข้อมูลอัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค. ของอังกฤษ ยูโรโซน และญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงช่วงต้น-กลางสัปดาห์ แต่ฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงที่เหลือของสัปดาห์
หุ้นไทยปรับตัวลงช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์เนื่องจากเผชิญแรงขายทำกำไร หลังตลาดตอบรับปัจจัยบวกในประเทศอย่างประเด็นการจัดตั้งรัฐบาลและกองทุนรวมวายุภักษ์ไปพอสมควรแล้ว ทั้งนี้หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงนำตลาดเนื่องจากมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลง หลังโอเปกปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกปีนี้และปีหน้าลง
ดัชนีหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ท่ามกลางแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ตามการปรับตัวขึ้นของหุ้นภูมิภาคจากการคาดการณ์เรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดในสัปดาห์หน้า โดยมีแรงซื้อคืนหุ้นหลายกลุ่ม นำโดย แบงก์ ไฟแนนซ์และเทคโนโลยี อย่างไรก็ดีกรอบการปรับขึ้นเริ่มจำกัดในช่วงท้ายสัปดาห์ เนื่องจากนักลงทุนรอติดตามผลการประชุมเฟด รายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลรวมถึงสถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือ
ในวันศุกร์ที่ 13 ก.ย. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,424.39 จุด ลดลง 0.23% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 65,359.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.61% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 2.01% มาปิดที่ระดับ 351.58 จุด
สัปดาห์นี้(16-20 ก.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,410 และ 1,400 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,440 และ 1,450 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (17-18 ก.ย.) และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสอง เดือนส.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม BOE และ BOJ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนส.ค.ของ อังกฤษยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR เดือนก.ย. ของจีน
Social Links