เงินบาทผันผวน ก่อนพลิกแข็งค่า ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้น ลุ้นการประชุมเฟด-สถานการณ์การเมืองไทย

เงินบาทผันผวน ก่อนพลิกแข็งค่า ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้น ลุ้นการประชุมเฟด-สถานการณ์การเมืองไทย

เงินบาทผันผวน ก่อนพลิกแข็งค่า ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้น

ลุ้นการประชุมเฟด-สถานการณ์การเมืองไทย

……………………………………………………………….

  • เงินบาทปรับตัวผันผวนไปตามการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯ แต่พลิกแข็งค่าในช่วงปลายสัปดาห์ หลังข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐฯ ออกมาน่าผิดหวัง ซึ่งอาจทำให้เฟดคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. นี้
  • SET Index ย่อตัวลงช่วงปลายสัปดาห์ ระหว่างรอผลการประชุมเฟดสัปดาห์หน้า แต่ยังปิดสูงกว่าสัปดาห์ก่อน จากแรงหนุนของหุ้นกลุ่มพลังงาน

……………………………………………………………….

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน โดยเงินบาทอ่อนค่าลงสอดคล้องกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชียและเงินหยวน สวนทางค่าเงินดอลลาร์ฯ ที่แข็งค่าขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังจากสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินแบบเหนือความคาดหมายของธนาคารกลางออสเตรเลียและธนาคารกลางแคนาดา กระตุ้นให้ตลาดกลับมาประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ อย่างระมัดระวัง เพราะแม้เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย. แต่ก็อาจจะกลับมาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีกครั้งในการประชุมรอบเดือนก.ค.นี้ เช่นกัน

อย่างไรก็ดี เงินบาทล้างช่วงอ่อนค่าลงเกือบทั้งหมดและพลิกแข็งค่ากลับมาในช่วงท้ายสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงเทขาย หลังจากตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาด ซึ่งอาจทำให้เฟดคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.00-5.25% ตามเดิมในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. นี้

ในวันศุกร์ที่ 9 มิ.ย. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 34.54 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (2 มิ.ย.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 6-9 มิ.ย. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 844 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 2,699 ล้านบาท (แม้จะซื้อสุทธิพันธบัตร 64 ล้านบาท แต่ก็มีตราสารหนี้หมดอายุ 2,763 ล้านบาท)

สัปดาห์นี้ (12-16 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.30-34.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงิน dot plots และตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ของเฟด (13-14 มิ.ย.) ผลการประชุม ECB (15 มิ.ย.) และ BOJ (15-16 มิ.ย.) สถานการณ์การเมืองไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและฟิลาเดลเฟีย ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ในมุมมองของผู้บริโภคเดือนมิ.ย. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขเศรษฐกิจเดือนพ.ค. ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน แม้จะย่อตัวลงบางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้หุ้นไทยแกว่งตัวกรอบแคบในช่วงแรกหลังตอบรับปัจจัยบวกอย่างประเด็นเพดานหนี้สหรัฐฯ ไปพอสมควรแล้ว ก่อนจะดีดตัวขึ้นในเวลาต่อมาตามแรงซื้อคืนหุ้นบิ๊กแคปหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน ที่มีปัจจัยบวกจากการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย รวมถึงคาดการณ์เกี่ยวกับการคงดอกเบี้ยของเฟดและแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี หุ้นไทยย่อตัวลงบางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ ระหว่างรอติดตามสถานการณ์การเมืองในประเทศ และผลการประชุมเฟดวันที่ 13-14 มิ.ย.

ในวันศุกร์ (9 มิ.ย.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,555.11 จุด เพิ่มขึ้น 1.56% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 50,183.70 ล้านบาท ลดลง 5.61% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 2.98% มาปิดที่ระดับ 501.30 จุด

สำหรับสัปดาห์นี้(12-16 มิ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,530 และ 1,515 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,560 และ 1,575 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมเฟด (13-14 มิ.ย.) ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และสถานการณ์การเมืองในประเทศ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ผลการประชุม ECB และ BOJ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ค. ของยูโรโซน รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจเดือนพ.ค. ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร

You may also like

เปิดตัวดัชนีชี้วัดความปลอดภัยของเด็ก บนโลกออนไลน์ทั้งในระดับชาติและระดับโลก

เปิดตัวด