เงินบาทแข็งสุดในรอบ 7 เดือน หุ้นไทยยืนเหนือ 1,300 จุด จับตาตัวเลขจีดีพีQ 2-นโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่

เงินบาทแข็งสุดในรอบ 7 เดือน หุ้นไทยยืนเหนือ 1,300 จุด จับตาตัวเลขจีดีพีQ 2-นโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่

เงินบาทแข็งสุดในรอบ 7 เดือน หุ้นไทยยืนเหนือ 1,300 จุด

จับตาตัวเลขจีดีพีQ 2-นโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

  • เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือนที่ 34.84 บาทต่อดอลลาร์ฯ แต่ลดช่วงบวกลงบางส่วน หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดี ช่วยหนุนเงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้น

เงินบาทแข็งค่าผ่านแนว 35.00 ไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือนที่ 34.84 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ จากกระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่เฟดอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่า 25 basis points ในการประชุม FOMC เดือนก.ย. หลังตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ นอกจากนี้การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกก็เพิ่มแรงหนุนให้เงินบาทแข็งค่าด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี เงินบาทอ่อนค่ากลับมาช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ตามแรงขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับตลาดยังคงรอติดตามประเด็นทางการเมืองในประเทศ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ทยอยฟื้นตัวแข็งค่ากลับมาสอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังตัวเลขยอดค้าปลีกเดือนก.ค. ของสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งทำให้ตลาดลดทอนโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเห็นเฟดปรับลดดอกเบี้ยมากกว่า 25 basis points ในการประชุม FOMC เดือนก.ย.นี้

ในวันศุกร์ที่ 16 ส.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 35.02 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 35.29 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (9 ส.ค. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 13-16 ส.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 429.8 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 27,923 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 26,823 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 1,100 ล้านบาท)

สัปดาห์นี้(19-23 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.85-35.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2567 ของไทย ผลการประชุมกนง. ประเด็นทางการเมืองและนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยจากประธานเฟดจากงานสัมมนาประจำปีที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิ่ง ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสองและยอดขายบ้านใหม่เดือนก.ค. บันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 30-31 ก.ค. และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามการประกาศอัตราดอกเบี้ย LPR ของจีน อัตราเงินเฟ้อเดือนก.ค. ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ (เบื้องต้น) เดือนส.ค. ของญี่ปุ่น ยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐฯ เช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงแรงในระหว่างสัปดาห์จากประเด็นการเมืองในประเทศ ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้ช่วงปลายสัปดาห์

หุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบในช่วงแรก แต่ร่วงลงช่วงกลางสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายของกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติถอดถอนนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้นักลงทุนมีความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศ และเทขายหุ้นในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีกจากความกังวลว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศอาจมีการเปลี่ยนแปลงและล่าช้าออกไป

อย่างไรก็ดีหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้ช่วงปลายสัปดาห์ตามทิศทางหุ้นภูมิภาค เนื่องจากนักลงทุนคลายความกังวลบางส่วนต่อประเด็นเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ประกอบกับมีแรงหนุนจากประเด็นการเมืองในประเทศเพิ่มเติม หลังการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่เป็นไปอย่างราบรื่น ส่งผลให้ช่วงท้ายสัปดาห์มีแรงซื้อคืนหุ้นทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์และไฟแนนซ์

ในวันศุกร์ที่ 16 ส.ค. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,303.00 จุด เพิ่มขึ้น 0.46% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 42,752.59 ล้านบาท ลดลง 1.20% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 1.50% มาปิดที่ระดับ 316.67 จุด

สัปดาห์นี้(19-23 ส.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,290 และ 1,280 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,310 และ 1,330 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2567 ของไทย การประชุมกนง. สุนทรพจน์ของประธานเฟดในการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ประเด็นการเมืองในประเทศ และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ บันทึกการประชุมเฟด ดัชนี PMI เดือนส.ค. ยอดขายบ้านมือสองและยอดขายบ้านใหม่เดือนก.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR เดือนส.ค. ของจีน ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.ค. ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนดัชนี PMI เดือนส.ค.ของญี่ปุ่น ยูโรโซน และอังกฤษ 

You may also like

คปภ.เดินหน้า! เปิดเวทีสัมมนาวิชาการด้านประกันภัย ประจำปี 2567 “Thailand Insurance Symposium 2024”

 นายชูฉั