เงินบาทผันผวน-หุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน

เงินบาทผันผวน-หุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน

เงินบาทผันผวนหุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน

                                                                                …………………………………

                เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือน ก่อนฟื้นตัวขึ้นบางส่วนตามแรงขายเงินดอลลาร์ฯ หลังผลการประชุมเฟดเป็นไปตามตลาดคาด

                หุ้นไทยร่วงลงช่วงแรก ก่อนจะดีดกลับมาได้ในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ รับแรงซื้อต่างชาติและความชัดเจนของผลการประชุมเฟด   

                                                                                 ……………………………….

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

                เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือน ก่อนดีดตัวกลับช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงช่วงต้นสัปดาห์ตามแรงขายสุทธิพันธบัตรไทยของต่างชาติและการอ่อนค่าของสกุลเงินเอเชียท่ามกลางความกังวลต่อสงครามยูเครน-รัสเซีย ซึ่งหนุนเงินดอลลาร์ฯ ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย

                อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขายทำกำไร หลังผลการประชุมเฟดสอดคล้องกับที่ตลาดคาด โดยมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปที่กรอบ 0.25-0.50% และส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องใน 6 รอบการประชุมที่เหลือของปีนี้ กรอบการแข็งค่าของเงินบาทจำกัดลงช่วงปลายสัปดาห์ เนื่องจากตลาดรอติดตามวิกฤตยูเครนอย่างใกล้ชิด          

                ในวันศุกร์ (18 มี.ค.) เงินบาทปิดตลาดที่ 33.33 บาทต่อดอลลาร์ฯ (หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือนที่ 33.55 ช่วงต้นสัปดาห์) เทียบกับระดับ 33.29 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (11 มี.ค.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 14-18 มี.ค. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยรวม 1.11 หมื่นล้านบาท แต่มีสถานะเป็น NET OUTFLOW ในตลาดพันธบัตร 8.37 พันล้านบาท (ขายสุทธิ 6.12 พันล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 2.25 พันล้านบาท)

                สำหรับสัปดาห์นี้(21-25 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.00-33.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ตัวเลขส่งออกไทยเดือนก.พ. และสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.พ. ยอดขายบ้านที่รอปิดการขายและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค.  และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามอัตราดอกเบี้ย LPR ของธนาคารกลางจีน ดัชนี PMI เดือนมี.ค. (เบื้องต้น) ของอังกฤษ ยูโรโซน และสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อเดือนก.พ. ของอังกฤษ

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

                หุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงในช่วงแรกท่ามกลางปัจจัยลบ อาทิ วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ การประกาศล็อกดาวน์ของจีนในหลายเมืองเพื่อสกัดยอดผู้ป่วยโควิดที่พุ่งสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นไทยทยอยปรับตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์สอดคล้องกับตลาดหุ้นภูมิภาค โดยมีแรงหนุนจากแรงซื้อกลุ่มนักลงทุนต่างชาติรวมถึงผลการประชุมเฟดซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์และมีความชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ กระนั้น ยอดผู้ป่วยโควิดในไทยที่พุ่งขึ้นทำสถิติใหม่จำกัดกรอบการปรับขึ้นของหุ้นไทยช่วงปลายสัปดาห์     

                ในวันศุกร์ (18 มี.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,678.51 จุด เพิ่มขึ้น 1.24% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 84,357.68 ล้านบาท ลดลง 26.19% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 0.46% มาปิดที่ 621.38 จุด    

                สำหรับสัปดาห์นี้ (21-25 มี.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,665 และ 1,650 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,690 และ 1,700 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ตัวเลขส่งออกเดือนก.พ. ของไทย ทิศทางเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ตลอดจนสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.พ. ดัชนี PMI เดือนมี.ค. (เบื้องต้น) รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR เดือนมี.ค. ของจีน รวมถึงดัชนี PMI เดือนมี.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซนและญี่ปุ่น 

You may also like

เปิดตัวดัชนีชี้วัดความปลอดภัยของเด็ก บนโลกออนไลน์ทั้งในระดับชาติและระดับโลก

เปิดตัวด