เงินบาทอ่อนค่า หุ้นไทยร่วงต่อ จับตาเงินเฟ้อ-ทิศทางลงทุนต่างชาติ

เงินบาทอ่อนค่า หุ้นไทยร่วงต่อ จับตาเงินเฟ้อ-ทิศทางลงทุนต่างชาติ

เงินบาทอ่อนค่า หุ้นไทยร่วงต่อ

จับตาเงินเฟ้อ-ทิศทางลงทุนต่างชาติ

…………………………………………

  • เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 10 เดือนครึ่ง สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่แข็งค่าขึ้นตามบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ท่ามกลางการคาดการณ์เกี่ยวกับโอกาสการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด
  • SET Index ปิดที่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือนท่ามกลางแรงขายของต่างชาติ ตลาดยังกังวลสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด

…………………………………………….

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาททำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 10 เดือนครึ่งที่ 36.83 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนฟื้นตัวได้บางส่วนปลายสัปดาห์

เงินบาททยอยอ่อนค่าลง ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ท่ามกลางสัญญาณคุมเข้มทางการเงินจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด ซึ่งสะท้อนโอกาสการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ นอกจากนี้การปรับตัวลงของราคาทองคำและการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกก็เป็นปัจจัยลบต่อค่าเงินบาทด้วยเช่นกัน อนึ่ง เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่า แม้ว่า กนง. จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปที่ระดับ 2.50% ในการประชุมวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี เงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชันและทำกำไรก่อนปิดสิ้นไตรมาส ขณะที่ตลาดกลับมารอติดตามความเสี่ยงของการปิดหน่วยงานราชการของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด

ในวันศุกร์ที่ 29 ก.ย. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 36.01 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (22 ก.ย.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 25-29 ก.ย. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 3,025 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 11,695 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 6,520 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 5,175 ล้านบาท)

สัปดาห์นี้(2-6 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 36.20-36.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือนก.ย. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติและสถานการณ์สกุลเงินในภูมิภาค ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิตและภาคบริการ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนจาก ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานเดือนก.ย. รายงาน JOLTs ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนส.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการเดือนก.ย. ของญี่ปุ่น ยูโรโซน และอังกฤษด้วยเช่นกัน 

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

ดัชนีหุ้นไทยปิดต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ทั้งนี้หุ้นไทยปรับตัวลงเกือบตลอดสัปดาห์ตามแรงขายหลักๆ จากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ การตรึงดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานของเฟด ความเสี่ยงของการปิดหน่วยงานราชการสหรัฐฯ ตลอดจนปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ทั้งนี้แรงขายบิ๊กล็อต (Big Lot) ในหุ้นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่งกดดันหุ้นไทยให้ร่วงลงต่อในช่วงท้ายสัปดาห์สวนทางหุ้นภูมิภาค อนึ่ง หุ้นไทยขยับขึ้นช่วงสั้นๆ กลางสัปดาห์ นำโดย กลุ่มแบงก์ที่รับอานิสงส์จากการที่กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ไปที่ระดับ 2.50%

ในวันศุกร์ที่ 29 ก.ย. ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,471.43 จุด ลดลง 3.36% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 55,326.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.33% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 4.45% มาปิดที่ระดับ 450.53 จุด

สำหรับสัปดาห์นี้(2-6 ต.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,460 และ 1,440 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,485 และ 1,500 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือนก.ย. ของไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI การจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานเดือนก.ย. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI เดือนก.ย. ของญี่ปุ่น อังกฤษและยูโรโซน ตลอดจนยอดค้าปลีกและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนส.ค. ของยูโรโซน  


You may also like

คปภ.เดินหน้า! เปิดเวทีสัมมนาวิชาการด้านประกันภัย ประจำปี 2567 “Thailand Insurance Symposium 2024”

 นายชูฉั