เร่งติดตั้ง EDC ร้านค้าประชารัฐ 10,000 แห่ง
สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เดินหน้ามอบเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) ให้แก่ร้านค้าประชารัฐทั่วประเทศ 10,000 แห่ง รองรับการใช้จ่ายในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของผู้มีรายได้น้อย หนุนเป้าหมายส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกระจายสินค้าชุมชนข้ามพื้นที่ ปูทางสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีจำนวนร้านค้าประชารัฐกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศราว 20,000 ร้านค้า และบางส่วนมีการยื่นขอเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) เข้าไปติดตั้งให้บริการสำหรับผู้ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยโครงการเฟสแรก ได้รับการสนับสนุนเครื่อง EDC จากรัฐบาลจำนวน 10,000 เครื่อง ทยอยส่งมอบไปแล้วกว่า 2,000 ร้านค้า และจะเร่งดำเนินการให้ครบทั้ง 10,000 แห่ง เพื่อขานรับแนวทางประชารัฐเพื่อแก้ปัญหาความยากจน รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สทบ. คาดหวังที่จะพัฒนาร้านค้าประชารัฐให้เป็นร้านค้าประจำหมู่บ้านและชุมชน เป็นทางเลือกสำหรับบริการประชาชน และเพิ่มรายได้กลับเข้ามาในชุมชน เพื่อนำไปใช้เป็นสวัสดิการก่อประโยชน์ให้กับคนในชุมชนเอง
“เรามองว่าการติดตั้งเครื่อง EDC จะเป็น magnet สำหรับให้คนในชุมชนเชื่อมั่นและเข้ามาใช้บริการ เป็นหลักประกันให้ร้านค้าได้ลูกค้าที่แน่นอนจากจำนวนสมาชิกผู้ถือบัตรในแต่ละหมู่บ้าน ผนวกกับลูกค้าอื่นๆ ที่เป็นคนรอบข้างของผู้ถือบัตรอีกด้วย เพราะโดยพฤติกรรมของลูกค้ามักไม่ได้มาเพียงลำพัง แต่มีสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนมาด้วย ดังนั้น จึงเพิ่มโอกาสการจำหน่ายสินค้าอื่นๆ นอกเหนือจากซื้อสินค้าผ่านการรูดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” นายนที กล่าว
ทั้งนี้ กิจกรรมของร้านค้าประชารัฐจะครอบคลุมทั้งการจำหน่ายสินค้าที่ชุมชนเป็นผู้ผลิตเอง ใช้เองในชุมชน พร้อมจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่สมาชิกในชุมชนใช้สอยในชีวิตประจำวัน และจำหน่ายสินค้าที่ชุมชนผลิตให้กับผู้สนใจในพื้นที่อื่นๆ ในส่วนของร้านค้าประชารัฐที่จะได้รับการสนับสนุนติดตั้งเครื่อง EDC จากรัฐบาล แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1.ร้านค้าของกองทุนหมู่บ้าน คือร้านค้าของกองทุนจากแนวทางประชารัฐ ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจัดทำโครงการ 500,000 บาท เพื่อไปสร้างร้านค้าและพัฒนาร้านค้าต่อเนื่อง 2. ร้านค้าจากองทุนหมู่บ้านที่ไม่ได้ใช้เงินประชารัฐ 3. สมาชิกรายบุคคลของกองทุนหมู่บ้าน และกู้เงินกองทุนหมู่บ้านมาเปิดร้านค้า ซึ่งสามารถยื่นเสนอขอติดตั้งเครื่อง EDC ผ่านกองทุนหมู่บ้านที่เป็นสมาชิกอยู่ได้ และ 4.ร้านค้าเคลื่อนที่ (รถโมบาย) ซึ่งเป็นแนวคิดตามแนวนโยบายรัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งไม่สามารถเข้าไปตั้งร้านค้าได้ หรือไม่มีศักยภาพเหมาะสมที่จะลงทุนจัดตั้งร้านค้า โดยรถโมบาย จะทำหน้าที่รวบรวมสินค้าที่ประชนในพื้นที่ต้องการ และนัดหมายวันเวลาเข้าไปส่งมอบตามจุดต่างๆ ซึ่งการติดตี้งเครื่อง EDC เพื่อประโยชน์ในการให้บริการอย่างทั่วถึง
ทั้งนี้หลังจากติดตั้งครบทั้ง 10,000 เครื่อง จะมีการประเมินผลและหากพบบว่าเกิดประโยชน์จริงกับร้านค้าประชารัฐของกองทุนหมู่บ้าน ชาวบ้าน และชุมชน สทบ. ก็จะนำเสนอความเห็นต่อรัฐบาลเพื่อขอรับการสนับสนุน EDC ติดตั้งเพิ่มในร้านค้าประชารัฐทุกแห่ง
