เศรษฐกิจครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น
จ้างงานเพิ่ม-เศรษฐกิจฟื้นต่อเนื่อง
ภาวะการจ้างงานในประเทศเริ่มมีสัญญาณบวกที่ชัดเจนขึ้นตามการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย ช่วยหนุนให้ครัวเรือนไทยมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพในปัจจุบัน สะท้อนจากดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ที่ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 45.7 ในเดือนธ.ค. 2560 มาอยู่ที่ระดับ 46.7 ในเดือนม.ค. 2561 จากแรงกดดันทางด้านค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) ที่ลดลงค่อนข้างมากหลังผ่านพ้นเดือนแห่งเทศกาลอย่างเดือนธ.ค. ประกอบกับครัวเรือนมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อประเด็นเรื่องรายได้และการมีงานทำ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับค่าจ้าง/เงินเดือนประจำปีของหน่วยงาน/องค์กรที่ครัวเรือนสังกัด ประกอบกับสภาวะการจ้างงานภายในประเทศเริ่มปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ
โดยเฉพาะภาวะการจ้างงานในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งจากการสำรวจเพิ่มเติม พบว่า องค์กร/หน่วยงานที่ครัวเรือนสังกัดหรือเป็นเจ้าของมีการปรับตัวในด้านการจ้างงานเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจลดลง ไม่ว่าจะเป็นการเลิกจ้าง การลดเวลาการทำงานล่วงเวลา (OT) ตลอดจนการชะลอการรับพนักงานใหม่ ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีของตลาดแรงงานไทย อย่างไรก็ดี จากผลการสำรวจดังกล่าว เริ่มเห็นสัญญาณของการนำเครื่องจักร/หุ่นยนต์/ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ทดแทนแรงงานมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต อย่างอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมเหล็ก
ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR Household Economic Condition Index หรือ KR-ECI) จัดทำขึ้นโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย เพื่อให้เป็นเครื่องชี้ที่สะท้อนความรู้สึกของครัวเรือนที่มีต่อภาวะการครองชีพทั้งในปัจจุบัน และในช่วง 3 เดือนข้างหน้า โดยค่าดัชนีที่สูงกว่าระดับ 50 หมายถึง ครัวเรือนส่วนใหญ่มองว่า ภาวะการครองชีพ “ดีขึ้น” ในทางตรงกันข้าม ค่าดัชนีที่ต่ำกว่าระดับ 50 หมายถึงภาวะการครองชีพ “แย่ลง”
ในขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน จากการวางแผนใช้จ่ายในกิจกรรมต่างๆ ของครัวเรือนช่วงเทศกาลสงกรานต์ สะท้อนบรรยากาศที่ครัวเรือนอยากจะจับจ่ายใช้สอย ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีต่อการบริโภคของภาคเอกชนในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ ครัวเรือนบางส่วนยังมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อประเด็นเรื่องรายได้ในอนาคต หลังที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างมีมติเห็นชอบการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทุกจังหวัดมาอยู่ที่ 308-330 บาทต่อวัน (จากเดิม 300-310 บาทต่อวัน) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเม.ย. 2561 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม แม้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้ครัวเรือนบางส่วนมีกำลังซื้อมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ครัวเรือนมีความกังวลว่าระดับราคาสินค้าและบริการในประเทศอาจจะเพิ่มขึ้นบ้าง ซึ่งต้องติดตามมาตรการดูแลราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์
ทั้งนี้ ผลการสำรวจภาวะการครองชีพของครัวเรือนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นทิศทางการใช้จ่ายของครัวเรือนที่ค่อนข้างจะทรงตัว โดยแบบแผนพฤติกรรมการใช้จ่ายหลักของครัวเรือนยังคงเดิม กล่าวคือ ครัวเรือนไม่ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้ามากนัก แต่อาจจะมีค่าใช้จ่ายในรายการพิเศษเพิ่มเติมตามฤดูกาลหรือในช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ สะท้อนให้เห็นว่า ภาพกำลังซื้อครัวเรือนในภาพรวมยังปรับตัวไม่ชัดเจน
โดยสรุป จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัดประจำเดือนม.ค. 2560 พบว่า ครัวเรือนมีมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพในปัจจุบันดีขึ้นจากแรงกดดันทางด้านค่าใช้จ่ายที่ลดลงประกอบกับภาวะการมีงานทำและรายได้ปรับตัวดีขึ้น เมื่อมองไปในระยะ 3 เดือนข้างหน้า ครัวเรือนคาดการณ์ว่าจะมีภาระค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อีกทั้งยังมองว่าระดับราคาสินค้าและบริการอาจจะปรับตัวสูงขึ้นหลังมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในเดือนเม.ย. 2561 ส่งผลให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง
ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในเดือนก.พ. 2561 คาดว่าจะยังได้รับแรงกดดันทางด้านค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) ที่น่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน (16 ก.พ. 2561) ส่วนหนึ่งจากระดับราคาสินค้า โดยเฉพาะอาหารสดอย่างหมู เป็ด ไก่ ผักและผลไม้สด ให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องติดตามในประเด็นเรื่องสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรบางส่วนที่ยังเคลื่อนไหวต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน อาทิ สับปะรดโรงงาน อ้อยโรงงาน ไข่ไก่ สุกร กุ้งขาวแวนนาไม รวมถึงยางพารา ซึ่งจะยังเป็นปัจจัยกดดันกำลังซื้อของครัวเรือนภาคเกษตร
Social Links