เงินบาทโต้คลื่นแรงขาย–หุ้นไทยหวั่นเฟดขึ้นดอก
…………………………………………
• เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 15 ปี 8 เดือน ที่ 36.73 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงหนุนจากแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หลังตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังปรับขึ้นมากเกินคาด
• หุ้นไทยร่วงลงแรงท่ามกลางความกังวลต่อการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยและสถานการณ์โควิด
…………………………………………
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาทอ่อนค่าไปที่ 36.73 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 15 ปี 8 เดือน นับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2549 โดยเงินบาทอ่อนค่าลงท่ามกลางแรงหนุนที่แข็งแกร่งของเงินดอลลาร์ฯ จากการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการเร่งคุมเข้มนโยบายการเงินของสหรัฐฯ โดยในระหว่างสัปดาห์ เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าผ่านแนว parity เมื่อเทียบกับเงินยูโร เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2545 นอกจากนี้ภาพรวมของสกุลเงินเอเชียและเงินหยวนยังเผชิญแรงกดดันจากความกังวลต่อสัญญาณที่อ่อนแอของเศรษฐกิจโลกและความเสี่ยงต่อการระบาดของโควิดในจีนด้วยเช่นกัน
ขนาดการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดกลายเป็นประเด็นหลักของตลาดในสัปดาห์นี้ หลังจากข้อมูลเงินเฟ้อ (ทั้ง CPI และ PPI) เดือนมิ.ย. พุ่งสูงขึ้นกว่าที่คาด และทำให้ตลาดเริ่มมีการคาดการณ์ว่า เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 100 basis points ในการประชุมรอบ 26-27 ก.ค. นี้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดีการคาดการณ์ดังกล่าวชะลอลงบางส่วน หลังเจ้าหน้าระดับสูงของเฟดให้ความเห็นในเชิงสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย 75 basis points ในรอบนี้
ในวันศุกร์ที่ 15 ก.ค. 2565 เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 15 ปี 8 เดือนที่ 36.73 ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 36.60 เทียบกับระดับ 36.02 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (8 ก.ค.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 11-15 ก.ค. นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 1,141 ล้านบาท ขณะที่มีสถานะเป็น NET OUTFLOW ออกจากตลาดพันธบัตร 2,079 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตรไทย 2,063 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 16 ล้านบาท)
สัปดาห์นี้ (18-22 ก.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 36.30-37.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์เงินทุนต่างชาติ ข้อมูลการส่งออกของไทยเดือนมิ.ย. ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางญี่ปุ่น ธนาคารกลางอินโดนีเซีย และการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR ของธนาคารกลางจีน ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย และดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนก.ค. ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนมิ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. และดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนก.ค. ของยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
ตลาดหุ้นไทยร่วงลงแรงจากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้หุ้นไทยปรับตัวลงตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศท่ามกลางความกังวลว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยแรงกว่า 0.75% หลังข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ออกมาสูงกว่าที่คาด นอกจากนี้หุ้นไทยยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยและการระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย ทั้งนี้ปัจจัยลบข้างต้นได้กระตุ้นแรงขายในหุ้นหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ ไฟแนนซ์ และอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่หุ้นในกลุ่มพลังงานมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวลง
ในวันศุกร์ (15 ก.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,533.37 จุด ลดลง 1.57% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 55,086.14 ล้านบาท ลดลง 15.27% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 1.32% มาปิดที่ 564.78 จุด
สำหรับสัปดาห์นี้ (18-22 ก.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,500 และ 1,490 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,545 และ 1,555 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลประกอบการงวดไตรมาส 2/65 ของบริษัทจดทะเบียนใน ตลท. ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงสถานการณ์โควิด ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนมิ.ย. และดัชนี PMI เดือนก.ค. (เบื้องต้น) ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม ECB และ BOJ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมิ.ย. และดัชนี PMI เดือนก.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น รวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR เดือนก.ค. ของจีน
Social Links