เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่า สอดคล้องกับหุ้นไทยที่พลิกกลับมาปิดในแดนบวก

เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่า สอดคล้องกับหุ้นไทยที่พลิกกลับมาปิดในแดนบวก

เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่า

สอดคล้องกับหุ้นไทยที่พลิกกลับมาปิดในแดนบวก

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

  • เงินบาทขยับอ่อนค่า แต่พลิกแข็งค่ากลับมาท้ายสัปดาห์ตามแรงหนุนของทองคำตลาดโลก

เงินบาทอ่อนค่าสอดคล้องกับสกุลเงินเอเชียอื่น ๆ ในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนของการเรียกเก็บภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ต่อประเทศคู่ค้าหลายประเทศ รวมถึงไทย นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงหนุนจากการคาดการณ์ว่า เฟดอาจจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุม FOMC ในช่วงปลายเดือนนี้ หลังจากตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ปรับตัวลงมากกว่าคาด และบันทึกการประชุมเฟด บ่งชี้ว่า คณะกรรมการเฟดส่วนใหญ่มองว่า เฟดไม่จำเป็นต้องเร่งปรับลดดอกเบี้ย แม้จะยังคงมองว่า ทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ ในปีนี้ยังเป็นขาลง

อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาพลิกแข็งค่าผ่านแนว 32.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงท้ายสัปดาห์ตามการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกท่ามกลางความกังวลในเรื่องความไม่แน่นอนของมาตรการภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ

ในวันศุกร์ที่ 11 ก.ค. 2568 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 32.43 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 32.36 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (4 ก.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 7-11 ก.ค. 2568 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 2,930 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 2,824 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 2,193 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 631 ล้านบาท)

สัปดาห์ระหว่างวันที่ 14-18 ก.ค. 2568 ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 32.20-32.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ประเด็นเกี่ยวกับมาตรการภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้า (รวมถึงไทย) ฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ และทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต การผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก และข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนมิ.ย. ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดนิวยอร์ก ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนก.ค. ตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และรายงาน Beige Book ของเฟด นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมิ.ย. และข้อมูลจีดีพีไตรมาส 2/2568 ของจีน และข้อมูลอัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ของอังกฤษ ยูโรโซนและญี่ปุ่น

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวน แต่กลับมาปิดสูงกว่าระดับปิดสัปดาห์ก่อนเล็กน้อย

ดัชนีหุ้นไทยขยับขึ้นเล็กน้อยในช่วงต้นสัปดาห์จากคาดการณ์เกี่ยวกับโอกาสการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของกนง. หลังตัวเลขเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. ของไทยยังคงติดลบต่อเนื่อง แม้จะมีปัจจัยกดดันจากประเด็นที่สหรัฐฯ เตรียมออกมาตรการควบคุมการส่งออกชิปปัญญาประดิษฐ์ (AI) มายังไทยและมาเลเซียก็ตาม อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงแรงในเวลาต่อมาจนถึงช่วงกลางสัปดาห์ หลังมีรายงานข่าวว่าสหรัฐฯ ยืนยันเรียกเก็บภาษีตอบโต้ (reciprocal tariffs) ต่อสินค้าไทยในอัตราเดิมที่ 36% ซึ่งสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้เกิดแรงขายทำกำไรหุ้นหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ดัชนีหุ้นไทยไม่ได้ร่วงลงแรงมากนัก เนื่องจากตลาดมองว่าสหรัฐฯ ยังเปิดช่องให้มีการเจรจาเพื่อต่อรองเพิ่มเติม สะท้อนจากการเลื่อนช่วงบังคับใช้ภาษีดังกล่าวจากเดิม 9 ก.ค. เป็น 1 ส.ค.

ดัชนีหุ้นไทยกลับมาดีดตัวขึ้นอีกครั้งในช่วงท้ายสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากแรงซื้อหุ้นบริษัทด้านพลังงานรายใหญ่แห่งหนึ่งจากข่าวการเตรียมงบลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม รวมถึงแรงซื้อหุ้นบิ๊กแคปก่อนการทยอยประกาศงบไตรมาส 2/2568 ทั้งนี้นักลงทุนยังคงติดตามประเด็นนโยบายภาษีของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด

ในวันศุกร์ที่ 11 ก.ค. 2568 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,121.13 จุด เพิ่มขึ้น 0.11% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 30,128.95 ล้านบาท ลดลง 19.27% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 0.80% มาปิดที่ระดับ 236.42 จุด

สัปดาห์ถัดไป (14-18 ก.ค. 68) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,110 และ 1,100 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,130 และ 1,145 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลประกอบการไตรมาส 2/2568 ของบจ.ไทย โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ ประเด็นเกี่ยวกับมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก และข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนมิ.ย. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค.ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมิ.ย. ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ตลอดจนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2568 และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนมิ.ย. ของจีน อาทิ ตัวเลขส่งออก ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร 

You may also like

รมต. จิราพรฯ ร่วมประชุมสหประชาชาติ ครั้งที่ 9 ว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าและการคุ้มครองผู้บริโภค

รมต. จิร