จากประมาณการณ์เบื้องต้น ร้านค้าประชารัฐกองทุนหมู่บ้านที่ติดตั้งเครื่อง EDC จะมียอดขายต่อเดือนเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 100,000-200,000 บาท ดังนั้นหากติดตั้งเครื่องได้ครบทั้ง 20,000 ร้านค้า เชื่อว่าจะสามารถสร้างเศรษฐกิจฐานรากหมุนเวียนได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 40,000 ล้านบาท โดยยังไม่นับรวมถึงการสร้างอาชีพ การพัฒนาสินค้า และอื่นๆ
“รายได้ที่เข้ามาของร้านค้าประชารัฐ จะมีการบริหารจัดการในรูปแบบเดียวกับเงินกองทุนหมู่บ้าน โดยมีกรรมการกองทุนของหมู่บ้านที่คนในชุมชนเลือกกันเข้ามาตามวาระทำหน้าที่ตรงนี้อยู่ โดยอาจจัดตั้งผู้จัดการขึ้นมาดูแลร้านค้าประชารัฐโดยเฉพาะ มีการเปิดบัญชีประชารัฐสำหรับรายได้หมุนเวียนกลับเข้ามา เงินทั้งหมดนี้เป็นเงินของชุมชน ดังที่เราตั้งสโลแกนไว้ว่า รายได้สู่ชุมชน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาหมู่บ้าน” นายนทีกล่าว
นอกจากนี้ ยังมุ่งสนับสนุนให้ร้านค้าประชารัฐแต่ละแห่ง พัฒนาสินค้าเด่นและสร้างแบรนด์สินค้าชุมชน สร้างเรื่องราว (Story) ให้กับสินค้าชุมชน แล้วแลกเปลี่ยนหมุนเวียนสินค้ากันทั่วประเทศ ซึ่งจะสร้างให้เกิดเกิดการขับเคลื่อนอีกรูปแบบหนึ่ง โดยมี สทบ. เป็นศูนย์กลางสนับสนุนกลไกนี้ โดยใช้กระบวนการอบรมร้านค้าประชารัฐกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ
“เราจัดไปแล้ว 2 รุ่นๆ ละ 200 ร้านค้า และจะทำต่อเนื่อง ในการอบรมจะสร้างให้แต่ละชุมชนเกิด demand และ supply สร้างแฟนคลับ สร้างเครือข่ายโซเชียล สร้างข้อมูล สร้างคู่มือ สร้างแฟ้มรวบรวมร้านค้า ให้ร้านค้าต่างชุมชนรู้จักแลกเปลี่ยนคุยกัน ต่อยอดสู่การกระจายสินค้าเด่นข้ามพื้นที่กัน ที่เห็นผลแล้วก็อย่างเช่น ข้าวอินทรีย์ กลายเป็นสินค้าขายดีที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และสินค้าเด่นของ สุราษฎร์ธานีไปขายดีที่ร้านค้าประชารัฐในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น” นายนทีกล่าว
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า อยู่ระหว่างรอ สทบ. จัดส่งรายชื่อร้านค้าประชารัฐที่ยื่นขอติดตั้งเครื่อง EDC อีกราว 7,000 แห่งคาดว่าน่าจะได้ภายในเดือนมิถุนายนี้ และติดตั้งได้ครบทั้ง 10,000 ร้านค้าตามนโยบายรัฐบาล ในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยรายได้ที่เกิดจากการรูดซื้อสินค้าผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะมีการประมวลผลแบบวันต่อวัน และกรมบัญชีกลางจะโอนเงินเข้าบัญชีร้านค้าประชารัฐวันรุ่งขึ้น ยกเว้นกรณีติดวันหยุดราชการ ยอดโอนก็จะรวมอยู่ในวันเปิดทำการวันแรก
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บทบาทของธนาคารฯ ในโครงการนี้ นอกเหนือจากพัฒนาและบริหารจัดการระบบประมวลผลรองรับการทำธุรกรรมการรูดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซื้อสินค้า และจัดอบรมการใช้งานเครื่อง EDC ให้กับร้านค้าประชารัฐแล้ว ในระยะต่อไปจะขยายไปถึงการให้คำปรึกษา และสนับสนุนด้านเงินทุนหมุนเวียนเพื่อจัดหาสินค้ามารองรับความต้องการของคนในชุนชนด้วย
“จากประสบการณ์ที่ผ่านมากับโครงการรูปแบบนี้ เราคาดว่าระยะต่อไป ร้านค้าประชารัฐกองทุนหมู่บ้านจะเข้ามาขอคำปรึกษาเรื่องสินค้าในร้านขายหมดเร็วมาก และน่าจะต้องการการสนับสนุนด้านเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการสต็อกสินค้าให้มากพอกับความต้องการของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยเราจะร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สนับสนุนเงินกู้ระยะสั้น เพื่อให้เขามีเงินทุนจัดซื้อสินค้าได้เพิ่มมากขึ้น ดูแลคนลูกค้าในพื้นที่ได้มากขึ้น โดยไม่ต้องเดินทางเข้าเมืองไปซื้อสินค้าทุกวัน”
Social Links