เงินบาทอ่อนค่า หุ้นไทยปิดบวกเล็กๆ จับตาผลประชุม กนง.

เงินบาทอ่อนค่า หุ้นไทยปิดบวกเล็กๆ จับตาผลประชุม กนง.

เงินบาทอ่อนค่า หุ้นไทยปิดบวกเล็กๆ

จับตาผลประชุม กนง.

……………………………………….

  • เงินบาทอ่อนค่าลงตามสกุลเงินเอเชียและเงินหยวน ประกอบกับมีแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ ก่อนการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ช่วงปลายสัปดาห์
  • SET Index ปรับขึ้นช่วงแรกจากความคาดหวังเชิงบวกต่อกองทุน TESG และโอกาสที่เฟดจะคงดอกเบี้ย ก่อนจะลดช่วงบวกในเวลาต่อมาตามแรงขายของต่างชาติ

…………………………………….

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาททยอยอ่อนค่าลง หลังจากที่แข็งค่าขึ้นช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ท่ามกลางการคาดการณ์ของตลาดว่า มีความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ได้แตะจุดสูงสุดของวัฏจักรรอบนี้ไปแล้ว นอกจากนี้เงินบาทยังได้รับอานิสงส์เพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงตามจังหวะการย่อตัวของราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่สกุลเงินเอเชียในภาพรวมเผชิญแรงกดดันตามทิศทางเงินหยวน หลัง Moody’s ปรับ outlook ของอันดับเครดิตจีน (A1) จาก “stable” มาเป็น “negative”

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงหนุนจากแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชั่น ก่อนการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ ประกอบกับน่าจะได้รับอานิสงส์ทางอ้อมจากการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจกลับมาผ่อนคลายนโยบายการเงินในปีหน้าด้วยเช่นกัน

ในวันศุกร์ที่ 8 ธ.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.33 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 35.03 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (1 ธ.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 4-8 ธ.ค. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 4,763 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 1,522 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 982 ล้านบาท และมีตราสารหนี้หมดอายุ 540 ล้านบาท)

สัปดาห์นี้(11-15 ธ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.80-35.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงิน ตัวเลขประมาณการ และ Dot Plots ของเฟด ผลการประชุม ECB และ BOE สัญญาณเงินทุนต่างชาติ และทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามยอดปล่อยกู้สกุลเงินหยวน ยอดค้าปลีก และข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย. ของจีน รวมถึงข้อมูล PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนธ.ค. ของสหรัฐฯ อังกฤษ และยูโรโซน

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

ดัชนีหุ้นไทยปิดใกล้เคียงสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้หุ้นไทยขยับขึ้นช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ โดยมีแรงซื้อหุ้นบิ๊กแคปในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งคาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากกองทุน TESG และคาดการณ์เกี่ยวกับการคงดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมสัปดาห์หน้า หุ้นไทยร่วงลงแรงในเวลาต่อมา ท่ามกลางแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มพลังงาน หลังราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง และหุ้นบิ๊กแคปในกลุ่มเทคโนโลยีจากความกังวลว่าจะหลุดจากการคำนวณดัชนี SET50 และ SET100 อย่างไรก็ดี หุ้นไทยดีดตัวกลับมาบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ โดยมีแรงซื้อคืนหุ้นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยหนุน

ในวันศุกร์ที่ 8 ธ.ค. ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,380.99 จุด เพิ่มขึ้น 0.05% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 37,650.03 ล้านบาท ลดลง 21.14% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 0.73% มาปิดที่ระดับ 400.51 จุด

สำหรับสัปดาห์นี้(11-15 ธ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,365 และ 1,350 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,410 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (12-13 ธ.ค.) และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย. ดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนธ.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม BOE และ ECB ดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนธ.ค. ของญี่ปุ่น ยูโรโซนและอังกฤษ ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนพ.ย. ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร

 

You may also like

คปภ.เดินหน้า! เปิดเวทีสัมมนาวิชาการด้านประกันภัย ประจำปี 2567 “Thailand Insurance Symposium 2024”

 นายชูฉั