เงินบาทพลิกอ่อนค่า หุ้นไทยร่วงแรง ลุ้นตัวเลขส่งออกเมย.-การเมืองเรื่องจัดตั้งรัฐบาล

เงินบาทพลิกอ่อนค่า หุ้นไทยร่วงแรง ลุ้นตัวเลขส่งออกเมย.-การเมืองเรื่องจัดตั้งรัฐบาล

เงินบาทพลิกอ่อนค่า หุ้นไทยร่วงแรง

ลุ้นตัวเลขส่งออกเมย.-การเมืองเรื่องจัดตั้งรัฐบาล

…………………………………….

  • เงินบาทพลิกอ่อนค่ากลับมา สอดคล้องกับแรงขายหุ้นและพันธบัตรไทยท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเด็นการจัดตั้งรัฐบาล ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจ ท่าทีคุมเข้มของเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงความหวังว่า จะเห็นความคืบหน้าในข้อตกลงเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ
  • SET Index ปรับตัวลงเกือบตลอดสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับประเด็นการเมืองในประเทศ รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐฯ

………………………………………….

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 1 เดือนที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทแข็งค่าทดสอบแนว 33.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ช่วงต้นสัปดาห์หลังการเลือกตั้ง ประกอบกับมีปัจจัยบวกจากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/66 ของไทยที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด และแรงซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดพันธบัตรไทย อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทยในประเด็นการจัดตั้งรัฐบาล และแรงขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน นอกจากนี้สกุลเงินเอเชียในภาพรวมก็อ่อนค่าลงตามเงินหยวน ซึ่งถูกกดดันจากความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน  

เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนจากบอนด์ยีลด์ที่ขยับขึ้น หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีและเจ้าหน้าที่เฟดยังมีท่าทีในเชิงคุมเข้ม ซึ่งลดทอนโอกาสความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ลง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังแข็งค่าขึ้นท่ามกลางความหวังว่า จะเห็นความคืบหน้าของผลการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน

ในวันศุกร์ที่ 19 พ.ค. 2566 เงินบาทอ่อนค่าทดสอบแนว 34.50 ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 34.38 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (12 พ.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 15-19 พ.ค. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 10,679 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 17,741 ล้านบาท (ขายสุทธิ 17,671 ล้านบาท และมีตราสารหนี้หมดอายุ 70 ล้านบาท)

สัปดาห์นี้(22-26 พ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.00-34.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกเดือนเม.ย. และสถานการณ์การเมืองไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และผลการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Index เดือนเม.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองผู้บริโภคเดือนพ.ค. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/66 (ครั้งที่ 2) และบันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 2-3 พ.ค. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามการประกาศอัตราดอกเบี้ย LPR เดือนพ.ค. ของจีน ดัชนี PMI เดือนพ.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐฯ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย. ของอังกฤษ

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

หุ้นไทยปิดต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี 2 เดือน ท่ามกลางแรงฉุดจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้หุ้นไทยปรับตัวลงตั้งแต่ต้นสัปดาห์ หลังนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับนโยบายของพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง โดยเฉพาะเรื่องการลดค่าไฟฟ้าและลดปัญหาการผูกขาด ซึ่งกระตุ้นแรงขายหุ้นบิ๊กแคป โดยเฉพาะกลุ่มโรงไฟฟ้าและสื่อสาร นอกจากนี้ หุ้นไทยยังมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากความกังวลต่อทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ หลังถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดหลายรายยังไม่ส่งสัญญาณถึงโอกาสของการปรับลดดอกเบี้ย อนึ่ง หุ้นไทยฟื้นตัวช่วงสั้นๆระหว่างสัปดาห์ก่อนจะร่วงลงต่อในช่วงปลายสัปดาห์ เนื่องจากนักลงทุนยังรอติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่อง

ในวันศุกร์ (19 พ.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,514.89 จุด ลดลง 2.98% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 56,210.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.14% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 4.15% มาปิดที่ระดับ 480.76 จุด

สำหรับสัปดาห์นี้(22-26 พ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,500 และ 1,475 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,535 และ 1,555 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนเม.ย. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ และสถานการณ์การเมืองในประเทศ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI เดือนพ.ค. (เบื้องต้น) ยอดขายบ้านใหม่ รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนี PCE/Core PCE Price Index ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนเม.ย. บันทึกการประชุมเฟด และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/66 ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR เดือนพ.ค. ของจีน ดัชนี PMI เดือนพ.ค. (เบื้องต้น) ของญี่ปุ่น และยูโรโซน ตลอดจนดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนเม.ย. ของอังกฤษ

You may also like

คปภ.เดินหน้า! เปิดเวทีสัมมนาวิชาการด้านประกันภัย ประจำปี 2567 “Thailand Insurance Symposium 2024”

 นายชูฉั